นายกสมาคม บลจ. มองเศรษฐกิจปีเสือดุ โตเพิ่มขึ้นอีก 3 - 3.5% แต่ยังห่วงค่าเงินบาทแข็ง อาจส่งผลด้านส่งออกได้ ระบุปัจจัยการเมือง-มาบตาพุด ยังเป็นปัญหาสำคัญ แนะรีบหาทางออกโดยเร็ว
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากสัญญาณบ่งชี้หลายด้านที่เริ่มดีขึ้น จนทำให้หลายสำนักมั่นใจว่าสิ้นปีนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายจะเริ่มเป็นบวก ทำให้ทั้งปี 2552 ที่ผ่านมา โดยรวมจะติดลบเหลือไม่เกิน 3.5% และจะขยายตัวเป็นบวก 3.0% - 3.5% ในปี 2553 นี้
อย่างไรก็ตาม เราต้องระมัดระวังด้วยว่าความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย เพราะหากผู้สั่งซื้อสินค้าส่งออกจากไทยมีเศรษฐกิจทรุดลง เราก็จะขายของได้ไม่มากเท่าที่คิด นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจะมีความผันผวนมากขึ้นด้วย และหากค่าเงินบาทยังแข็งอยู่เมื่อเทียบกับคู่แข่งของเรา ก็จะเสียเปรียบในการส่งออก
"ปี 2553 นักลงทุนต่างๆ จะมีอาการระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ( Risk Assets) มากขึ้น เช่น การลงทุนในหุ้น เป็นต้น โดยนักลงทุนจะต้องการผลตอบแทนที่สูงพอที่จะชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอน"นางวรวรรณกล่าว
นางวรวรรณ กล่าวต่อว่า ในส่วนของปัญหาด้านการเมืองในประเทศเอง เป็นความเสี่ยงเฉพาะที่ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องถาวรของประเทศไทยไปแล้ว ซึ่งหลายคนมองว่าประเทศไทยอาจจะไม่สามารถคาดหวังความสงบสุขจากปัญหาความแตกแยกทางความคิดของคนในประเทศได้ ความเสี่ยงนี้มีแนวโน้มสูงว่ามันจะยังอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ด้วย
ขณะเดียวกัน ในส่วนกรณีมาบตาพุดเองก็เช่นกัน ซึ่งกำลังเป็นปัจจัยที่คงจะเสี่ยงสูงที่สุดในขณะนี้ไปแล้ว และสูงมากกว่าปัจจัยทางการเมืองในวันนี้ด้วยซ้ำ โดยผลกระทบอาจจะทำให้เกิดความเสียหายที่ขยายวงกว้างได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมฯ เชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ ดังนั้น อาจจะส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกันนี้เกิดการชะงักงันได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ จนถึงกับย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีความแน่นอนในนโยบายภาครัฐมากกว่า ซึ่งรัฐบาลจะต้องแก้โจทย์ให้ได้เร็ว
โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในละแวกนั้นด้วย หากไม่มีทางออกอื่นแล้ว เกิดจำเป็นจะต้องถอย ก็ต้องยอมถอย เพราะการยอมเสียหายในวันนี้แล้วไปจัดมาตรการที่ถูกต้อง เป็นระบบที่ไม่มีใครฝ่าฝืน คงจะดีกว่าซื้อเวลาหรือปล่อยให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ แล้วไปเสียหายมหาศาลในวันหน้า