xs
xsm
sm
md
lg

ThaiBMAเชื่อปีนี้หุ้นกู้ทะลุ3.5แสนล. อานิสงส์วิกฤติ-แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยขานรับการยกเว้นภาษีรายได้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ หากทำได้น่าจะช่วยให้การลงทุนในหุ้นกู้คึกคักมากยิ่งขึ้น คาดปริมาณการออกหุ้นกู้เอกชนปีนี้ทะลุ 350,000 ล้านบาทได้ เพราะช่วงวิกฤติแบงก์ไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจจะหันมาออกหุ้นกู้มากขึ้น เพราะต้นทุนต่ำกว่ากู้แบงก์ พร้อมระบุหุ้นกู้เอกชนจ่อคิวออกเดือนสิงหาคมอีก 36,000 ล้านบาท
นายณัฐพล ชวลิตชีวิน
นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาในเรื่องของการยกเว้นการจัดเก็บภาษีรายได้จากดอกเบี้ยหุ้นกู้เอกชนที่ผู้ลงทุนได้รับ ว่าหากดำเนินการได้ก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งสำหรับตลาดตราสารหนี้ทั้งผู้ออก และ ผู้ลงทุน เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยในการออกลงได้บ้าง รวมทั้งจะทำให้มีนักลงทุนรายใหม่ๆเข้ามาลงทุนในหุ้นกู้เอกชนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามคงต้องดูความชัดเจนของรายละเอียดก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ถึงจะประเมินได้ว่าจะช่วยในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้มากน้อยเพียงใด

สำหรับแนวโน้มของการออกหุ้นกู้เอกชนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีการประเมินว่าอาจจะไม่ร้อนแรงหรือมากเท่ากับครึ่งแรกของปีนี้ โดยอาจจะมีการออกหุ้นกู้ไม่ถึงหรือใกล้เคียงประมาณ 100,000 ล้านบาทนั้น นายณัฐพลกล่าวว่า โดยทิศทางแล้วก็มองไม่ต่างกันว่า ในครึ่งหลังของปีนี้คงจะไม่คึกคักเท่าครึ่งแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตามหากดูสถานการณ์ในเดือนกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านมาและที่เตรียมจะออกในเดือนสิงหาคมนั้นมีจำนวนกว่า 80,000 ล้านบาท ทางสมาคมตลาดตราสารหนี้จึงยังคงเชื่อมั่นว่า เป้าหมายที่เคยคาดการณ์ไว้ในเรื่องการออกหุ้นกู้เอกชนในปีนี้ น่าจะยังคงทะลุเป้าได้อย่างแน่นอน

“ครึ่งปีแรกนั้นมีการออกหุ้นกู้เอกชนมาแล้วทั้งสิ้น 220,000 ล้านบาท ดังนั้นหากดูเป้าหมายเดิมที่คาดว่าทั้งปีจะออกไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท ก็เท่ากับยังขาดอีกแค่ 80,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถึงแค่สิ้นเดือนกรกฎาคมและรวมที่จะออกในเดือนนี้อีกก็มากกว่า 80,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ฉะนั้นที่เราประเมินว่าปีนี้น่าจะถึง 350,000 ล้านบาทนั้นก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้สูง และโอกาสที่ครึ่งหลังของปีนี้จะออกหุ้นกู้เอกชนเกิน 100,000 ล้านบาทก็น่าจะเป็นไปได้แบบไม่ยากเย็นอะไรนัก”

ทั้งนี้ หุ้นกู้เอกชนที่ออกมาในเดือนสิงหาคม 2552 มีประมาณ 36,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นหุ้นกู้ของบริษัท อีซี่บาย ประมาณ 3,500 ล้านบาท อายุประมาณ 3 ปี หุ้นกู้ของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ประมาณ 10,000 ล้านบาท อายุประมาณ 5 ปี หุ้นกู้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ประมาณ 12,000 ล้านบาท อายุประมาณ 3 ปี – 7 ปี บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TLT ประมาณ 2,000 ล้านบาท อายุประมาณ 3 ปี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ประมาณ 7,000 ล้านบาท อายุประมาณ 5 ปี 5 เดือน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ประมาณ 2,000 ล้านบาท อายุประมาณ 5 ปี

“ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีในปัจจุบันอยู่ที่ 2.39% ขณะที่อายุ 5 ปีอยู่ที่ 2.94% ขณะที่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของหุ้นกู้เอกชนอายุ 5 ปีอยู่ที่ 5%ต่อปี ส่วนการที่บริษัทที่จะออกหุ้นกู้เอกชนให้ความสนใจนักลงทุนรายย่อยเป็นพิเศษ เพราะว่านักลงทุนประเภทสถาบันมีความระมัดระวังในการลงทุนหุ้นกู้เอกชนเป็นพิเศษ โดยจะเน้นลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่ดี ส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นหันไปเสนอหุ้นกู้ต่อนักลงทุนรายย่อยแทน ซึ่งผลตอบแทนหุ้นกู้เอกชนยังดีกว่าการเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์”

กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า ปกติเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สถาบันการเงินมักจะเข้มงวดในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อ ทำให้เป็นจังหวะที่ตลาดหุ้นกู้เอกชนจะสามารถเติบโตได้ ซึ่งเมื่อครั้งวิกฤติในปี 2540 ตลาดหุ้นกู้เอกชนก็ขยายตัวขึ้นมาเป็นระดับ 100,000 – 200,000 ล้านบาท ดังนั้นในวิกฤติรอบนี้จึงคาดหวังว่า น่าจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดหุ้นกู้เอกชนเติบโตขึ้นมาได้ในระดับ 300,000 – 400,000 ล้านบาท และที่สำคัญบริษัทธุรกิจที่มีประสบการณ์ในการออกหุ้นกู้ก็จะพบว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการพึ่งสินเชื่อจากสถาบันการเงินแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเงินทุนที่ได้โดยทั่วไปแล้วจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการกู้แบงก์

“ปกติในช่วงวิกฤตแบงก์จะระวังตัวมาก ปล่อยกู้จำนวนมากๆ ระยะยาวๆมักจะไม่ค่อยกล้า ถ้าจะทำก็จะจับมือกันหลายๆแห่งในรูปของซินดิเคทโลน ฉะนั้นทาง ThaiBMA จึงหวังว่าวิกฤตในรอบนี้ คนที่มีโอกาสได้ออกหุ้นกู้แล้วก็น่าจะติดใจ และมีการหันมาออกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งน่าจะกระตุ้นให้มีรายใหม่ๆสนใจเข้ามาออกหุ้นกู้มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะทำให้ตลาดมีทั้งดีมานด์และซัปพลายที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้าตลาดตราสารหนี้ของไทยสามารถพัฒนาไปได้อีกระดับหนึ่ง”

ส่วนพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งรุ่นใหม่ที่ออกมานั้น โดยพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งรุ่นแรกที่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง และต่างจากผลตอบแทนที่ควรจะเป็น ซึ่งผลตอบแทนของพันธบัตรดังกล่าวควรจะอยู่ที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีบวกด้วย 1.5% ทำให้ผลตอบแทนที่ควรจะเป็นอยู่ที่ 3.7%ต่อปีเท่านั้น

นายณัฐพล กล่าวว่า สาเหตุที่ผลตอบแทนพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งค่อนข้างสูง เพราะว่าในช่วงที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นช่วงที่ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่สูง โดยหลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยจึงปรับลดลงมานั่นเอง และมองว่าผลตอบแทนของออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งรุ่นใหม่อายุ 5 ปีน่าจะมีผลตอบแทนประมาณ 3% กว่าต่อปี และเชื่อผลตอบแทนของพันธบัตรดังกล่าวจะไม่เท่าเดิมอย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่าเดิมก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น