xs
xsm
sm
md
lg

หน้าที่ผู้จัดการกองทุน: ตอบโจทย์นักลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนวโน้มหนึ่งของอุตสาหกรรมการบริหารจัดการเงินลงทุนที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพรวมของธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รวมถึงช่วยให้ผู้เล่นในธุรกิจสามารถหลีกเลี่ยงการตัดราคากันเอง ได้แก่ ความต้องการของนักลงทุนในแง่ของเป้าหมายการลงทุนที่เปลี่ยนจากการบริหารเพื่อผลตอบแทนที่มากที่สุดเป็นการบริหารเพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนเฉพาะอย่างของนักลงทุนแต่ละคนควบคู่ไปกับการจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

Relative Performance หรืออีกนัยหนึ่งคือ การวัดอัตราผลตอบแทนการลงทุนในเชิงเปรียบเทียบกับดัชนีอ้างอิงมาตรฐาน (Benchmark) เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยมาก่อนในการนำมาใช้เพื่อวัดความสามารถในการให้มูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ของผู้จัดการกองทุนแต่ละแห่งแก่นักลงทุน ตัวอย่างเช่น

- ในปี 2009 กองทุนรวมตราสารหนี้ ของบลจ. ABC ให้ผลตอบแทน 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีซึ่งดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ย 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ 0.75 เปอร์เซ็นต์

- ในปี 2009 กองทุนรวมหุ้นของบลจ. DEF ให้ผลตอบแทน 61 เปอร์เซ็นต์ต่อปีซึ่งดีกว่าดัชนีอ้างอิง SET Index ที่เพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์

- ในปี 2008 กองทุนรวมหุ้นของบลจ. GHI ให้ผลตอบแทนขาดทุน 45 เปอร์เซ็นต์ต่อปีซึ่งดีกว่าดัชนีอ้างอิง SET Index ที่ขาดทุน 50 เปอร์เซ็นต์ ? นักลงทุนหลายๆคนอาจจะไม่คิดว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าจากผู้จัดการกองทุนเลย !!!

นอกจากนี้ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนลักษณะของผลิตภัณฑ์บ้างเพื่อสร้างความแตกต่างในเชิงของสไตล์การบริหารการลงทุน (Investing Style Orientation) แต่ในที่สุดการวัดผลการดำเนินการก็เพื่อการเปรียบเทียบกับค่าอ้างอิงมาตรฐานอยู่ดี อาทิเช่น กองทุนรวมหุ้นอาจจะเน้นการลงทุนในหุ้นใหญ่ๆ 5-10 ตัว หรือเน้นการลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก กองทุนรวมตราสารหนี้อาจจะเน้นการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ “A-“ เป็นต้น

ทั้ง Relative Performance และ Investing Style Orientation ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดอย่างได้ผลเพื่อการสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆสำหรับหลายๆ บลจ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปี 2008 ซึ่งทำให้สินทรัพย์เสี่ยงหลายๆตัวเช่น ตราสารทุนทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนของนักลงทุน (Investor’s Net Worth) ที่สะสมมาหลายๆปีหดหายลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี ทำให้ความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าการลงทุนในตราสารทุนจะเพิ่มความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนในระยะยาวถูกท้าทายอย่างมากว่าไม่น่าจะจริงอีกต่อไป ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อมาในเชิงของความคาดหวังของนักลงทุน จึงได้แก่

- การบริหารเงินลงทุนของผู้จัดการกองทุนจะต้องตอบโจทย์ทั้งผลตอบแทนที่ยอมรับได้ภายใต้ความเสี่ยงที่มีการควบคุมทั้งในเชิงความผันผวนและผลขาดทุน

- การบริหารจัดการเงินลงทุนไม่ให้เกิดการขาดทุนเป็นจุดประสงค์การลงทุนที่มีความสำคัญมากกว่าการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับดัชนีอ้างอิงมาตรฐานหรืออีกนัยหนึ่งคือ Relative Performance ไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนคาดหวังเป็นอันดับแรกอีกต่อไป นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆในไทย (ซึ่งเกิดขึ้นในต่างประเทศมานานแล้ว) ยังทำให้เกิดทางเลือกการลงทุนใหม่ๆที่นักลงทุนสามารถจะลงทุนได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพากองทุนรวม (ที่โดยส่วนใหญ่อ้างอิงกับ Benchmark) อีกต่อไป อย่างเช่น

Exchanged-Traded Fund (ETF) แทนที่การลงทุนในกองทุนรวมที่อิงกับดัชนีอ้างอิง ปัจจุบันที่เห็นโดดเด่นก็มีอยู่ 2 ETF คือ TDEX (อิงกับ SET50 Index) และ ENGY (อิงกับดัชนีกลุ่มพลังงานใน SET Index)

SET50 Index Futures แทนที่การลงทุนในกองทุนรวม SET50 Index
 
Gold Futures แทนที่การลงทุนในทองคำจริงๆที่อาจจะยุ่งยากในแง่การเก็บรักษาและความปลอดภัย

จากแนวโน้มที่กำลังก่อตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วและการแข่งขันที่เกิดขึ้นในเชิงผลิตภัณฑ์ที่เป็นคู่แข่ง (Product Substitution) ผู้จัดการกองทุนที่น่าจะอยู่รอดและประสบความสำเร็จในอนาคตจึงได้แก่ บลจ. ที่สามารถสร้างความแตกต่างออกจากผู้เล่นรายอื่นๆในอุตสาหกรรมในเชิงรูปแบบการบริหารเงินลงทุนที่ออกจากกรอบการลงทุนแบบเดิมๆ (ที่อิงกับ Benchmark) พร้อมๆกับสามารถตอบโจทย์ในเชิงความต้องการของผู้ลงทุนในแง่ของจุดประสงค์การลงทุนที่แตกต่างจากแบบเดิมๆที่เน้นไปที่การบริหารเงินลงทุนให้เกิดผลกำไรสูงสุด

ตัวอย่างจุดประสงค์การลงทุนที่ไม่ใช่ Relative Performance

1.การลงทุนที่มีการป้องกันเงินต้นเต็มจำนวนหรือบางส่วน (Fully/Partially Principal Protected Fund): ตอบโจทย์ผู้ลงทุนในแง่ของการขาดทุนสูงสุดที่ยอมรับได้เป็นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงแต่มีการควบคุมความเสี่ยงในเรื่องของการขาดทุนในเงินต้นไว้ด้วย การป้องกันเงินต้นอาจจะเป็น 100 เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่า เท่าที่เห็นจะเป็นการบริหารที่มีการกำหนดจำนวนเงินที่ขาดทุนได้ในสินทรัพย์เสี่ยงไว้ล่วงหน้าอย่างเคร่งครัด หรืออยู่ในรูปแแบบของการใช้ตราสารอนุพันธ์ในการลงทุน

2.การลงทุนที่สามารถกำหนดอัตราผลตอบแทนล่วงหน้า (Target Fund): ตอบโจทย์ผู้ลงทุนในแง่ของการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าแทนที่เงินฝากธนาคาร

นักลงทุนอาจจะค่อนข้างคุ้นเคยกับกองทุนประเภทนี้ อีกทั้ง บลจ. ต่างๆก็ขยันออกกองทุนประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น กองทุนรวมปิดตราสารหนี้ภายในประเทศระยะสั้นอายุ 6-12 เดือน หรือกองทุนรวมปิดตราสารหนี้ต่างประเทศ เป็นต้น

3.การลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยง (Risk-Hedged/Risk-Indexed Investment): ตอบโจทย์ผู้ลงทุนในแง่การป้องกันความเสี่ยงเฉพาะตัวของนักลงทุนแต่ละคน ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์การทำกำไร
ผู้ลงทุนอาจจะต้องการลงทุนในกองทุนที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่อิงกับอัตราเงินเฟ้อเพื่อ Hedge กับการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ หรืออาจต้องการลงทุนในกองทุนที่อิงกับราคาน้ำมันเพื่อ Hedge กับธุรกิจอื่นของนักลงทุนนั้นๆที่มีภาระหรือค่าใช้จ่ายเป็นน้ำมัน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น