บลจ.นครหลวงไทย มั่นใจวิกฤตดูไบไม่ส่งผลกระทบต่อเกาหลีใต้ พร้อมส่งกองพันธบัตรกิมจิ 9 เดือนชูผลตอบเเทน 1.70% ต่อปี ขณะที่ บลจ.กรุงไทย ส่ง "กรุงไทยตราสารหนี้เอฟไอเอฟ23เดือน3" ล๊อกเงินยาว 23 เดือนให้ยิลด์ 2.65% ต่อปี เปิดขายIPO เเล้วตั้งเเต่วันนี้ถึง 8 ธค.52 นี้
นายไตรพิชิต วัฒนวิจิตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นครหลวงไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากปัญหาวิกฤติหนี้สินของดูไบมีผลกระทบด้านความเสี่ยงของประเทศเกาหลีใต้มีไม่มากนัก เพราะไม่ได้ลงทุนโดยตรงในรัฐดูไบแต่จะมีผลต่ออัตราผลตอบแทนในการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่มีผลตอบแทนลดลง และมีความผันผวนต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมเปิดเสนอขายกองทุนเปิดนครหลวงไทย ตราสารหนี้ต่าง ประเทศ 9 เดือน3/09 (NKT FFI9M3/09) ที่มีอายุประมาณ 9 เดือน มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท ด้วยอัตราผลตอบแทนประมาณ 1.70% ต่อปี
โดยกองทุน NKT FFI9M3/09 ยังเป็นกองทุนที่ยังมีความน่าสนใจในการลงทุน และมีความเสี่ยงต่ำ โดยลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษีจากผลตอบแทนที่ได้รับ โดยบริษัทจะทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดอายุกองทุน
เน้นลงทุนใน Korea Monetary Stabilization Bond (MSB) และ Korea Treasury Bond (KTB) ซึ่งเป็นตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลและ/หรือสถาบันการเงินประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารระยะสั้น F-1 จากสถาบัน Fitch Rating ลงทุนในสัดส่วนประมาณ 100% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
ส่วนแนวโน้มอัตราผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดพันธบัตรเกาหลีใต้ยังคงมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการณ์หนี้สินของรัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่อภาวะการลงทุนในตลาดพันธบัตรเกาหลีใต้ โดยทางการเกาหลีใต้ กล่าวว่า ภาคการเงินของธนาคารเอกชนที่ได้ลงทุนโดยตรงในดูไบ มีจำนวนเล็กน้อย และภาคการก่อสร้างที่เป็นขนาดใหญ่ก็ไม่มี และไม่มีโครงการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ลงทุนโดยตรงในรัฐดูไบ
ดังนั้น วิกฤติหนี้สินสภาพคล่องในกรณีของบริษัท Dubai World ในการขอเลื่อนการชำระหนี้มีเพียงเล็กน้อยและส่งผลกระทบเฉพาะภาคการเงินเท่านั้น โดยคาดว่าวิกฤติดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบเป็นวิกฤติการณ์ในวงกว้างต่อระบบการเงินโลก
นายไตรพิชิต กล่าวว่า จากการสำรวจธนาคารที่ได้มีการปล่อยกู้หรือเข้าไปลงทุนโดยตรงอาจมีผลต่อความน่าเชื่อถือของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากจะเป็นธนาคารในกลุ่มยุโรป เช่น ธนาคารของประเทศอังกฤษ, ฝรั่งเศส และกลุ่มของธนาคารญี่ปุ่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤติหนี้สินของรัฐดูไบ
นอกจากมีผลโดยตรงกับธนาคารต่างๆ ที่เข้าไปลงทุนแล้ว ยังมีผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลกไม่เว้นแต่ประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้ผลกระทบต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผลกระทบทางด้าน Credit มีผลกระทบบ้างเล็กน้อย ต้นทุนการกู้ยืมเงินระยะยาว (5 ปี) ของตลาดการเงินของเกาหลีใต้ (Credit Spread) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.10-.15 % แสดงถึงค่าความเสี่ยงที่ปรับเพิ่มขึ้น จากความมั่นใจที่ลดลงของนักลงทุนต่างประเทศหลังวิกฤติการณ์หนี้สินของรัฐดูไบ อาจจะมีผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อประเทศที่เข้าไปลงทุนในรัฐดูไบ
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนความเสี่ยงดังกล่าวของประเทศในตลาดเกิดใหม่ เช่น ประเทศไทย, มาเลเซีย หรือ เกาหลีใต้ เป็นต้นได้ปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะเป็นในช่วงสั้นๆ ผลกระทบทางด้านอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรสกุลเงินวอนของรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารกลางของเกาหลีใต้ที่มีระยะต่ำกว่า 2 ปี ลงมามีการปรับตัวลดลงประมาณ 0.10-0.15%
เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศวิตกกังวลอีกครั้งหลังจากที่เคยเกิดปัญหาวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพของสหรัฐฯ กลางปีที่แล้ว กระตุ้นให้เงินทุนไหลกลับไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดี เช่น เกาหลีใต้รวมทั้งประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังส่งให้ต้นทุนการกู้ยืมสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ สูงขึ้นในตลาดเงิน เนื่องจากตลาดเงินเริ่มวิตกเรื่องปัญหาสภาพคล่องสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ หลังจากเกิดวิกฤติ Subprime ในสหรัฐฯมีผลต่อต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง ระหว่างสกุลเงินวอนต่อเงินเหรียญสหรัฐฯ (FX Hedging Cost USD/KRW) และสกุลเงินบาทต่อเงินเหรียญสหรัฐฯ (FX Hedging Cost USD/THB ) มีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนในการกู้ยืมสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านตลาด FX Swap ในประเทศไทยสูงขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ค่าพรีเมียม (FX Premium ) ส่วนเพิ่มจากการทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุล USD/THB ลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากการประกาศเลื่อนการชำระหนี้ของรัฐดูไบจากที่เคยได้รับ 0.45-0.60%ต่อปี เป็น 0.15-0.20%ต่อปี
ทางด้านนายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้เอฟไอเอฟ23เดือน3 (KTFF23M3 ) ระหว่างวันที่ 2 - 8 ธันวาคม 2552 มูลค่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยกองทุนนี้จะลงทุนในพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้(Monetary Stabilization Bond ) ทั้ง 100% อายุโครงการ 23 เดือน คาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 2.65% ต่อปี และกองทุนจะจ่ายคืนผลตอบแทนอัตโนมัติทุกๆ3 เดือน นอกจากนี้กองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวนอีกด้วย