xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นกู้ทุบสถิติทั้งปี4.3แสนล้าน แบงก์เข้มงวด-ดอกเบี้ยต่ำจูงใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเผย สถานการณ์และปัจจัยรอบด้านทำให้บริษัทเอกชนหันมาระดมเงินด้วยการออกหุ้นกู้เอกชนกันอย่างมโหฬาร สร้างประวัติการณ์ทำลายสถิติปี 51 ที่เคยออก  280,000 ล้านบาทชนิดทิ้งกันไม่เห็นฝุ่น เพราะปีนี้ทั้งปีออกหุ้นกู้เอกชนทั้งที่มาขึ้นทะเบียนกับสมาคมและไม่ได้ขึ้นทะเบียนสูงถึง 430,000 ล้านบาท
นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า การที่สถาบันการเงินของไทยมีการเข้มงวดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ กลายมาเป็นผลดีกับตลาดตราสารหนี้ของไทยในปีนี้ เพราะทำให้มีการออกหุ้นกู้เอกชน หรือ Corporate Bond กันอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์

 โดยมาถึงปัจจุบัน มีการระดมเงินด้วยการออกหุ้นกู้แล้วประมาณ 320,000 – 330,000 ล้านบาท ดังนั้น ระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณ 2 เดือน จึงเชื่อมั่นว่าเป้าหมายที่ทาง ThaiBMA ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าในปีนี้ น่าจะมีการออกหุ้นกู้เอกชนมาขึ้นทะเบียนกับสมาคมประมาณ 380,000 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้เล็กน้อย
ทั้งนี้ จำนวนหุ้นกู้เอกชน 380,000 ล้านบาทนี้ เป็นเฉพาะในส่วนที่มาขึ้นทะเบียนกับทาง ThaiBMA เท่านั้น ยังมีส่วนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทาง ThaiBMA อีกประมาณ 50,000 ล้านบาท ดังนั้น หากนับความคึกคักของตลาดตราสารหนี้ในปี 52 นี้จริงๆ จะเท่ากับว่า มีการออกหุ้นกู้เอกชนทั้งสิ้นสูงถึงประมาณ 430,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
นายณัฐพลกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มีการออกหุ้นกู้มากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ประการแรกคือ บรรดาบริษัทชั้นนำไม่สามารถที่จะไปออกหุ้นกู้ระดมทุนในต่างประเทศได้ เพราะภาวะวิกฤติทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก จึงหันกลับมาระดมทุนในประเทศแทน ประการต่อมาก็คือการที่บรรดาแบงก์พาณิชย์ยังคงเข้มงวดไม่ปล่อยสินเชื่อ ทำให้บริษัทหันมาใช้การออกหุ้นกู้แทน ประการที่ 3  เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้ผู้มีเงินออมต้องการหาแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าฝากแบงก์ จึงเกิดดีมานด์เข้ามาในตลาดตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น

 โดยเฉพาะภาคเอกชนและรายย่อยที่หันมาลงทุนในหุ้นกู้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ตลาดหุ้นกู้มีความคึกคักเป็นอย่างมาก และประการสุดท้ายบรรดาแบงก์หรือสถาบันการเงินที่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เพื่อรักษาระดับเงินกองทุน แต่สถานการณ์ราคาหุ้นในปัจจุบันยังคงไม่เอื้อต่อการเพิ่มทุน จึงได้หันมาใช้การออกหุ้นกู้ด้อยสิทฺแทน
“เพราะฉะนั้นจึงทำให้ปีนี้มีการออกหุ้นกู้กันอย่างมโหฬาร อย่างปีที่แล้ว มีการออกหุ้นกู้ทั้งสิ้น 280,000 ล้านบาท ก็เป็นการทำสถิติสูงสุดในปีที่ผ่านมาแล้ว แต่ในปีนี้พุ่งขึ้นไปถึง 430,000 ล้านบาท ปีนี้จึงเป็นการสร้างประวัติการณ์สถิติที่สูงที่สุดอีกครั้งของตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทย”นายณัฐพลกล่าว
สำหรับกรณีที่ยังคงมีสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้น นายณัฐพลกล่าวว่า คงไม่กระทบโดยตรงกับประเทศไทย เนื่องจากบรรดาสถาบันการเงินที่ล้มในช่วงหลังๆนี้ เป็นสถาบันการเงินที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนักและทำธุรกรรมเฉพาะในประเทศโดยเฉพาะด้านแฟคเตอริ่งให้แก่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SME) ไม่ใช่สถาบันการเงินที่เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ทำให้ผลกระทบจึงไม่ค่อยมากนัก
ทั้งนี้ ผลกระทบหากจะเกิดขึ้น ก็คงมีในกรณีของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐเองว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดหมายไว้หรือไม่ ซึ่งสหรัฐอเมริกายังมีจุดอ่อนที่แฝงเร้นอยู่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงอาจจะมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

เช่น ค่าเงินดอลลาร์อาจจะไม่แข็งค่าเร็วขึ้นอย่างที่ต้องการ เมื่อดอลลาร์อ่อนค่าลง ก็จะทำให้ค่าเงินสกุลอื่นๆรวมถึงเงินบาทของไทยแข็งค่าเพิ่มขึ้น นักลงทุนอาจหันไปเก็งกำไรในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น น้ำมัน ทองคำ การนำเข้าน้ำมันของไทยก็จะแพงขึ้น ซึ่งจะไปกระทบกับต้นทุน ขณะเดียวกันหากค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าเพิ่มขึ้นก็จะกระทบกับการส่งออกด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีเชื่อว่าการล้มของ CIT ครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง อาจจะมีเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นกู้ได้รับผลกระทบบางส่วน ผู้ถือหุ้นอาจจะสูญเงินที่ลงทุนไปทั้งหมด  และเงินภาษีอากรที่รัฐบาลเคยเข้าไปพยุงก่อนหน้านี้อาจจะไม่ได้คืน
กำลังโหลดความคิดเห็น