xs
xsm
sm
md
lg

บีทีปรับพอร์ตหุ้นหนีมาบตาพุด ดอดเก็บบ้านปูดันผลตอบแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 เจิดพันธ์ นิธยายน
 
บลจ. บีที ปรับพอร์ตหนีปัญหามาบตาพุด ทิ้งหุ้นกลุ่มปตท. ดอดเก็บหุ้นบ้านปูแทน หวังดันผลตอบแทนให้ลูกค้า แต่ยังมองภาพรวมตลาดหุ้นน่าลงทุน รับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แนะควรลงทุนระยะยาวสร้างผลกำไรงามกว่าระยะสั้น
 
นายเจิดพันธุ์ นิธยายน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บีที จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่เกิดปัญหากรณีมาบตาพุดขึ้น ส่งผลให้กองทุนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากกับการลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้น บริษัทจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนหุ้นไปบ้าง จากแต่ก่อนที่เคยลงทุนในหุ้นกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก็หันมาลงทุนในบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) แทน เพื่อกองทุนสามารถได้รับผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุนต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นขณะนี้ จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้น ได้มีการปรับขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงซึ่งในการปรับตัวครั้งนี้ เป็นการปรับตัวขึ้นมาเพื่อรองรับความคาดหวังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลกำลังออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอยู่  ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า หุ้นเองมีการปรับขึ้นแล้วกว่า 50% 
 
แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในขณะนี้ยังคงต้องลงทุนในระยะยาว จึงจะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าช่วงระยะเวลาอันสั้น เพราะการลงทุนในช่วง ๆ นี้ ยังคงต้องระมัดระวังกับความผันผวนอยู่
 
"ปัญหามาบตาพุดที่เกิดขึ้น เราเองก็ได้มีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้ตรงการสถานการณ์ โดยหุ้น ปตท. และปตท.สผ. จะไม่เข้าไปลงทุนเลย แต่จะหันมาลงทุนในบ้านปูแทน เพื่อให้กองทุนได้รับผลตอบแทนที่ดี"
 
นายเจิดพันธุ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ บริษัทเองมีความสนใจที่จะออกกองทุนหุ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม การออกกองทุนใหม่ ๆ บริษัทมีนโยบายว่า เราต้องดูถึงจังหวะและความเหมาะสมในการออกกองทุนเป็นหลัก เช่นเดียวกับกองทุนหุ้นจีน และอินเดีย ที่บริษัทมีแผนจะออกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ยังคงต้องเลื่อนการเปิดขายออกไปก่อนและคาดว่าน่าจะสามารถเปิดขายไอพีโอได้ในปี 2553 นี้
 
ทั้งนี้ กองทุนหุ้นของบริษัทที่บริหารจัดการอยู่นั้นมีทั้งสิ้น 4 กองทุน  ประกอบด้วย กองทุนเปิด บีที ไลฟ์ 70 หุ้นระยะยาวปันผล, กองทุนเปิดบีทีไลฟ์ หุ้นระยะยาว, กองทุนเปิดบีไลฟ์ 70 หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนเปิดหุ้น ทาร์เก็ต 15/1 

โดยสัดส่วนการลงทุนทั้ง 4 กองทุนนั้น ณ สิ้นเดือน พฤศจิกายน 2552  กองทุนส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูง 5 อันดับแรกได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มโรงพยาบาล ขณะที่หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. BANPU  2. BAY 3. KTB  4. KBANK  และ 5. DTAC
กำลังโหลดความคิดเห็น