ตลาดหลักทรัพย์ควงก.ล.ต.เดินหน้าเทรดกองทุนETF ตั้งเป้าปี 53 เปิดขายอีก 4 กองทุน หลังพบอัตราการขยายตัวในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง ขณะที่ตลาดไทยยังมีของเล่นอยู่น้อย "ภัทรียา"คาด ครึ่งปีแรกจัดทำได้ก่อน 1 กอง หลังมีบลจ.ให้ความสนใจแล้ว 2-3 ราย ระบุเป็นกองเซคเตอร์ที่เน้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ด้าน"ประเวช"เล็งนำกองต่างประเทศเข้าเทรดในไทย เหตุสภาพคล่องสูง และปัจจุบันได้รับความนิยมลงทุนผ่านกองทุนรวมกันมาก
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาตลาดและหลักทรัพย์เพื่อให้ตรงกับความต้องการของนักลงทุน เป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งในส่วนของกองทุน ETF นับเป็นหลักทรัพย์หนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน
โดยปัจจุบันมีกองทุนประเภทนี้อยู่แล้ว 3 กองทุน มูลค่ารวม 3 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.01% ของ ETF ทั่วโลก ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนกองทุนETF ทั่วโลกประมาณ 3,750 กองทุน มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาท
สำหรับในปีนี้(2553) ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่า จะได้เห็นการออกกองทุน ETF อีกจำนวน 4 กองทุนรวมเป็น 7 กองทุน โดยภายในครึ่งปีแรก จะเป็นกองทุน ETF ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ส่วนกองทุนที่เหลือส่วนหนึ่งน่าจะเป็น กองทุนเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำ น้ำมัน และสินค้าเกษตร ขณะที่กองทุนที่ลงทุนในดัชนีของประเทศจีนและอินเดียก็เป็นที่น่าสนใจเช่นกัน
"ในปีที่ผ่านมากองทุน ETF เติบโตสูงถึง 45% เมื่อเทียบปี 51และนับเป็นตราสารที่เติบโตเร็วมาก หากดูขนาดของมันทั่วโลกจะเท่ากับ 4 เท่าของจีดีพีประเทศไทย ส่วนที่มองกันว่าหากมีการจัดทำกองทุนETF กลุ่มธนาคารพาณิชย์แล้วจะได้รับความสนใจน้อยนั้น แม้จะดูจาก ETF พลังงานที่ไซด์ไม่ใหญ่นักประมาณ 300 ล้านบาท แต่ก็เชื่อว่าในส่วนของแบงก์น่าจะพอได้เพราะต้องมีการสำรวจออกมาก่อน ซึ่งขณะนี้มีบลจ. 2-3 รายเข้ามาคุยแล้วเหมือนกัน"นางภัทรียากล่าว
นอกจากนี้ นางภัทรียา ยังกล่าวต่อว่า ในส่วนของการอำนวยความสะดวกในการจัดทำกองทุนประเภทนี้ ทางตลาดฯ ได้มีการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ พร้อมทั้งรวมลงทุนในกองทุนประเภทนี้ด้วย ซึ่งขณะนี้ก็มียอดการลงทนุรวมแล้วกว่า 280 ล้านบาทในทั้ง 3 กองทุน
ด้านนายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า การรวมกันพัฒนากองทุน ETF นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยพัฒนาตลาดทุนไทย โดยจากการรับฟังความคิดเห็นรวมกันมองว่า การจัดทำกองทุนประเภทนี้จะรองรับตามสภาพเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ
ทั้งนี้จะคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงด้วยกันประมาณ 6 ประการ เช่น 1.ปัญหาด้านอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม 2.การอายุของประชากรที่เพิ่มขึ้น 3.การรวมตัวและเชื่อมโยทางเศรษฐกิจ 4.ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่จะมีการเปลี่ยนแปลงมาอยู่ในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น 5.การแข่งขันระหว่างตลาดทุนข้ามประเทศ 6.การเปลี่ยนแปลงด้านการเงินโลก
"ตอนนี้เศรษฐกิจขึ้นการบริโภคจะเพิ่มขึ้นอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ หลังจากนี้ก็จะมีความต้องการของนักลงทุนเข้ามา ส่วนประชากรที่อายุมากขึ้นก็ต้องหาแหล่งออมเงิน ซึ่งการประกันเงินฝากจะเป็นตัวเร่งให้กองทุนรวมขยายตัวและนี้ก็เป็นอีกอย่างของความต้องการด้านการลงทุน"นายประเวชกล่าว
นายประเวช กล่าวต่อว่า กลยุทธ์ของของสำนักงาน ก.ล.ต.หลังจากนี้จะเน้นใน 4 ด้านด้วยกัน คือ การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ขจัดการผูกขาด ผลักดันสินค้าให้ตรงตามความต้องการ และปรับหลักเกณฑ์ให้เกื้อหนุนกับการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ ในส่วนของการการกองทุน ETF คาดว่าในอนาคตน่าจะมีการนำ กองทุนในต่างประเทศที่มีการจัดทำอยู่แล้วมาขายภายในตลาดฯ และสามารถนำกองทุน ETF ไปเสนอขายในต่างประเทศได้
"ตอนนี้ถ้ามองแล้วการนำ ETF มาขายในประเทศมันมีอยู่แต่เป็นการทำผ่านกองทุน แต่ถ้าเอามาเทรดในตลาดได้มันจะดีกว่าในด้านสภาพคล่องที่ซื้อขายตลอดวัน ซึ่งมันจะต้องมีกลไกกำกับดูแล ส่วนกองETF ที่จะจัดทำก็น่าจะมีหลายประเภท ทั้งในส่วนของเซคเตอร์ฟันด์ อย่างโครงสร้างพื้นฐาน อิสลามมิกซ์ฟันด์ ที่ต้องการให้ประเทศตะวันออกกลางเข้าถึงแหล่งเงินทุน กองทุนเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย และกองทุนที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนก็น่าสนใจเช่นกัน อย่างไรก็ตามเบื้องต้นอยากให้เป็นกองทุนที่เป็นพาสซีพมากกว่าแอคทีฟก่อน"นายประเวชกล่าว