xs
xsm
sm
md
lg

ความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : จับชีพจรการลงทุน
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล
CFA, ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
arunsak@scbq.co.th


ในภาวะที่เศรษฐกิจยังรอการฟื้นตัวและอัตราดอกเบี้ยที่ถูกตรึงไว้ในระดับต่ำ ทางเลือกการลงทุนที่ปลอดภัย อาทิเช่น เงินฝากหรือพันธบัตรรัฐบาลอาจจะไม่ค่อยน่าดึงดูดใจนักเนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ

หุ้นกู้เอกชนที่มีคุณภาพหรืออีกนัยหนึ่งหุ้นกู้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่สูงจึงค่อนข้างได้รับความสนใจจากผู้มีเงินออม การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนควรจะให้ผลตอบแทนที่มากกว่าพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุใกล้เคียงกัน ดังนี้

เนื่องจากหุ้นกู้เอกชนเป็นการกู้ยืมของบริษัทที่ออกหุ้นกู้เอกชนนั้นๆกับผู้ลงทุน Credit Spread จึงเป็นผลตอบแทนที่ผู้ออกหุ้นกู้เอกชนนั้นๆสัญญาที่จะให้เพิ่มเติมเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนต้องรับซึ่งได้แก่ความเสี่ยงในเรื่องของการผิดนัดชำระดอกเบี้ยที่ได้สัญญาไว้และเงินต้นเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ตัวอย่างเช่น หุ้นกู้เอกชนของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส (ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ “A” โดย ทริส เรทติ้ง) อายุ 5 ปี ให้ผลตอบแทน 5.75% ซึ่งเท่ากับ
-3.00% ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี +
-2.75% ของ Credit Spread ที่บริษัทให้เพิ่มเติมเนื่องจากความเสี่ยงทางด้านเครดิต

โดยทั่วไป หุ้นกู้เอกชนมีความเสี่ยงหลักอยู่ 2-3 ประการคือ
1.ความเสี่ยงจากภาวะตลาดตราสารหนี้โดยรวม (Market Risk)
เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนมีส่วนประกอบของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลด้วย ดังนั้น ความผันผวนของตลาดตราสารหนี้โดยรวมจึงส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นกู้เอกชนด้วย หากราคาของพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุเท่ากันกับหุ้นกู้เอกชนมีมูลค่าลดลงมาก หุ้นกู้เอกชนดังกล่าวก็น่าจะมีราคาตลาดที่ลดลงด้วยเช่นกัน

2. ความเสี่ยงที่จะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Downgrade Risk) ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการบริหารงานของบริษัทที่ออกหุ้นกู้เอกชนนั้นๆอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้ตลอดอายุของหุ้นกู้เอกชนนั้นๆ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งได้แก่ ทริส เรทติ้งและฟิตช์ เรทติ้ง มีหน้าที่ในการติดตามและประกาศเตือนผู้ลงทุนถึงสถานะทางการเงินและแนวโน้มธุรกิจของบริษัทในรูปของอันดับเครดิตและแนวโน้ม ถ้าบริษัทที่ออกหุ้นกู้เอกชนนั้นมีแนวโน้มที่จะมีผลประกอบการที่แย่ลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อันดับเครดิตที่ได้รับมาตอนเริ่มแรกอาจถูกปรับลดได้ซึ่งหมายถึงเกิดความเสี่ยงในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น ผลกระทบทันทีต่อผู้ถือหุ้นกู้เอกชนดังกล่าวได้แก่ ราคาตลาดของหุ้นกู้เอกชนจะถูกตีค่าให้มีราคาต่ำลง

3.ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน (Default Risk) ความเสี่ยงดังกล่าวเป็นความเสี่ยงหลักของผู้ถือหุ้นกู้เอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนรายย่อยที่ตั้งใจจะถือหุ้นกู้เอกชนใดๆจนครบกำหนดไถ่ถอน ถึงแม้ว่าผู้ลงทุนจะมีบริษัทจัดอันดับเครดิตคอยช่วยติดตามและให้ข้อมูลความเป็นไปของบริษัท แต่ในความเป็นจริงคือ การประกาศเตือนในเรื่องเครดิตหรือการปรับลดอันดับเครดิตมักจะถูกรับรู้ค่อนข้างช้ากว่านักลงทุนสถาบันที่อยู่ในตลาดตราสารหนี้ ดังนั้นหากต้องการจะขายหุ้นกู้เอกชนดังกล่าวออกไป ราคาที่ถูกรับซื้อมักจะเป็นราคาที่ต่ำลงจนบางครั้งทำให้นักลงทุนรายย่อยประสบกับการขาดทุนได้

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเองเพื่อให้สามารถตัดสินใจขายหุ้นกู้เอกชนที่มีอยู่ได้ทันท่วงทีหากเกิดความเสี่ยงข้างต้นโดยให้เกิดความเสียหายต่อมูลค่าของหุ้นกู้เอกชนดังกล่าวให้น้อยที่สุด

หลักการคร่าวๆในการตรวจสอบว่าหุ้นกู้เอกชนที่เรามีอยู่ว่ามีสถานะการเงินและแนวโน้มเป็นอย่างไร ได้แก่
1.แนวโน้มของสถานะทางการเงินที่บ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ คาถาที่ต้องท่องสำหรับผู้ลงทุนคือ แนวโน้มของสัดส่วนทางการเงิน (รายเดือนหรือรายไตรมาส) ที่บ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้แย่ลงอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงในประเด็นสถานะเงินสดที่น้อยลงเรื่อยๆ หรืออีกหนึ่งภาระหนี้สินในเชิงเปรียบเทียบที่มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เขียนขอแนะนำสัดส่วนทางการเงิน 3-4 ตัวเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวได้แก่
-กระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจ/ภาระดอกเบี้ยจ่าย
-หนี้สินระยะยาว/(หนี้สินระยะยาว+ส่วนทุนของผู้ถือหุ้น)
-กระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจ/หนี้สินระยะยาวที่ครบกำหนดจ่าย
-สินทรัพย์ระยะสั้นที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ง่าย/หนี้สินระยะยาว

2.การตัดสินใจของผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจที่อาจส่งผลต่อกระแสเงินสด หลักการสำคัญคือ การตัดสินใจที่สำคัญๆของผู้บริหารนั้นทำให้เจ้าหนี้ (ผู้ถือหุ้นกู้เอกชนก็คือเจ้าหนี้รายหนึ่งนั่นเอง) เสียเปรียบหรือเสียประโยชน์หรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งคือการตัดสินใจของบริษัทนั้นเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุนเป็นสำคัญมากกว่าเจ้าหนี้ใช่หรือไม่ ตัวอย่างเช่น
-การตัดสินใจจ่ายเงินปันผลจำนวนมากทั้งๆที่บริษัทอาจจะมีกำไรน้อยลงหรือขาดทุน
-การลงทุนในโครงการใหม่ๆโดยที่ใช้สัดส่วนของหนี้สินมากกว่าสัดส่วนหนี้สินปัจจุบันของบริษัท
-การจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้บริหารมากเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับผลประกอบการของบริษัทที่ทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น