xs
xsm
sm
md
lg

8เดือนกองทุนรวมโต14.7% พร้อมการกลับมาของ"บลจ.ไทยพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องยอมรับว่า ธุรกิจกองทุนรวมในปีนี้ มาพร้อมกับโอกาสและการแข่งขันจริงๆ  ...โอกาสที่ว่า คือ  การลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเหลือต่ำติดดิน จนไม่น่าจูงใจ ทำให้กองทุนรวม เข้ามาเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ โดยเฉพาะกองทุนที่ความเสี่ยงไม่มาก และให้ผลตอบแทนดีกว่าในประเทศอย่าง พันธบัตรรัฐบาลเกาหลี ที่ไม่ว่ากองไหนออกมา ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

 อีกหนึ่งโอกาสของคนที่กล้าเสี่ยงคือ กองทุนหุ้น ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในช่วงที่ราคาหุ้นปรับลงมาต่ำกว่าพื้นฐานอย่างช่วงก่อนหน้านี้ ยั่วน้ำลายของคนกล้าได้เป็นอย่างดี และหากใครลงทุนมาถึงเดือนนี้ หลายๆ คนฟันกำไรไปแล้วกว่า 50%

 ที่กล่าวมาข้างต้น คือที่มาของการแข่งขันในธุรกิจกองทุนรวม เพราะนี่คือ "โอกาสทอง" ในการดึงเงินเข้าพอร์ตของตัวเอง ที่สำคัญ ด้วยความที่บริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ส่วนใหญ่เป็นลูกของธนาคารพาณิชย์ด้วยแล้ว การรักษาเงินไว้ในเครือของตัวเอง ยังดีกว่าจะให้เงินไหลออกไปที่อื่น

 ถึงตอนนี้ ต้องบอกว่าหลายบลจ. ประสบความสำเร็จในการดึงเงินออมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบลจ.เครือแบงก์ใหญ่ที่มาสาขาและฐานลูกค้าค่อนข้างมาก และกองทุนที่เป็นพระเอก ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ ที่ยังฮอตอยู่ในขณะนี้นั่นเอง

 จากจำนวนกองทุนแดนกิมจิที่ออกมาเป็นจำนวนมาก จากเกือบทุก บลจ. ส่งผลให้สินทรัพย์รวมในธุรกิจจัดการกองทุนรวมในช่วง 8 เดือนแรก ขยายตัวได้ค่อนข้างสูง  โดยในช่วงปลายปีที่แล้ว กองทุนรวมทั้งระบบมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1,526,811.54 ล้านบาท ก่อนจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,742,718.55 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  คิดเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นประมาณ 215,907.01 ล้านบาท หรือขยายตัวแล้ว 14.7%
 ทั้งนี้  นอกจากเงินใหม่ที่ไหลเข้ามาจากกองทุนพันธบัตรเกาหลีแล้ว การที่ดัชนีหุ้นในประเทศและต่างประเทศ ปรับตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดได้ระดับหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้กองทุนรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นมาด้วยเช่นกัน และจากโอกาสนี้เอง ทำให้เราเห็นกองทุนหุ้น (ทั้งในและต่างประเทศ) กองใหม่ ออกมาเป็นทางเลือกให้กับผู้ออมเงินที่ต้องการแสวงหาผลตอบแทนสูงด้วย

 ...และจากการแข่งขันที่ดุเดือนนี้เอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับผู้นำตลาดตามมาด้วย

 โดยในช่วงปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ การโหมออกกองทุนพันธบัตรเกาหลีอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการขยายตัวของกองทุนเปิดเค ตราสารรัฐระยะสั้น (K-TREASURY) ของ บลจ.กสิกรไทย ทำให้สินทรัพย์รวมขยับแซงหน้าแชมป์เก่าอย่างบลจ.ไทยพาณิชย์ไปได้

แต่หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยการเข้ามาของ  "โชติกา สวนานนท์"  ก็เห็นการโหมออกกองทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด การได้สินทรัพย์ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สิทธิการเช่า CPN รีเทล โกรท (CPNRF) กว่าหมื่นล้านบาท ทำให้ บลจ.ไทยพาณิชย์ กลับมารั้งตำแหน่งอันดับ 1 อีกครั้ง ด้วยสินทรัพย์รวม 363,090,40 ล้านบาท

 ในขณะที่อันดับ 2 อย่าาง บลจ.กสิกรไทย มีสินทรัพย์อยู่ราว 346,146,15 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากจะเอ๋ยถึงบลจ.ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นบริษัทในเครือแบงก์เช่นกัน โดย บลจ.บัวหลวง มีสินทรัพย์ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยเงินลงทุนรวมในพอร์ต 168,324.95 ล้านบาท อันดับ 4 บลจ.เอ็มเอฟซี ด้วยสินทรัพย์รวม 150,739.18 ล้านบาท อันดับ 5 บลจ.กรุงไทย มีเงินลงทุนรวม 143,514.00 ล้านบาท

 ในขณะที่บลจ.ทหารไทย อยู่ในอันดับ 6 ถึงแม้ว่าจะสามารถระดมทุนได้อย่างต่อเนื่องจากกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ แต่การเสีย CPNRF ไป ทำให้สินทรัพย์รวมหายไปเยอะพอสมควร

 ด้านบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ที่ผู้บริหารถูกภาคทัฑณ์อยู่ในขณะนี้ มีสินทรัพย์รวม 117,362.13 ล้านบาท อยู่ในอันดับ 7 ตามมาด้วยบลจ.ธนชาต ด้วยสินทรัพย์ 82,426.13 ล้านบาท อันดับ 9 บลจ.ยูโอบี(ไทย) ด้วยสินทรัพย์ 41,679.85 ล้านบาท และอันดับ 10 บลจ.นครหลวงไทย ด้วยเงินลงทุนในพอร์ตรวม 40,336.10 ล้านบาท

 สำรวจแถวผู้นำแล้ว ไปดู 3 บลจ.น้องใหม่กันบ้าง...เริ่มต้นกันที่บลจ.แมนูไลฟ์ ถึงแม้จะไร้หัวเรือใหญ่มาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่สินทรัพย์ก็ยังเติบโตได้ ล่าสุด มีเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 1,759.71 ล้านบาท ในขณะที่บลจ.ซีมิโก้ ที่กำลังหนีตาย เนื่องจากไปประสบความสำเร็จในธุรกิจเพราะไม่มีความเชี่ยวชาญ มีสินทรัพย์อยู่ที่ 755.52 ล้านบาท ส่วนบลจ.ฟิลลิป ที่กำลังก้าวไปที่ละขั้นอย่างไม่เร่งรีบ ก็มีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 478.94 ล้านบาท
 เร่งป้อนความรู้ยกระดับกองทุนรวม

 วรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) บัวหลวง จำกัด ในฐานะนายกสามาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน กล่าวเอาไว้ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมกองทุนรวมตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีผู้หันมานิยมใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือในการออมและลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนของการเติบโตของอุตสาหกรรมกองทุนรวมต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(จีดีพี) มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากช่างต่ำสุดในปี 2540 ที่ 2.1% มา เป็น 16.9% ในช่วงสิ้นปี 2551 และคาดว่าทั้งปีนี้ จะมีสัดส่วนการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 20%

 และจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมกองทุนรวม และสร้างความรู้ทางด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง  "วรวรรณ"   เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าประมาณ 5 ปี จะทำให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมเติบโตขึ้นจนมีนักลงทุนเพิ่มขึ้นได้ถึง 10 ล้านบัญชีจากเดิมที่มีอยู่ 2 ล้านบัญชีในปัจจุบัน ซึ่งขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2536 ที่มีการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการกองทุนรวม

 อย่างไรก็ตาม แม่การลงทุนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่การลงทุนผ่านกองทุนรวมในปัจจุบันยังไม่สามารถกระจายตัวได้ดีนัก เพราะยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก ซึ่งหลังจากนี้จะต้องพยายามกระจายความรู้ไปในทุกพื้นที่ให้มากขึ้น
"วรวรรณ" ย้ำว่า ตอนนี้  การเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรื่องแรกที่จำเป็นคือการให้ความรู้แก่ประชาชน โดยการจัดหลักให้มีหลักสูตรการศึกษาด้านการลงทุน และกองทุนรวม นอกจากนี้ ควรนำสื่อทีวีเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่ความรู้ด้านกองทุนรวมให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นสื่อที่ครอบคลุมในทุกพื้นทำให้สามารถสร้างการรับรู้ได้มากกว่า

"หลังจากนี้ ต้องเน้นให้การศึกษาด้านการลงทุนตั้งแต่ในระดับเยาวชน เพื่อไม่ให้เขาเสียเปรียบ เพราะตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงค์โปร์ มาเลเซีย ขนาดคนขับแท็กซี่เขายังรู้เลยว่ากองทุนรวมคืออะไร และลงทุนอย่างไร ซึ่งเราต้องเพิ่มการเรียนการสอนตั้งแต่ตอนนี้เลย"วรวรรณกล่าว
 "LTF-RMF"2คู่หูภาษีที่ไม่ตกเทรน

 งาน "ตลาดนัดกองทุนรวม"  ที่จัดขึ้น ณ สยามพารากอนในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ต้องบอกว่าได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงเวลา 4 วันของการจัดงาน ได้รับการเปิดเผยว่า มีจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาชมงานประมาณ 9,000 คน และมีจำนวนเงินลงทุนถึง 499 ล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากทั้งจำนวนผู้ชมงานและจำนวนเงินลงทุน ที่สูงกว่าทุกครั้งที่เคยจัดมา

 และจากการสอบถามความต้องการของนักลงทุนที่เข้ามาส่วนใหญ่ พบว่ามีเป้าหมายหลักอยู่ 3 ข้อ คือ ต้องการหาช่องทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก รวมถึงต้องการทราบว่าจะวางแผนจัดการและบริหารเงินอย่างไร นอกเหนือจากนั้น ก็เป็นการลงทุนที่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีอย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ)   นั่นเอง

 และหลังจากบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวดีขึ้น การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก็เริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุนตามาด้วย ดังนั้น 2 คู่หูภาษีอย่าง แอลทีเอฟ และอาร์เอ็มเอฟ ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น ก็ได้รับความสนใจไปด้วย
โดยจากการสำรวจตัวเลขเงินลงทุนในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา พบว่านอกเหนือจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตามราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีเงินลงทุนใหม่เข้ามาลงทุนใน 2 กองทุนนี้อย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนที่เข้ามาส่วนใหญ่มองเห็นโอกาสซื้อในช่วงที่ราคาถูก เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกองทุนที่ต้องการส่งเสริมการออมระยะยาวโดยการให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี

 โดยรายงานจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผย ตัวเลขเงินลงทุนล่าสุดในกองทุนแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟ (สิ้นสุด 28 ส.ค.) พบว่า มีเงินลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟรวมทั้งสิ้น 63,722.67 ล้านบาท และกองทุนอาร์เอ็มเอฟทั้งสิ้น 46,543.29 ล้านบาท

 ทั้งนี้ เงินลงทุนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นมาจากช่วงปลายปีที่แล้วพอสมควร โดยกองทุนแอลทีเอฟ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 18,260.11 จากเงินลงทุนรวม 45,462.56 ล้านบาท คิดเป็นการขายตัวแล้ว 40% ในขณะที่กองทุนอาร์เอ็มเอฟ เพิ่มขึ้นประมาณ 7,013.68 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวมทั้งระบบ 39,529.61 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว 17%
กำลังโหลดความคิดเห็น