xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันดีกว่า (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการออมเงินระยะยาววิธีหนึ่ง โดยที่นายจ้าง และลูกจ้าง ต่างมีส่วนร่วมกันในการสะสมเงิเข้ากองทุน โดยที่การจัดตั้งกองทุนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการออม เพื่อให้ลูกจ้างสามารถนำเงินนั้นไปใช้ได้ในตอนเกษียณ หรือเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ แม้กระทั่งเสียชีวิต เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะตกเป็นมรดกแก่ทายาท ดังนั้น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงนับได้ว่าเป็นสวัสดิการชนิดหนึ่งที่นายจ้างได้จัดหาไว้ให้แก่ลูกจ้าง เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงาน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะแตกต่างจากกองทุนบำนาญ เพราะกองทุนบำนาญเป็นการกำหนดเงิ่นไขการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามจำนวนปีที่ลูกจ้างทำงานกับบริษัท บางบริษัทอาจมีการเตรียมเงินไว้ให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า ก่อนเกษียณ แต่บางบริษัทก็ไม่ได้มีการจัดเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อปีใดก็ตามที่มีลูกจ้างเกษียณจำนวนมาก บริษัทอาจมีเงินไม่พอสำหรับการจ่ายบำนาญในปีนั้น ๆ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะสามารถแบ่งประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้หลายวิธี เช่น การแบ่งประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามลักษณะการจัดตั้ง คือ กองทุนเดี่ยว กองทุนกลุ่ม และ กองทุนร่วมทุน

กองทุนเดี่ยว (Single Fund) เป็นกองทุนที่จัดตั้งของบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีลูกจ้างจำนวนมาก ทำให้มีเงินสะสมเข้ากองทุนในแต่ละเดือนนั้นมีจำนวนมาก กองทุนเดี่ยวจะมีคณะกรรมการกองทุน ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุนฯ ตามที่ต้องการ และโดยส่วนใหญ่ เงินกองทุนที่ลงทุนนี้จะจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัทของนายจ้าง

กองทุนกลุ่ม (Group Fund) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นของบริษัทในเครือเดียวกัน โดยที่บริษัทในเครือจะนำเงินหักจากเงินเดือนของลูกจ้าง เข้าร่วมลงทุนกันในกองทุนของกลุ่มบริษัท ลักษณะการลงทุนจะเป็นแบบเดียวกับกองทุนเดี่ยว คือ บริษัทในเครือจะนำส่งเงินมาลงทุนร่วมกันในกองทุนเพียงกองทุนเดียว

กองทุนร่วมทุน (Pooled Fund) เป็นกองทุนที่ร่วมลงทุนของหลายบริษัท เพราะในหลาย ๆ บริษัทอาจมีลูกจ้างจำนวนไม่มาก จึงมีเงินสะสมจากลูกจ้างและนายจ้างในแต่ละเดือนไม่มาก จึงไม่คุ้มที่จะดำเนินการเป็นกองทุนเดี่ยว แต่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อาจเข้ามามีส่วนร่วมเป็นตัวกลางในการนำเงินสำรองเลี้ยงชีพของหลายบริษัท นำมาร่วมลงทุน โดยมีค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนแบ่งตามสัดส่วนของเงินร่วมลงทุน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนอกจากจะจัดแบ่งประเภทโดยการแบ่งตามลักษณะของการจัดตั้งแล้วนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถแบ่งออกได้ตามนโยบายของการลงทุน ได้อีกวิธีหนึ่ง

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนได้หลากหลายรูปแบบ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มุ่งเน้นกำไรจากการลงทุนสูง แต่มีความเสี่ยงสูง กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่เน้นความสำคัญของความมั่นคงของเงินต้นเป็นหลัก ไม่เน้นในเรื่องของกำไรหรือผลตอบแทนจากการลงทุนมากนัก

หากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเลือกลงทุนใน พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง เงินฝาก ฯลฯ ที่มีหลักประกันสูง ซึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ขะสามารถแบ่งออกได้เป็นหลากหลายแบบ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เลือกลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ

กองทุนหุ้นทุน หรือตราสารทุน เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นสามัญไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าของกองทุน การลงทุนแบบนี้นั้นจะมุ่งเน้นในผลตอบแทนที่มาจากการเจริญเติบโตของบริษัทที่เข้าร่วมลงทุน จะทำให้อนาคตของกองทุนมีมูลค่าที่มากขึ้น

กองทุนตราสารหนี้ เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป กองทุนชนิดนี้มุ่งเน้นผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยที่จะได้รับ และส่วนเพิ่มของมูลค่าของตราสารหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจเลือกลงทุนในตราสารทางการเงินต่าง ๆ ต่อไปนี้ได้เช่นเดียวกัน คือ ตราสารหนี้ระยะยาว เงินฝากในรูปแบบต่าง ๆ หน่วยลงทุนของกองทุนรวม ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ ฯลฯ

เมื่อได้ทราบถึงประเภทต่าง ๆ ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นเดียวกันกับการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ

ข้อดี คือ การร่วมลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถมีเงินสำรองไว้ใช้ในช่วงเกษียณอายุ เพราะการออมในตลอดระยะเวลาการทำงานนั้น เป็นการตัดเงินลงทุนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนที่น้อยมาก ออกจากเงินเดือน เพื่อนำไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในช่วงเกษียณอายุ นอกจากนี้แล้ว การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังนับได้ว่าเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างอีกด้วย การที่นายจ้างร่วมลงทุนในกองทุนดังกล่าว เป็นการจูงใจให้พนักงานอยากทุ่มเทในการทำงานมากขึ้น

ข้อดีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งผู้มีรายได้ส่วนมากได้รับประโยชน์จากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ การได้รับสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษี เป็นการช่วยลดภาระผู้มีรายได้ในการเสียภาษีประจำปี

นอกจากนี้ ข้อเสียของการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็มีอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน คือ การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนดังกล่าว จึงต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับค่าบริหารจัดการเป็นการตอบแทน และการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเป็นการลงทุนที่มมีความยืดหยุ่นน้อยมาก เพราะการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเป็นการนำเงินลงทุนของหลายคนมารวมกัน จึงไม่สามารถลงทุนไดถูกต้องและตรงใจกับผู้ที่ร่วมลงทุนได้ทุกคน แต่ในปัจจุบันมีการเพิ่มเงื่อนไข Employee’s Choice เข้ามาเพิ่มเติม ก็จะทำให้ผู้ลงทุนมีสิทธิในการเลือกนโยบายการลงทุนได้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น