ตลาดตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจกันอย่างมากในปี 2552 ที่ผ่านมาโดยเห็นได้จากเม็ดเงินที่ลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศเกาหลีใต้จำนวนมาก เช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน...ในปีเสือนี้ทิศทางตราสารหนี้ประเทศเกิดใหม่จะเป็นอย่างไร จะดีเท่าในปี 2552 ที่ผ่านมาหรือไม่....บลจ.อเบอร์ดีน ได้สรุปภาวะในปีที่ผ่านมาและแนวโน้มของปีนี้ให้ทราบกันครับ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน จำกัด รายงานภาวะตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในช่วงปลายปี 2552 ที่ผ่านมา โดยดัชนีตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ปิดสิ้นเดือนกันยายนปรับตัวขึ้นในอัตราที่อ่อนลงจากเดือนที่ผ่านมา โดยมีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณพันธบัตรออกใหม่และการลดน้ำหนักการลงทุนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม กลุ่มทรัพย์สินนี้ ยังสามารถปรับมูลค่าขึ้นได้เป็นเดือนที่แปดติดต่อกัน โดยดัชนีราคาพันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ออกในสกุลเงินหลักของโลก ปรับขึ้น 0.15% ในเดือนตุลาคม (จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ปรับขึ้นรวม 27.94%) ขณะที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรกลุ่มตลาดเกิดใหม่ปรับลดลง 0.03% เหลือส่วนต่างที่ยังมากกว่าของพันธบัตรสหรัฐฯ 3.36% ตลาดพันธบัตรอาร์เจนตินาปรับขึ้น 6.49% และเป็นหนึ่งในตลาดที่ปรับขึ้นมากที่สุดของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้อีกครั้งที่จะมีการเปิดโครงการแลกเปลี่ยนหนี้ที่เคยเริ่มขึ้นในปี 2548 อีกครั้ง ดัชนีพันธบัตรของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในสกุลเงินท้องถิ่น (GBI-EM Global Diversified Index) ปรับตัวขึ้น 0.96% ในเดือนตุลาคม (จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ปรับขึ้นรวม 19.76%) โดยปรับขึ้นสูงกว่าดัชนีพันธบัตรของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในสกุลเงินหลักของโลก ส่วนตลาดพันธบัตรของรัสเซีย เม็กซิโก บราซิล และโคลัมเบีย เป็นตลาดที่ปรับตัวขึ้นมากกว่าเกณฑ์ดัชนีได้อย่างน่าสนใจ
ทางด้านประเทศบราซิลนั้น ในการควบคุมปัจจัยที่จะมีผลให้เงินเรียลของบราซิลแข็งค่าขึ้น บราซิลจะนำมาตรการภาษี IOF 2% มาใช้ เพื่อเก็บภาษีจากเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนในบราซิล ที่ผ่านมาเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ภาษี IOF ถูกยกเลิกไปเนื่องจากความต้องการเงินเรียลของนักลงทุนต่างประเทศหยุดชะงักลง ซึ่งปฏิกิริยาของตลาดการลงทุนในบราซิลในระยะแรกปรับตัวลดลงอย่างไม่น่าแปลกใจ แต่มูลค่าทรัพย์สินของบราซิลก็สามารถฟื้นตัวขึ้นได้ หลังผ่านช่วงการเทขายในระยะสั้นๆไป
ทาง อเบอร์ดีน มองว่าการนำมาตรการภาษีกลับมาใช้ใหม่จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเงินทุนจากต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในเดือนตุลาคม ซึ่งยืนยันได้ดีถึงอุปสงค์ในทรัพย์สินของบราซิล โดยตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของบราซิลมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสุทธิสูงถึง 1.46 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ซึ่งมีเงินทุนไหลเข้าเพียง 1.4 พันล้านเรียล ยอดเงินทุนไหลเข้าบราซิลสุทธิในเดือนตุลาคมนับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 เป็นต้นมา ตลาดการเงินมีภาวะเกินดุลมากถึง 1.31 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (มากที่สุดเป็นประวัติการณ์) โดยเงินทุนไหลเข้าพุ่งขึ้น 23% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเงินทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นทุนออกใหม่ของบริษัทย่อยของธนาคารต่างชาติ ในช่วงสิบเดือนแรกของปี 2552 ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รายงานตัวเลขเงินทุนไหลเข้าสุทธิสูงถึง 2.28 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับ 1.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯในเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว และธนาคารกลางของบราซิลยังเข้าซื้อเงินเหรียญสหรัฐฯในจำนวน 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศในราคาปัจจุบัน ซึ่งในขณะนี้นับเป็นคำสั่งซื้อที่สูงที่สุดของปีนี้ และที่ผ่านมาในปีนี้ ธนาคารกลางได้เข้าซื้อเงินเหรียญสหรัฐฯไปแล้วมากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในขณะที่พันธบัตรเวเนซูเอลาปรับตัวลดลง 4.28% โดยปรับตัวต่ำที่สุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเดือนตุลาคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับปริมาณของพันธบัตรออกใหม่ ซึ่งได้เพิ่มขึ้นจาก 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ พันธบัตรกลุ่มที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2562 และปี 2567 มีเป้าหมายที่จะขายให้นักลงทุนท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างของอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่เป็นทางการและที่เป็นอัตราของตลาด และขายในราคาที่มีส่วนลดลงจากราคาพันธบัตรเวเนซูเอลาที่มีขายในตลาดสากลทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ดัชนีพันธบัตรเวเนซูเอลาปรับตัวลดลง นอกจากนี้ พีดีวีเอสเอ รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตน้ำมัน ได้ยืนยันถึงแผนการที่จะระดมทุนให้ได้ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการออกหุ้นกู้ใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งจะกดดันตลาดตราสารหนี้ของเวเนซูเอลาให้ลดลงอีก จนกว่าปริมาณตราสารหนี้ออกใหม่จะขายหมด
ด้านธนาคารกลางของตุรกียังคงเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันลงอีก 0.50% มาอยู่ที่ 6.75% ในขณะที่ยังคงนโยบายที่ให้ความสำคัญต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับรายงานภาวะเงินเฟ้อฉบับล่าสุดของธนาคารกลางที่ยังคงไว้ซึ่งมุมมองในแบบเดียวกัน พร้อมทั้งได้ชี้แจงว่าจะยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในระยะสั้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อ ณ สิ้นปี 2553 จาก 5.9% เป็น 5.5% และปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อของกลางปี 2554 ลงเหลือ 4.7% แต่ตัวเลขประเมินของราคาโภคภัณฑ์ได้รับการปรับขึ้น โดยประเมินราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2553 ขึ้นไปอยู่ที่ 75 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และในปี 2554 ขึ้นไปอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้ การประเมินราคาน้ำมันให้เพิ่มขึ้น ถูกชดเชยผลกระทบด้วยการประมาณการราคาอาหารให้ลดลง
ทั้งนี้ แม้ว่าวงจรอัตราดอกเบี้ยขาลงในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ได้ดำเนินมาจนจะยุติลง แต่ฮังการีเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังมีช่องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก โดยธนาคารกลางของฮังการีปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50% เหลืออยู่ที่ 7% ในการประชุมของธนาคารกลางเมื่อเดือนตุลาคม แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือธนาคารกลางได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 1% แต่เสถียรภาพของค่าเงินฟอรินท์ของฮังการีและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำก็อาจจะเปิดช่องให้ธนาคารกลางของฮังการีตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกมากในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการลงทุนในพันธบัตรฮังการีในสกุลเงินท้องถิ่นให้มากขึ้น
ส่วนประเทศจีนนั้นเศรษฐกิจของจีนยังคงสนับสนุนแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนให้ดีขึ้น แม้การส่งออกในเดือนกันยายนจะลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งน้อยกว่าที่เคยลดลง 23% ในเดือนสิงหาคม และดีกว่าที่คาดการณ์ไว้โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ แต่หมายถึงการขยายตัว 6.3% เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุด หลังจากการเริ่มต้นฟื้นตัวในเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ส่วนการนำเข้าก็เป็นที่น่าแปลกใจเช่นกัน เนื่องจากปรับลดช้าลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากที่เคยปรับลดลง 17% ในเดือนสิงหาคม มาเป็นปรับลดลง 3% ในเดือนกันยายน ความกังวลเกี่ยวกับการปล่อยกู้ของธนาคารที่ลดลงปรากฏว่าไม่ได้ส่งผลกระทบที่เป็นประเด็น โดยมียอดการปล่อยกู้รายใหม่อยู่ที่ 5.17 แสนล้านหยวน ซึ่งมากกว่าที่ประเมินไว้ในตอนแรก และสูงกว่ายอดเฉลี่ยต่อเดือนของสองเดือนที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 3.90 แสนล้านหยวนต่อเดือน
สำหรับแนวโน้มในปี 2553 อเบอร์ดีน ยังมองว่ามูลค่าพันธบัตรของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังสามารถปรับตัวขึ้นอีก เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานและการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก และเมื่อพิจารณาแนวโน้มของปี 2553 แล้วดัชนีตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่น่าจะมีทิศทางเป็นบวกอีกครั้ง