xs
xsm
sm
md
lg

2ยักษ์เอเชีย"จีน-อินเดีย" ประกาศศักดาพร้อมนำเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องบอกว่าขณะนี้ กลุ่มประเทศเกิดใหม่ ได้เข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดที่สุดขณะนี้ คงหนี้ไม่พ้น 4 ประเทศในกลุ่ม "BRIC" ซึ่งประกอบด้วย "บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน" ซึ่งทั้ง 4 ประเทศดังกล่าว แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโดยตรง แต่ผลกระทบทางอ้อมที่ได้รับ ก็อ่วมพอสมควร โดยเฉพาะการส่งออก ที่หดลงไปตามไปตามๆ กัน

ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ประเทศเกิดใหม่ทั้ง 4 ได้รับการจับตาว่า จะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น นั่นคือ สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งการที่ผลกระทบไม่มาก ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของตัวเอง ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนี้ฟื้นตัวก่อนใครในโลก เป็นไปได้มากทีเดียว

และถือเป็นความหวังของชาวเอเชีย ที่ 2 ใน 4 ของกลุ่ม "BRIC" นั่นคือ อินเดีย และจีน มีแนวโน้มฟื้นตัว...เพราะในระยะต่อไปแล้ว จะมีส่วนช่วยดึงเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาค ฟื้นตัวตามไปด้วย...แต่ตอนนี้ หลายคนคงอยากทราบว่า แล้วช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางปัจจัยลบ ปัจจัยบวกต่างๆ นานา ทั้ง 2 ประเทศนี้ ฝ่าฝันมาได้อย่างไรบ้าง ซึ่งจะส่งผลถึงอนาคตของ 2 ประเทศนี้อย่างไรบ้าง...บลจ.ทิสโก้ ได้สรุปเอาไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

ตลาดหุ้น"จีน-อินเดีย"ไตรมาส2
บลจ.ทิสโก้ รายงานว่า ในช่วงไตรมาส 2/52 ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะตลาดหุ้นในเอเชีย นำโดยตลาดหุ้นในจีน และอินเดีย ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากความมั่นใจของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในช่วงปลายปีนี้ หรืออย่างช้าในปี 2553 โดยในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐพยายามที่จะสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนโดยการทำการทดสอบความเครียด (Stress Test) ต่อธนาคารขนาดใหญ่ 19 แห่งในสหรัฐ เพื่อประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนในการรับมือกับสภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐและของโลก โดยมีผลสรุปว่าธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐต้องการเงินทุนเพิ่มเพียง 7.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้นักลงทุนเริ่มคลายความกังวล

ในขณะเดียวกันสถาบันการเงินในสหรัฐเริ่มที่จะมีการรายงานผลกำไรในช่วงไตรมาส 1/52 และสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่งในสหรัฐ เริ่มคืนเงินกู้ที่กู้รัฐบาลผ่านโครงการ TARP Fund และสามารถที่จะระดมเงินผ่านตลาดทุนได้ด้วยตัวเอง ประกอบกับสหรัฐได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายทางด้านการเงินและการคลัง ซึ่งรวมถึงการทยอยลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง (Quantitative Easing Policy) ทำให้สถานการณ์ในสหรัฐเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น นักลงทุนเริ่มมองหาสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ทำให้เริ่มมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรสหรัฐออกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้น

ทั้งนี้ หุ้นในเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดียมีความโดดเด่นที่สุด เนื่องจากยังคงมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง โดยจีนและอินเดียคาดหมายว่าจะมีอัตราการเติบทางเศรษฐกิจที่ระดับ 7%-8% และ 5%-6% ตามลำดับ ในปี 2552 ขณะที่สหรัฐและยุโรปมีการคาดหมายว่าจะหดตัวทางเศรษฐกิจในระดับ 2%-3%

จีนประกาศศักดา
สำหรับดัชนีหุ้นจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกง (HSCEI)...
ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ได้มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างโดดเด่น โดยเพิ่มขึ้นจาก 8070.13 จุด มาปิดที่ระดับ 10962.61 จุด หรือปรับตัวสูงขึ้นถึง 36% ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการที่นักลงทุนเชื่อว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ผ่านพ้นไปแล้ว และกำลังจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในเอเชีย โดยเชื่อว่าเอเชียยังคงสามารถที่จะเติบโตได้ดีท่ามกลางการหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก ทั้ง สหรัฐฯและยุโรป

โดยจีนแสดงให้โลกเห็นว่ายังสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างโดดเด่น อีกทั้งยังแสดงถึงศักยภาพของรัฐบาลจีนในการผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจของตัวเองไม่ให้ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลกมากนัก โดยหลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้าน ๆ หยวน และประกาศเป้าหมายในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 8% ในปีนี้ จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองสูง ทำให้สามารถที่จะผลักดันโครงการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถใช้มาตรการลดหย่อนทางด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของจีนที่ได้มีการประกาศออกมาก็สามารถที่จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและสอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตของรัฐบาลจีน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2552 จีนได้พยายามผลักดันการลงทุนและการบริโภคในประเทศ ทั้งนี้เพื่อทดแทนภาคส่งออกซึ่งหดตัวลงมากกว่า 20% ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่สำคัญและประกาศออกมาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้
• GDP ในไตรมาส 1/52 เพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
• ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว โดยในไตรมาส 2/52 จีนปล่อยสินเชื่อใหม่สูงถึง 2.8 ล้านล้านหยวน
• ดัชนีการสั่งซื้อสินค้าในภาคการผลิต (PMI) ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 53.2 จุด (เกินระดับ 50 จุด หมายความว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว)
• ยอดค้าปลีกยังคงเติบโตในระดับสูง โดยในเดือน พ.ค. ล่าสุดเติบโต 15% จากเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว
• ยอดการผลิตปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 9% YoY ในเดือน พ.ค. 2552
• ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ภาคการลงทุน (Fixed Asset Investment) สูงขึ้นอย่างมาก โดยปรับตัวสูงขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
• เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เงินเฟ้อ (CPI) ของจีนในเดือนล่าสุด (พ.ค.) ปรับลดลง 1.4%

การเมืองอินเดียหนุนศก.ขยายตัว
...นอกเหนือจากประเทศจีนที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นท่ามกลางการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ประเทศอินเดียก็ถือว่าเป็นอีกประเทศที่คาดว่าจะยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในปี 2552 โดยในไตรมาส 1/52 ที่ผ่านมา อินเดียได้ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงถึง 5.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/51 แม้ว่าภาคส่งออกจะหดตัวลงมากกว่า 30% ในช่วงปีนี้ แต่ภาคส่งออกของอินเดียคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ของประเทศค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย จึงทำให้มีผลกระทบค่อนข้างน้อย

ขณะที่แนวโน้มการปรับตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียคาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมชนะการเลือกตั้งในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม โดยได้ที่นั่งในสภามากขึ้นกว่าเดิม และทำให้รัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้รัฐบาลสามารถที่จะผลักดันการปรับโครงสร้างในเชิงมหภาค การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลงทุน

โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากปัจจัยหลัก ๆ ที่ได้กล่าวมา บวกกับการที่มีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรสหรัฐที่ปลอดความเสี่ยงเพื่อเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงรวมทั้งตลาดหุ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย เพื่อมุ่งแสวงหาผลตอบแทนหลังจากที่นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น ทำให้ ดัชนี BSE Sensex ปรับตัวสูงขึ้นสูงถึง 51% ในช่วงไตรมาส 2/52 จาก 9708.50 จุด มาปิดที่ระดับ 14493.84 จุด ทั้งนี้ตลาดหุ้นอินเดียถือได้ว่าเติบโตอย่างร้อนแรง และ outperform มากกว่าประเทศเอเชียอื่น ๆ รวมทั้งประเทศจีน ทั้งนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดียในช่วงที่ผ่านมาได้สรุปไว้ดังนี้
• GDP ไตรมาส 1/52 เติบโต 5.8% YoY เท่ากับไตรมาส 4/51
• ยอดการผลิต (Industrial Production) ในเดือนล่าสุด (พ.ค. 52) เติบโต 2.7% YoY หรือ 4.6% MoM. เป็นครั้งแรกที่เติบโตเกิน 2% ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา
• ยอดส่งออกหดตัว 29% YoY ในเดือนพ.ค. 2552 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน เม.ย. 2552 ที่หดตัว33% YoY ยอดนำเข้าหดตัวในอัตราที่สูงกว่า โดยหดตัว 39% YoY โดยมียอดขาดดุล 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
• ยอดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 1/52 เกินดุล 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับการขาดดุลถึง 13 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสก่อนหน้า
• ดัชนีการสั่งซื้อสินค้าในภาคการผลิต (PMI) ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.3 จุด
• ในช่วงไตรมาส 2/52 ธนาคารกลางของอินเดียยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 3.25%


กำลังโหลดความคิดเห็น