xs
xsm
sm
md
lg

ความสัมพันธ์ น้ำมัน-ทองคำ-ดอลล่าร์สหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์: จับชีพจรการลงทุน
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล
CFA, ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
arunsak@scbq.co.th


สินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในช่วงวัฏจักรขาขึ้นมานานหลายปีจนกระทั่งปัจจุบัน เราได้เห็นราคาน้ำมันที่จุดสูงสุดที่ราคามากกว่า 140 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในปี 2008 ที่ผ่านมา วันนี้ ทองคำอยู่ในระหว่างการทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ขณะที่เขียนอยู่นี้ มากกว่า 1,180 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์แล้ว)

น้ำมัน ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์โดยส่วนใหญ่ถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯมาหลายสิบปีแล้ว กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน OPEC ร่วมกันตกลงอย่างเป็นทางการในการซื้อขายน้ำมันดิบในรูปของค่าเงินเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1975 เงินดอลลาร์สหรัฐฯตกลงถูกนำมาใช้เสมือนทองคำโดยธนาคารกลางประเทศต่างๆเพื่อปรับความไม่สมดุลของดุลการค้าหรือเงินสำรองระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 1944 ถึงปี 1971 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราคาทองคำถูกกำหนดตายตัวที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ และราคาของน้ำมันผันผวนน้อยมากที่ระดับราคาประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล การยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัวระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐฯและทองคำ (Gold-USD Convertibility) ตั้งแต่ปี 1971 ทำให้กลุ่มประเทศ OPEC จำเป็นต้องแลกเงินสำรองของตนเองในรูปดอลลาร์สหรัฐฯให้อยู่ในรูปของทองคำมากขึ้นโดยการเข้าซื้อในตลาดซื้อขายทองคำ ผลก็คือ ราคาของทองคำและน้ำมันเพิ่มสูงมากขึ้นโดยกลไกของตลาดจนในที่สุดราคาน้ำมันขึ้นมาอยู่ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และทองคำขึ้นมาอยู่ที่ 850 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์

นอกเหนือจากปัจจัยของความเสี่ยงการเมือง (Geopolitical Risk) ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และอุปทานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบัน ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำและน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นได้แก่ การด้อยค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก
- การเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ของอุปทานเงินดอลลาร์สหรัฐฯในตลาดการเงินการลงทุนจากมาตรการเสริมสภาพคล่องโดยธนาคารกลางเพื่อแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ
- การขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐฯ และ
- ปริมาณหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆส่วนของระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ราคาทองคำและน้ำมันโดยทั่วไปเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีค่าสหสัมพันธ์ในเชิงบวก (Positive Correlation) มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ยแล้ว ราคาทองคำในรูปของราคาน้ำมันเท่ากับ

“น้ำมัน 16 บาร์เรล = ทองคำ 1 ออนซ์”
รูป: แสดงสัดส่วนราคาทองคำต่อราคาน้ำมันในช่วงมากกว่า 20 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี อาจจะมีบางช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจจะเบี่ยงเบนไปบ้างขึ้นกับจิตวิทยาการลงทุนของนักลงทุนในขณะนั้นๆ มีการคาดการณ์ถึงราคาน้ำมันซึ่งมีอุปทานน้อยลงเรื่อยๆว่าอาจจะขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นจริงก็จะทำให้ราคาทองคำขึ้นไปสูงถึง 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ได้

โดยสรุปแล้ว ราคาน้ำมันน่าจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นหากภาวะของเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างแท้จริง เนื่องจากความไม่สมดุลกันของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าของโลหะมีค่ารวมถึงทองคำเพิ่มสูงมากขึ้นจากความสัมพันธ์ดังกล่าว ปัจจุบัน ปัจจัยของการหลีกเลี่ยงการถือครองดอลลาร์สหรัฐฯของนักลงทุนโดยการกระจายความเสี่ยงไปสู่เงินตราต่างประเทศอื่นมากขึ้น อาทิเช่น เงินยูโร ยังช่วยเร่งให้ทองคำมีราคาสูงมากขึ้นไปอีก หากแนวโน้มการขายดอลลาร์สหรัฐฯยังคงดำเนินต่อไปอีก (มีการประมาณการอ่อนค่าต่อเนื่องของดอลลาร์สหรัฐฯอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 12 เดือนข้างหน้า) ราคาของทองคำน่าจะมีแนวโน้มพุ่งขึ้นสูงต่อไปอีกจนยากจะคาดการณ์ได้ว่าจะไปสิ้นสุดที่เท่าไร
กำลังโหลดความคิดเห็น