xs
xsm
sm
md
lg

จับตาการลงทุนปีเสือ กับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการลงทุนของปีเสือ 2553 กันแล้ว...ต้องบอกว่าในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกเจอปัญหากันไปอย่างสาหัสทีเดียว ก่อนที่จะมาเริ่มดีขึ้นกันในช่วงท้ายๆปี

สำหรับในปีนี้นักลงทุนหลายๆ ท่าน คงเริ่มที่จะวางแผนการลงทุนกันไว้บ้างแล้ว และเชื่อว่าคงติดตามทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนกันอย่างใกล้ชิด..วันนี้ เราไปติดตามภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในปีวัวที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มของปีเสือกันว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้...
 
 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน จำกัด  รายงาน ภาวะเศรษฐกิจของการลงทุนไทยในปีที่ผ่านมารวมถึงแนวโน้มของปี 2553 ว่า สำหรับภาพรวมของตลาดทุนไทย เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในไตรมาสสามปรับลดลงในอัตรา 2.8% ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งนับเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยลดลงในไตรมาสหนึ่งและไตรมาสสองในอัตรา  7.1% และ 4.9% ตามลำดับ  ส่วนการส่งออกซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทยนั้น

 ในเดือนพฤศจิกายนมีการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือนในอัตรา 17.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักๆทั้งหมดเพิ่มสูงขึ้น 

ขณะที่การนำเข้าปรับตัวลดลงเพียง 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่าน  ซึ่งถือว่าดีกว่าเดือนก่อนหน้าที่ลดลงถึง 17.5%  โดยมีแรงหนุนจากอุปสงค์ของสินค้าคงทนที่สูงขึ้น 
 
ในขณะเดียวกันดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งอยู่ในระดับต่ำมีส่วนช่วยเอื้อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำที่สุดในรอบห้าปีต่อไปที่ 1.25%
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จนกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น 

 นอกจากนี้ การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่จะดีขึ้นอีกด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะลดลง 3.5% ในปี 2552 แต่จะขยายตัวขึ้น 3.3% - 5.3% ในปี 2553 โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกและการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ

โดยเฉพาะที่มาจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสามปีด้วยงบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทของรัฐบาล  ที่จะลงไปในโครงการด้านการขนส่ง โลจิสติคส์ การสาธารณสุข และการศึกษา 
 
 รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำได้บริหารประเทศมาจนถึงขณะนี้ครบหนึ่งปีแล้ว ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยมีเสถียรภาพกว่าเดิม  แต่การแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองยังคงมีอยู่และประเด็นทางการเมืองก็ยังคงเป็นข่าวใหญ่อยู่ต่อไป

ซึ่งรวมถึงข่าวการข่มขู่ที่จะก่อการประท้วงรัฐบาลโดยกลุ่มผู้สนับสนุนใน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และข่าวการแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ให้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตึงเครียด 
 
ในขณะเดียวกัน มีความพยายามที่จะสร้างความสมานฉันท์ในชาติขึ้น โดยคณะผู้ประสานงานทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ตกลงกันเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในหกมาตรา เพื่อที่จะปรับปรุงกติกาทางการเมืองของประเทศไทย โดยให้แยกยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในแต่ละประเด็น เพื่อส่งต่อให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาต่อไป  ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะรวมการจัดทำประชามติด้วย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานถึงเก้าเดือน หลังจากนั้นจึงสามารถประกาศให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั่วประเทศ
 
  แนวโน้มตราสารทุนไทย ปี 2553

 ในปี 2552 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพุ่งขึ้นไปมากกว่า 60% หลังจากที่ร่วงลดลงมากเกือบ 48% ในปี 2551 ความเชื่อมั่นในทิศทางเศรษฐกิจของไทยมีปัจจัยหนุนมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 อีกทั้งการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบบ้างจากความกังวลของตลาดเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังทรงประทับอยู่ในโรงพยาบาล
 
ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทต่างๆในไตรมาสสามยังคงเป็นไปตามคาดการณ์ คือมีทั้งปรับตัวดีขึ้นและแย่ลง อเบอร์ดีนยังมีความเชื่อมั่นหลังพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยกำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่องไปจนถึงปี 2553 แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการเมืองภายในประเทศอยู่ก็ตาม
 
บริษัทต่างๆที่อเบอร์ดีนลงทุนยังมีปัจจัยพื้นฐานที่มั่นคง ท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ  อีกทั้งยังสามารถเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และการลดต้นทุนของบริษัทลง เพื่อคงไว้ซึ่งส่วนต่างกำไร  ด้านงบดุลมีความแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น อยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับงบกระแสเงินสดที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยการลดรายจ่ายด้านทุนและการจัดการทุนหมุนเวียนที่ดีขึ้นก็มีส่วนช่วยสนับสนุนด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าอัตราการจ่ายเงินปันผลจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป
 
ทั้งนี้ การที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นมากนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน มูลค่าตลาดของตลาดหุ้นไทยจึงไม่อยู่ในระดับต่ำอีกต่อไป โดยมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรที่คำนวณโดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะอยู่ที่ 11 เท่าในปี 2553 ถึงแม้จะมีปัจจัยหนุนจากอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยในรูปเงินปันผลที่น่าพอใจอยู่ที่ 4% 

 นอกจากนี้ จากการเข้าเยี่ยมพบผู้บริหารของบริษัทต่างๆ การคาดการณ์แนวโน้มรายได้ของบริษัทต่างๆ ในปี 2553 ยังไม่ค่อยมีความชัดเจนจากปัจจัยความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่สูง
 
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดหุ้นจะยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งการปรับฐานราคาในตลาดหุ้นเป็นระยะๆ  เนื่องจากผลกำไรจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้ทันกับราคาหุ้น

 อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ในการลงทุนของอเบอร์ดีนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ การขายหุ้นเพื่อทำกำไรในช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือการถือโอกาสในช่วงตลาดปรับฐานในระยะสั้นในการสะสมหุ้นที่มีคุณภาพดีในราคาต่ำ เพื่อรอโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวให้สอดคล้องกับพื้นฐานของหุ้นในระยะกลางถึงระยะยาวต่อไป
 
 ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2552
ด้านตลาดตราสารหนี้ไทยในปีที่ผ่านมานั้น ปัจจัยแวดล้อมของไทยมีพื้นฐานที่ดีต่อตลาดตราสารหนี้ในช่วงเริ่มปี 2552 แต่การส่งออกที่ชะลอตัวลงและดัชนีภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยได้เข้าข่ายตกต่ำลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค  การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากถึง 1.0% โดยธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาสสี่ของปี 2551 และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในช่วงต่อมาที่รวมกันถึง 1.5% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 2552  แต่ปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ไม่สามารถต้านทานแรงกดดันจากปัจจัยเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งผันผวนตลอดทั้งปี และมีอิทธิพลสูงต่อตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศของไทยได้ 
 
ทั้งนี้ การออกพันธบัตรใหม่ในปริมาณมหาศาลจากรัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลก ความผันผวนในขาลงของเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการฟื้นตัว และช่วงเวลาการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล  ทั้งหมดนี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของตราสารหนี้ผันผวนมากในหนึ่งปีที่ผ่านมา    จากช่วงแรกของปี  2552 ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ส่งผลในเชิงลบต่อตลาดตราสารหนี้ไทย  และผลักดันให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นในกรอบ 0.20% – 1.50% โดยมูลค่าตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวต่ำลงมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น แม้ว่านโยบายการเงินของทางการจะผ่อนคลายลงในช่วงครึ่งปีแรกแล้วก็ตาม  ซึ่งทำให้เส้นแสดงอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยปรับตัวชันมากขึ้น โดยดูส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีและ 2 ปีเป็นหลัก  ส่วนต่างนี้เพิ่มขึ้นจาก 0.70% มาเป็น 2.60% เนื่องจากสองสาเหตุ ได้แก่ ปริมาณการออกพันธบัตรใหม่ที่สูงมาก โดยปริมาณพันธบัตรระยะยาวมีมากกว่า จึงส่งผลกระทบในทางลบต่อมูลค่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ในขณะที่มูลค่าพันธบัตรอายุ 2 ปีได้รับแรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2552
 
ในส่วนของตลาดหุ้นกู้เอกชนซึ่งประสบกับภาวะซบเซาอย่างหนักในไตรมาสสี่ของปี 2551 ดังจะเห็นได้จากอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นกู้เอกชนที่มีส่วนต่างสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลที่กลับมาปรับตัวสูงขึ้นในปี 2552  แม้จะมีการออกหุ้นกู้ใหม่ในปริมาณมหาศาลจากภาคเอกชน เนื่องจากบริษัทเอกชนใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำลงมากจากหลายปีที่ผ่านมา และอุปสงค์ต่อหุ้นกู้เอกชนจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยมีสูง  จนต่อมาอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นกู้เอกชนที่มีส่วนต่างสูงกว่าของพันธบัตรรัฐบาลได้ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่เคยเป็นในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงิน  อเบอร์ดีนมองว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนมีความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาล รวมถึงดอกเบี้ยจากการฝากเงินในธนาคาร

 
 แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2553
ในช่วงก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2553 อเบอร์ดีนได้คาดการณ์ถึงภาวะที่น่าจะเป็นแรงผลักให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น มาจากการที่นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจะยุติลง เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจจะเติบโตดีขึ้นในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน รวมถึงการออกพันธบัตรในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

ดังนั้น มูลค่าพันบัตรอาจจะต้องประสบกับแรงกดดันจากปัจจัยพื้นฐานในปี 2553 แต่เราเชื่อว่าอัตราความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างดีที่สุดน่าจะเป็นเพียงระดับปานกลางเท่านั้น
 
ดังนั้น จึงเป็นข้อจำกัดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีหน้า ซึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ  ภาวะที่อ่อนแอในเส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้นั้น นำไปสู่ความไม่แน่นอน และส่งผลเป็นแรงหนุนที่สำคัญให้แก่หลักทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยงอย่างเช่นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตราบใดที่ข้อมูลเศรษฐกิจยังไม่สามารถชี้ชัดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพดีแล้ว ความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นถึงระยะปานกลางก็จะยังเป็นกระแสหลักในตลาดตราสารหนี้ไทยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น