xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจไทยปีเสือส่อแววรุ่ง อานิสงส์ไทยเข้มแข็ง-ทั่วโลกฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปี 2552 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่ค่อยแจ่มใสนักสำหรับการภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งยังรวมไปถึงของทั้งโลกด้วย หากเปรีบเทียบกับกราฟแล้วคงจะอยู่ในช่วงกำลังตกต่ำสุดขีด และทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่าในปี 2553 หรือปีเสือนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั่วโลกน่าจะกลับมาอยู่ในแดนบวกกันเสียที ส่วนจะเป็นไปได้แค่ไหนต้องลองมาอ่านบทวิเคราะห์กัน

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2553 โดยคาดว่ามีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในตลอดทั้งปี แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2553 และยังคงคาดว่าจะมีการปรับตัวเป็นบวกได้อย่างต่อเนื่องจากในช่วงปลายปี 2552 โดยที่ในภาพรวมยังคงมองว่าจะได้รับปัจจัยบวกสำคัญจากจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตามโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ อย่างในด้านของ โครงการรถไฟรางคู่ การก่อสร้างถนนปลอดฝุ่นทั่วประเทศ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วง 2H/53

นอกจากนั้น ยังประกอบไปกับแนวโน้มการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในด้านของประเทศคู่ค้าหลัก ในกลุ่ม G-3 อย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมองว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แนวโน้มภาคการส่งออกของไทยในปี 2553 จะสามารถที่จะมีการกลับมาขยายตัวเป็นบวก หลังจากที่มีการหดตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2552

ทั้งนี้ SCRI คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีโอกาสฟื้นกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยในเบื้องต้นแล้วคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยโดยเฉลี่ยในปี 2553 จะขยายตัวอยู่อยู่ในกรอบ 2.0 - 4.0% หรือที่ระดับโดยเฉลี่ยประมาณ 3.0% โดยที่มีจุดสูงสุดอยู่ในช่วงQ1/53 ที่คาดว่าตัวเลข GDP จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 4.5% yoy ก่อนที่แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีจะมีแนวโน้มลดอัตราเร่งในการปรับขยายตัวลง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะมีแนวโน้มปรับตัวเป็นบวกมากขึ้น แต่ในภาพรวมยังคงมองได้ว่าสถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจไทย ยังคงถือได้ว่ามีความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน ทั้งจากในด้านของผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งอาจจะเกิดการชะลอตัวเป็นวงกว้าง จากปัญหาความไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหาเรื่องมาบตาพุด ผลกระทบในด้านของภาคการส่งออก จากแนวโน้มการอ่อนค่าลงของค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน ยังรวมไปถึงปัจจัยลบจากในด้านของเสถียรภาพทางการเมือง ที่ยังคงมีความเปราะบาง ซึ่งโดยรวมแล้วส่งผลให้บริษัทยังคงเชื่อว่าจากปัจจัยลบหลายๆด้านในเบื้องต้น จึงยังคงมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทย อาจจะมีการขยายตัวลงน้อยกว่าที่ได้ประมาณการณ์ในกรอบล่างไว้ที่ 2.0%

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย. 2552 ในภาพรวมมีการปรับตัวเป็นบวกชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ในเดือนก่อนหน้ามีการชะลอลงเล็กน้อย โดยมีมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในช่วงเดือน พ.ย. 2552 ในภาพรวมถือได้ว่ามีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากในเดือนก่อนหน้า ตามปัจจัยบวกจากการขยายตัวของภาคอุปสงค์ในประเทศ โดยในด้านของภาคการบริโภค เริ่มมีทิศทางการกลับมาขยายตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน หลังจากที่มีการชะลอลงเล็กน้อยในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะทิศทางการกลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน เมื่อเทียบกับในปีก่อนหน้าที่ 4.0% yoy ของดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขยายตัวในระดับเดียวกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปลายปี 2551

ขณะที่ภาคการการลงทุน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ยังคงมีการขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม ได้ประเมินว่าในระยะยาวภาพรวมของการลงทุนภาคเอกชน ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงในหลายๆด้าน ซึ่งก็สะท้อนมาจากระดับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่กลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งในเดือนทีผ่านมา ทั้งในด้านของปัญหากรณีมาบตาพุด ปัญหาทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งในภาพรวมจึงมีโอกาสที่จะส่งผลให้ทิศทางการฟื้นตัวในช่วงถัดไปของภาคการลงทุนยังคงมีความเปราะบาง โดยนอกจากนั้นในด้านของตัวเลขในภาคการท่องเที่ยวรวมถึงอัตราการว่างงานยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ภาคการค้าระหว่างประเทศในเดือนที่ผ่านมาถือได้ว่าเริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง โดยในด้านของภาคการส่งออก เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลงเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ตามการหดตัวลงของสินค้าส่งออกประเภทที่ใช้เทคโนโลยีสูง อย่างในด้านของ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ฯลฯประกอบกับในภาคการนำเข้า ที่เริ่มมีสัญญาณของการขยายตัวเร่งขึ้น เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าประเภททุนเข้ามาในประเทศมากขึ้น ซึ่งในภาพรวมแล้วส่งผลให้ระดับดุลการค้าในเดือนที่ผ่านมา จึงเริ่มมีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับในเดือนก่อนหน้า

ส่วนเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย. 2552 ยังคงอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งในและต่างประเทศในเดือนที่ผ่านมา โดยรวมแล้วยังคงต้องถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง แม้ว่าระดับอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย. จะกลับมาปรับตัวเร่งขึ้นที่ 1.9% yoy แต่ในภาพรวมประเมินว่ายังคงมาจากปัจจัยทางด้านระดับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้าเท่านั้น ขณะที่ในด้านของอัตราการว่างงานก็ลดลงมาที่ 1.1% ต่ำที่สุดในรอบ 13 เดือน รวมไปถึงระดับดุลการการชำระเงินที่ยังคงมีการเกินดุลในระดับสูงต่อเนื่องที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงิน ยังคงเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยภาพรวมในตลาดการเงินในเดือน พ.ย. 2552 ที่ผ่านมา ระดับสภาพคล่องในระบบยังคงต้องถือได้ว่ายังคงรองรับต่อการขยายตัวของปริมาณสินเชื่อในช่วงถัดไป โดยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน (L-D Ratio) เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับเพียง 85.62 จาก 85.42 ในเดือนก่อนหน้า โดยถ้ามองถึงในด้านระดับเงินฝากและสินเชื่อคงค้าง ต่างมีการปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยสินเชื่อภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 1.8% yoy ตามการขยายตัวของสินเชื่อในภาคครัวเรือน ในขณะที่ในด้านของเงินฝากคงค้างขยายตัวในระดับสูงที่ 7.0% yoy เนื่องจากสถาบันการเงินในหลายๆแห่ง ยังคงมีการระดมเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อทั้งจากภาครัฐฯ และเอกชนอย่างต่อเนื่อง

SCRI ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP Growth) ในช่วง Q4/52 จะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส โดยคาดว่าเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่เหลือของปีจะมีทิศทางการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ในประเทศ หลังจากที่มีการหดตัวลงในอัตราเร่งมาโดยตลอดในช่วง Q4/51 ถึง Q1/52 โดยเฉพาะในด้านของภาคการบริโภค ที่คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากระดับความเชื่อมั่นของประชาชน ที่เริ่มมีการปรับตัวฟื้นตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์ของภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีการค่อยๆปรับฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุด

ประกอบกับการขยายตัวของภาคการผลิต ที่ส่งผลบวกให้ตัวเลขอัตราการว่างงานของไทย มีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วง Q3/52 ซึ่งส่งผลทำให้ในภาพรวม จึงประเมินว่าระดับการใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศของไทยในช่วง Q4/52 มีแนวโน้มที่จะเริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้นกว่าช่วง 1H/52 อย่างชัดเจน

นอกจากนั้น สัญญาณของภาพรวมเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ยังคงถือได้ว่ามีแนวโน้มในการปรับตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านของภาครัฐฯที่เริ่มมีเม็ดเงินจากโครงการ ไทยเข้มแข็ง ไหลเข้าสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ช่วง Q3/52 - Q4/52 ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นตัวเร่งกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะในโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับแผนการลงทุนของทางภาครัฐฯอย่างในภาคการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดว่าจะมีทิศทางชองการปรับฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โดยสรุปแล้ว SCRI ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2552 หลังจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจทั้งจากในและนอกประเทศ ยังคงมีการขยายตัวจากในช่วง H1/52 โดยที่แม้ว่าในระยะสั้นภาพรวมของตัวเลขเศรษฐกิจในหลายๆด้าน จะเริ่มมีสัญญาณของการชะลอการปรับฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ดี ยังคงมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในช่วง Q4/52 ยังคงจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส เนื่องจากปัจจัยทางด้านระดับฐานที่ต่ำในปี 2551 โดยในเบื้องต้นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วง Q4/52 มีโอกาสที่จะขยายตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 2.3% yoy ขณะที่โดยเฉลี่ยในปี 2552 ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ที่ระดับ -3.1%
กำลังโหลดความคิดเห็น