xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก "Fund Analyst" กูรูผู้รอบรู้เรื่องกองทุนรวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อว่านักลงทุนหลายท่าน อาจจะเริ่มคุ้นหู้กับ "นักวิเคราะห์กองทุนรวมหรือ Fund Analyst"  ที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวกันไปบ้างแล้ว แต่ก็เชื่อว่า นักลงทุนหลายท่านก็คงจะสงสัยว่า "นักวิเคราะห์กองทุน" ที่ว่านี้ เขามีวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลกองทุนรวมอย่างไร มีเเหล่งข้อมูลมาจากที่ไหน หรือเเม้เเต่ความยากง่ายของการการวิเคราะห์หุ้นรายตัว เเละการวิเคราะห์กองทุนรวมด้วย วันนี้" ASTV ผู้จัดการรายวัน" มีคำตอบให้ผู้อ่านอย่างเเน่นอน

 ก่อนหน้านี้ทีมงาน "Fund SuperMart Analyst" จะมีเพียง ศุภมาส พยัคฆพันธ์  เพียงคนเดียว เเต่เพียงไม่กี่เดือนผ่านมาผลตอบรับจากนักลงทุนที่โทรเข้ามาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนมากขึ้นทำให้"Fund SuperMart Analyst" ต้องมีทีมงานเพิ่มอีก 1 คน นั้นก็คือ สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล  ที่ย้ายมาจากฝ่ายวิจัย โดยจะรับผิดชอบดูเเลกองทุนรวมตราสารหนี้เเละกองทุนรวมตลาดเงินเป็นหลัก
ศุภมาส พยัคฆพันธ์
 วิเคราะห์หุ้น VS กองทุนรวม

โดย ศุภมาส พยัคฆพันธ์  Fund Analyst อธิบายให้ฟังว่า การวิเคราะห์กองทุนรวม กับการวิเคราะห์หุ้น นั้นเเตกต่างกัน ซึ่งการวิเคราะห์หุ้นนั้นมองระยะยาว มองเรื่องเทรนด์ราคา กำไร เเเนวโน้มระยะยาวจะเป็นอย่างไร เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ข้อมูลข่าวสารที่ได้มานั้น ก็สามารถเอามาวิเคราะห์วิจัยได้ค่อนข้างละเอียด สามาถเผยเเพร่บทวิจัยได้ทั้งภาคเช้า ภาคบ่ายได้เลยทีเดียว

 ในขณะที่ข้อมูลกองทุนรวมส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลเก่า คือจะได้ข้อมูลมาเพียงเเค่เดือนละครั้งเท่านั้น ทำให้เราเผยเเพร่บทวิเคราะห์ได้เเค่เดือนละครั้งเช่นกัน ซึ่งทางเราจึงมีการสอบถามไปยัง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เช่นกันว่า ณ วันนี้พอร์ตการลงทุนยังเป็นเช่นเดิมอยู่หรือไม่

 "ข้อมูลการลงทุนของกองทุนหรือข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับลงทุนนั้นจะมีค่อนข้างน้อย บางครั้งทางเราก็ต้องการข้อมูลอื่นๆเช่น ข้อมูลการลงทุนในอนาคต ซึ่งก็เป็นไปได้ค่อนข้างยาก ทำให้การวิเคราะห์ของเราจึงมีการให้มุมมองของเราในเรื่องเศรษฐกิจไปด้วยว่า เรามีมุมมองต่อเรื่องเศรษฐกิจอย่างไร ลักษณะที่ผ่านมาในการบริหารส่วนใหญ่เป็นอย่างไร"ศุภมาส  กล่าว

 ขณะที่ สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล  Fund Analyst  กล่าวว่า การวิเคราะห์กองทุนรวม นั้นต้องมีมุมมองที่ค่อนข้างกว้าง ต้องรู้เรื่องตลาดโลก น้ำมัน ทองคำ หรือสินค้าคอมมอนิตี ตราสารนี้เป็นต้น ซึ่งข้อมูลจะค่อนข้างมากกว่าเพื่อที่ดูภาพเศรษฐกิจรวม ขณะเดียวกันข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนนั้นจะค่อนข้างน้อยกว่า ทำให้เราอับเดตได้ลำบากกว่า  หากเทียบกับทำงานอยู่ฝ่ายวิจัยที่เคยทำอยู่นั้นจะดูเฉพาะตลาดหุ้นไทยอย่างเดียว ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีก็จะมากกว่าอีกด้วย
สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล
 หลักวิเคราะห์กองทุน

 ศุภมาส  เล่าให้ฟังว่า หลักการวิเคราะห์กองทุนรวมเรามีอยู่ 2 หลักด้วยกันคือ" วิเคราะห์เชิงปริมาณ" Quantitative Analysis เเละ "วิเคราะห์เชิงคุณภาพ" Qualitative Analysis 

โดยหลักการวิเคราะห์เชิงปริมาณนั้น เราจะพิจารณาผลการดำเนินงานของกองทุน จาก 3 เดือน 6 เดือนเเละ 1 ปี ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะได้มาจากข้อมูลสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ที่จัดทำโดยลิปเปอร์ (Lipper) เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของเเต่ละประเภทของกองทุน

 กองทุนหุ้นจะเทียบกับผลตอบเเทนเเละผลการดำเนินงานเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่กองทุนตราสารหนี้จะให้น้ำหนักไปที่ความเสี่ยงด้านความผันผวน  เพราะนักลงทุนนั้นมีความคาดหวังว่า การลงทุนในตราสารหนี้จะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง จึงทำให้เราให้ความสำคัญกับพอร์ตการลงทุน ที่ต้องไม่หวือหวามากจนเกินไป เเละที่สำคัญการจัดอันดับเรทติ่งของตราสารหนี้ก็สิ่งที่เราใช้ประกอบการพิจราณาเช่นกัน

 ทั้งนี้ การจัดอันดับของกองทุนที่น่าลงทุนเราจะจัดเดือนละครั้ง ซึ่งจะจัดอันดับให้กับกองทุนทุกประเภท เเต่ของเราจะมีไม่เหมือนกับการจัดอันดับของ  ลิบเปอร์ Lipper หรือ มอนิ่งสตาร์ (Morning Star) ที่จะให้ 5 ดาว หรือ 4 ดาว โดยลักษณะที่เราจัดอันดับกองทุนขึ้นมาเพื่อที่เราจะดูคะเเนนของเเต่ละกลุ่ม ซึ่งบางกองทุนก็อาจจะอยู่ในอันดับ Top 5 หรือ Top 10 หรือบางครั้งก็ไม่ได้อยู่ในอันดับดังกล่าว เราก็จะใช้ข้อมูลในส่วนนี้ดูนี้ด้วย

 ส่วนการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ Qualitative Analysis  นั้น เราจะมองในเรื่องของสินทรัพย์ที่กองทุนได้ลงทุน มีความเสี่ยงมากน้อยเเค่ไหนหากเราจะเเนะนำให้ลูกค้าในช่วงเวลานั้น เเละที่สำคัญเราก็มีการสอบถามบลจ. ในเรื่อง เเนวโน้มกองทุน นโยบายการลงทุน ความคิดเห็นต่างๆ อีกด้วย ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้เราจะมีการสัมภาษณ์ผู้จัดการกองทุนให้มากขึ้นอีกด้วย

 นอกจากนี้ เรายังใช้ข้อมูลหรือข่าวสารที่เกี่ยวกับศรษฐกิจต่างๆทั้งในประเทศ เเละต่างประเทศ มาใช้ประกอบการวิเคราะห์ด้วย เช่น ตัวเลข GDP อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น ขณะเดียวกันเรามีการเเนะนำการลงทุน  Asset Allocation หรือ การจัดสรรหรือการจัดแบ่งประเภทสินทรัพย์ที่จะลงทุนในสัดส่วนต่าง ๆภายใต้วัตถุประสงค์ เป้าหมายผลตอบแทนการลงทุน ความเสี่ยงที่กำหนด ให้ด้วยซึ่งการจัดการลงทุนในรูปเเบบ เสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ ซึ่งเราจะเเนะนำว่าควรลงทุนในกองทุนประเภทไหนบ้าง
 เเนะการลงทุนครึ่งปีหลัง

 จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเป็นส่วนใหญ่ทั่วโลก คาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำในช่วง 12 เดือนข้างหน้า และการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน ถึงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2552 ส่วนใหญ่ เกิดจากมุมมองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และผลประกอบการของบริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งเรามองว่า การเข้าซื้อหุ้นในระยะดังกล่าวนี้ ไม่น่าจะคุ้มกับความเสี่ยงที่มองได้จากความผันผวนของราคาหุ้นทั่วโลกในแต่ละวัน

 รวมทั้งมองว่า ค่าเงินดอลลาร์ยังมีความผันผวนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยังส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างมาก จะเห็นได้จากราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พุ่งขึ้นอย่างมากจาก 60 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อ บาร์เรล เป็น68 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรล

  ในขณะที่สต๊อคน้ำมันในสหรัฐอเมริกายังบ่งชี้ถึงทิศทางของอุปสงค์โลกที่ลดลงราคาเป้าหมายที่สำคัญของราคาน้ำมันดิบที่คาดการณ์จากหลายฝ่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้อยู่ ที่ประมาณ 55-75 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ดังนั้นการทะยอยซื้อน้ำมันที่ราคา 55-60 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจึงน่าสนใจสำหรับการหาผลตอบแทนในปีนี้

 หรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เรามองว่าน่าจะรอการปรับฐานของราคาหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกก่อน ละจากภาพรวมทางเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวติดลบในปีนี้ เรามองว่ายังมีบางภูมิภาคหรือบางประเทศที่มีเศรษฐกิจโดดเด่น เช่น น อินเดีย และประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นทางเลือกในการลงทุนในตราสารทุน

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนของพอร์ตนอกเหนือจากการลงทุนในประเทศ ในกรณีนี้เรามองว่า Regional Fund หรือกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งที่มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โดดเด่นในปีนี้ และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีในปี2553 จึงเป็นคำตอบที่เหมาะสม
โดยการเลือกลงทุนในกองทุนต่างประเทศทั่วไปมีความเสี่ยงที่มากกว่าความเสี่ยงในการลงทุนในประเทศ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง อัตราแลกเปลี่ยน ที่แตกต่างจากในประเทศและนักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่คุ้นเคย เรา แนะนำการลงทุนในกองทุนต่าง ประเทศเป็นสัดส่วนประมาณ15-20%ของพอร์ตที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมดเ ช่น หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์

 ขณะที่กองทุนน้ำมัน และกองทุนทองคำ เรายังเลือกกองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมดเนื่องจากมอง ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกายังมีความผันผวนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาซึ่งยังติดลบในช่วงปีนี้

 สำหรับนักลงทุนที่รับได้ความเสี่ยได้น้อย ให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 30% จากในเดือนก่อนที่แนะนำ 50% ตราสารหนี้ 50%  จากเดิมเดือนก่อนที่แนะนำ 35% และ เงินสด/ตลาดเงิน 20% จากเดิมเดือนก่อนที่ 15% ทั้งนี้เพื่อรอเก็บสินทรัพย์เสี่ยง ในระยะของการปรับฐานในขณะที่เราเพิ่มน้ำหนักลงทุนในกองตราสารหนี้ และตลาดเงิน เพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงขาลง โดยเริ่มมองตลาดพันธบัตรในต่างประเทศ เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น

 ส่วนความเสี่ยงระดับปานกลาง แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 45%  จากเดิมแนะนำ ลงทุน 65%  ตราสารหนี้ 40% จากเดิมเดือนก่อนที่ 25% เงินสด/ตลาดเงิน 15%จากเดิม เดือนก่อนที่10%

สำหรับบนักลงทุนที่รับความเสี่ยงระดับสูง แนะนำลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 60% จากเดิมเดือนก่อนที่ 80% ตราสารหนี้ 30% จากเดิมเดือนก่อนที่ 15% และเงินสด/ตลาดเงิน 10% จากเดิมเดือนก่อนที่ 5%

 "ทีมงานFund SuperMart Analyst"  ให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า  อยากให้นักลงทุนเข้าใจความเสี่ยง เพราะบางกองทุนนั้นความเสี่ยงค่อนข้างเสี่ยงเกินกว่าที่นักลงทุนรับได้ จึงอยากให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลการลงทุน รู้จักสินทรัพย์ที่ไปลงทุน พร้อมกับติดตามพอร์ตการลงทุนสม่ำเสมอ  เเละอยากให้นักลงทุนจัดการลงทุนเเบบ Asset  Allocation ด้วย ซึ่งเรามองว่าการลงทุนในลักษณะดังกล่าว เป็นครื่องมือการลงทุนที่ช่วยให้นักลงทุนได้ผลตอบเเทนที่นักลงทุนต้องการ
กำลังโหลดความคิดเห็น