xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะการลงทุนในตลาดทุนที่ผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : Design Your Life by Mutual Fund
บริษัทหลักทรัพย์จัดกองทุน ธนชาต จำกัด
โทร 02-126-8300
www.thanachartfund.com


ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซา รัฐบาลได้พยายามออกมาตราการต่างๆเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบกับการลงทุนทั้งตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารทุน โดยภาวะการลงทุนในตลาดตราสารหนี้เดือนกรกฎาคมยังคงผันผวน แต่โดยรวมแล้วตลอดทั้งเดือนนับว่าปรับตัวดีขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในตลาด ตราสารหนี้มากขึ้น เนื่องจากเห็นความชัดเจนเรื่องปริมาณพันธบัตรที่จะออกใหม่หลังการประกาศตารางประมูลพันธบัตรรัฐบาลไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 และคาดว่าหากรัฐบาลต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็น่าจะออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้แก่ประชาชนทั่วไป เพราะพันธบัตรออมทรัพย์ “ไทยเข้มแข็ง” ที่ได้ออกไปแล้ว ได้รับการตอบรับอย่างมากจนเพิ่มวงเงินเป็น 8 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและอุปทานพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้มากนัก สำหรับผลตอบแทน (Return) ของตลาดตราสารหนี้ วัดจากดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Index) ในเดือนก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.82% โดยดัชนีมี Duration เฉลี่ย 5.41 ปี ทำให้แนวโน้มการลงทุนในตลาดตราสารหนี้เริ่มทรงตัวได้บ้าง แต่อาจมีความผันผวนไปตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างตลาดหุ้นและตลาด ตราสารหนี้และการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งจะผันผวนไปตามตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศออกมา

ในส่วนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนก.ค. ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 26.52 จุด หรือ 4.44% มาอยู่ที่ 624.00 จุด จากสิ้นเดือนมิ.ย. โดยในระหว่างเดือนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับฐานลดลงไปถึงระดับต่ำสุดที่ 560 จุด สำหรับปัจจัยหลัก ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุน คือ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ทยอยประกาศออกมาส่งสัญญาณการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง รวมถึงผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ที่ประกาศออกมาดีกว่าที่คาดการณ์กันไว้มาก ทำให้สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น แม้ว่าสัญญาณเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปรวมถึงอังกฤษยังไม่ค่อยดีนัก แต่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียนั้นสามารถฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะจีนที่ยังคงวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้ 8% ในปีนี้ และ 10% ในปีหน้า สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดประมาณการ GDP เป็น –4.5% ถึง –3.0% จากเดิม -3.5% ถึง -1.5% ในปีนี้ และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.0% ถึง 5.0% จากเดิม 1.5% ถึง 3.5% ในปีหน้า เนื่องจากการชะลอตัวลงของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แม้จะได้ปัจจัยหนุนจากการลงทุนของภาครัฐและการส่งออกที่น่าจะฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในปีหน้าตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่วนผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มทยอยประกาศออกมาแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงินนั้นดีกว่าที่คาดเล็กน้อยและเห็นสัญญาณบวกของการฟื้นตัวของสินเชื่อที่เริ่มขยับตัวดีขึ้น ตลอดทั้งเดือนนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิอีก 9,040 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 2,922 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 6,118 ล้านบาท

ในระยะสั้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโอกาสที่จะเริ่มผันผวนมากขึ้น จากสภาพคล่องของระบบการเงินโลกที่ไหล เข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามราคาหุ้นได้สะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไปมากพอควร ปัจจุบัน P/E ของตลาดหุ้นปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12 เท่า แล้ว ซึ่งอาจเผชิญแรงเทขายทำกำไรเป็นระยะๆ ได้ ดังนั้นผู้ลงทุนควรมีการศึกษาข้อมูลข่าวสารต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะสามารถจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้ เนื่องจากสินทรัพย์แต่ละประเภทไม่ว่าจะเป็นประเภทตราสารหนี้ หรือ ตราสารทุนจะมีระดับความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกัน

หากท่านสนใจและมองหาทางเลือกออม เชิญมาพบกับเทศกาลการออมด้วยกองทุนรวมในงาน Mutual Fund Fair: ตลาดนัดกองทุนรวม วันที่ 20-23 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00-20.00 น. ชั้น M สยามพารากอน

กำลังโหลดความคิดเห็น