xs
xsm
sm
md
lg

บอนด์กิมจิยังไม่คลายมนต์ขลัง ศก.ฟื้นผลตอบแทนกองทุนขยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 กองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ยังไม่คลายมนต์ขลัง บลจ.ทหารไทยเดินหน้าเสนอขายแบบแพคคู่อายุ 3 เดือนและ 12 เดือน ชูผลตอบแทนสุงสุดที่ 2.70% ต่อปี ด้าน บลจ.อยุธยาเสนอขายอายุ 6 เดือน ผลตอบแทน 1.90% ขณะที่ บลจ.ไทยพาณิชย์เอาด้วยขายแบบ 6 เดือนและ 3 ปี ส่วน บลจ.แอสเซท พลัส ปรับเพิ่มผลตอบแทนกองทุนอายุ 9 เดือน เป็น 2.40%ต่อปี

นายไพศาล ครุฑดำรงชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดขายกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้พร้อมกันอีก 2 รุ่น มูลค่าโครงการรวม 3,000 ล้านบาท โดยจะลงทุนในพันธบัตร ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรธนาคารแห่งชาติรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่มีอายุประมาณ 3 เดือน มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท ด้วยอัตราผลตอบแทนประมาณ 1.70% ต่อปี และอายุประมาณ 12 เดือน อีก 1,500 ล้านบาท ด้วยอัตราผลตอบแทนประมาณ 2.70% ต่อปี โดยได้เปิดขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่วันนี้ – 7 กันยายน 2552 โดยสามารถจองซื้อขั้นต่ำเพียง 2,000 บาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดจำหน่ายกองทุนเพื่อการลงทุนในต่างประเทศเพียงเฉพาะตราสารหนี้ในประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมแล้วประมาณ 25,903 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าสามารถให้ผลตอบแทนในระดับที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศ ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มีความแข็งแกร่งและมีการฟื้นตัวที่ดีมาก จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่ดีกว่ารัฐบาลไทย โดยตราสารที่ออกได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ A+/ F1 จากสถาบัน Fitch Rating นอกจากนี้ยังมีการแปลงเงินลงทุนในต่างประเทศเป็นเงินบาทเต็มจำนวนจึงไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
“ในช่วงนี้ความต้องการของกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องถึงแม้ผลตอบแทนเริ่มปรับลดลง ก็ยังมียอดจองเข้ามาเต็มจำนวนทุกครั้งที่มีการเปิดจำหน่าย ในส่วนของบริษัทยังคงมีนโยบายออกกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ถือหน่วยเป็นหลัก จนกว่าผลตอบแทนจะเริ่มใกล้เคียงกับการลงทุนในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ความนิยมในกองทุนเกาหลีใต้ลดลง” นายไพศาล กล่าว
นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อยุธยา เปิดเผยว่า บริษัทเสนอขายกองทุนเปิดกรุงศรีพันธบัตรเกาหลี 6M2 (KFKGB6M2) เป็นการเสนอขายกองทุนอายุประมาณ 6 เดือนที่เน้นลงทุนในพันธบัตร MSB ที่ออกโดยธนาคารกลางของเกาหลีใต้ ผู้ลงทุนจะได้รับอัตราการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 1.90% ต่อปี (หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 0.40%) กองทุนดังกล่าวมีมูลค่าโครงการ 600 ล้านบาท โดยจะเปิดขายหน่วยลงทุนตั้งแต่วันนี้ – 7 กันยายน และสามารถลงทุนขั้นต่ำเพียง 10,000 บาท
ทั้งนี้ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลี ยังคงเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ออม และผู้ลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อยู่ในระดับต่ำ และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากไทย ในส่วนของทิศทางดอกเบี้ยของไทยนั้นน่าจะยังคงทรงตัวในระดับต่ำไปจนถึงอย่างน้อยปลายปีนี้
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.แอสเซท พลัส เปิดเผยว่า บริษัทขอแจ้งปรับผลตอบแทนกองทุนเปิดแอ็คทีฟเอฟไอเอฟ 8 (ACFIF8) ขึ้นเป็นจาก2.38% เป็น 2.40% ต่อปี โดยกองทุน ACFIF8 เป็นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่เปิดเสนอขายเป็นรอบระยะเวลา สำหรับรอบการลงทุนนี้ จะพิจารณาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ (Korea Monetary Stabilization Bond (MSB)) รอบการลงทุนแรกประมาณ 9 เดือน เปิดเสนอขาย IPO ถึงวันที่ 2 กันยายนนี้ ซึ่งการปรับเพิ่มผลตอบแทนสำหรับกองทุน ACFIF8 ในรอบนี้ เป็นผลจากการที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเกาหลีใต้ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ที่มีการปรับตัวดีขึ้นกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และความกังวลด้านอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของประเทศเกาหลีใต้อาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่หลายฝ่ายได้ประมาณไว้เบื้องต้น ขณะที่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินวอน และอัตราดอกเบี้ยในประเทศเกาหลีใต้เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ส่งผลดีต่อการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีเช่นกัน
ด้านรายงานจาก บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดขายกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ฟอร์เรน โนท 9M11 (SCBFRN9M11) มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท อายุโครงการประมาณ 9 เดือน เปิดขายหน่วยลงทุนครั้งแรกตั้งแต่วันนี้ – 7 กันยายน 2552 และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ฟอร์เรน โนท 3Y2 (SCBFRN3Y2) มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท อายุโครงการประมาณ 3 ปี เปิดขายหน่วยลงทุนตั้งแต่วันนี้ – 3 กันยายน 2552 โดยทั้งสองกองทุนมีมูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 10,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น