xs
xsm
sm
md
lg

กูรูเชียร์เก็บหุ้นจีน-อินเดียเข้าพอร์ต เมินหุ้นไทยเหตุศก.ไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศุภมาส พยัคฆพันธ์
โบรกกองทุนฯ แนะทยอบเก็บหุ้น "จีน-อินเดีย"เข้าพอร์ต ทั้งในปีนี้เเละปีหน้า หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ได้ผลดีเกินคาด มองหุ้นไทย ยังไม่น่าสนใจ เหตุเศรษฐกิจยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว เเนะกองทุน FIF ที่ให้น้ำหนักหุ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ น่าลงทุนมากที่สุด

นางสาวศุภมาส พยัคฆพันธ์ Fund Super Mart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป  (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวโดดเด่น โดยเฉพาะประเทศจีนและอินเดียทั้งในปีนี้และปีหน้า ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ก็เหมาะสำหรับเป็นทางเลือกในการลงทุนในตราสารทุน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนของพอร์ต นอกเหนือจากการลงทุนในประเทศ และในกรณีนี้เรามองว่า Regional Fund หรือกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ที่มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โดดเด่นในปีนี้และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีในปี 2553 เป็นคำตอบที่เหมาะสม
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจไทยซึ่งยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยกว่าในเชิงเปรียบเทียบ โดยกองทุนที่เราจะเเนะนำในช่วงไตรมาสที่ 3 นั้น เรายังคงให้น้ำหนักไปยังกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ได้เเก่ กองทุนเปิดอเบอร์ดีน เอเชีย แปซิฟิค เอคควิตี้ ฟันด์  ซึ่งโดยลักษณะของนโยบายการลงทุนสามารถเน้นการลงทุนในจีนและอินเดียได้

รวมทั้งสามารถกระจายการลงทุนหรือเปลี่ยนไปเน้นการลงทุนในประเทศอื่นๆที่มีแนวโน้มโดดเด่นในช่วงต่อไปได้ ซึ่งเท่ากับว่าความเสี่ยงของกองทุนนี้ต่ำกว่ากองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในประเทศเดียวหรือเพียงบางประเทศ และเหมาะสำหรับการลงทุนในระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป

 ขณะที่กองทุนต่างประเทศอีกกองหนึ่งที่เราแนะนำสำหรับการลงทุนในระยะ 6-12เดือน คือ กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในกลุ่ม BRIC ได้เเก่ บราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน หลังจากที่Morgan Stanley เริ่มมีการปรับเพิ่มคำแนะนำการลงทุนในตราสารทุนในบราซิลจาก จากน้ำหนักการลงทุนเท่าตลาด (market weight)เป็นน้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด (overweight)

เนื่องจากผลของการใช้จ่ายภาคเอกเชนในบราซิลที่มีทิศทางที่ดีขึ้น และจากโมเดลสำหรับการจัดอันดับเชิงปริมาณของเรา ขอแนะนำ กองทุนเปิดพรีมาเวสท์-อลิอันซ์ จีไอ บริค สตาร์ ฟันด์
ส่วนกองทุนน้ำมันและกองทุนทองคำที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมดนั้น เป็นกองทุนที่เราแนะนำ เนื่องจากเรามองว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นจะมีความผันผวนค่อนข้างมากเเละมีการคาดการณ์ล่วงหน้าค่อนข้างลำบาก
โดยกองทุนที่เเนะนำได้เเก่ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสออยล์ และกองทุนเปิดเคโกลด์ ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ในประเทศนั้นเราให้น้ำหนักกองทุนเปิดทหารไทยธนวัฒน์ ส่วนกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศเราแนะนำกองทุนเปิดธนชาติโกลบอล บอนด์ ฟันด์ นอกจากนี้ กองทุนรวมตลาดเงินที่น่าลงทุนได้เเก่ กองทุนเปิดกรุงศรี-พรีมาเวสท์ มันนี่มาร์เก็ตฟันด์ เเละกองทุนเปิดฟิลลิปบริหารเงิน

 นางสาวศุภมาส กล่าวอีกว่า  จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเป็นส่วนใหญ่ทั่วโลกคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำในช่วง 12 เดือนข้างหน้า การปรับขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน ถึงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2552 ส่วนใหญ่เกิดจากมุมมองต่อการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นและผลประกอบการของบริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งการเข้าซื้อหุ้นในระยะนี้ยังไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่มองได้จากความผันผวนของราคาหุ้นทั่วโลกในแต่ละวันรวมทั้งมองว่าค่าเงินดอลลาร์ยังมีความผันผวนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างมาก 
 
ขณะเดียวกัน จะเห็นได้จากราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพุ่งขึ้นอย่างมากจาก 60 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อ บาร์เรล เป็น 68 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรล ในขณะที่สต๊อคน้ำมันในสหรัฐอเมริกายังบ่งชี้ถึงทิศทางของอุปสงค์โลกที่ลดลงราคาเป้าหมายที่สำคัญของราคาน้ำมันดิบที่คาดการณ์จากหลายฝ่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้อยู่ ที่ประมาณ 55-75 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ดังนั้นการทะยอยซื้อน้ำมันที่ราคา 55-60 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจึงน่าสนใจสำหรับการหาผลตอบแทนในปีนี้ อย่างไรก็ตามการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงนั้นน่าจะรอการปรับฐานของราคาหุ้นส่วนใหญ่ทั่ว โลกก่อนและจากภาพรวมทางเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวติดลบในปีนี้ด้วย

 ทั้งนี้ การเลือกลงทุนในกองทุนต่างประเทศโดยทั่วไป มีความเสี่ยงที่มากกว่าความเสี่ยงในการลงทุนในประเทศ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง อัตราแลกเปลี่ยน ที่แตกต่างจากในประเทศและนักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่คุ้นเคย เราแนะนำการลงทุนในกองทุนต่างประเทศเป็นสัดส่วนประมาณ15-20%ของพอร์ตที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมด เช่น หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์

 "จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาซึ่งยังติดลบในช่วงปีนี้ เราได้ปรับลดคำแนะนำสำหรับการลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 30% ตราสารหนี้ 50% และ เงินสด/ตลาดเงิน 20% ทั้งนี้ เพื่อรอเก็บสินทรัพย์เสี่ยงในระยะของการปรับฐาน ในขณะที่เราเพิ่มน้ำหนักลงทุนในกองตราสารหนี้ และตลาดเงิน เพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงขาลง โดยเริ่มมองตลาดพันธบัตรในต่างประเทศ เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น ส่วนระดับความเสี่ยงปานกลางแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 45%ตราสารหนี้ 40% เงินสด/ตลาดเงิน 15% เเละความเสี่ยงระดับสูง แนะนำลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 60% ตราสารหนี้ 30%  และเงินสด/ตลาดเงิน 10%"นางสาวศุภมาสกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น