xs
xsm
sm
md
lg

นานาชาติหวั่นจีนมีวาระซ่อนเร้น รุมต้านการลงทุนในทรัพยากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี – การที่ริโอ ทินโต บริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลีย ประกาศยุติการเจรจาขายหุ้นให้ไชนาลโค ถือเป็นบทเรียนที่จีนต้องนำกลับมาทบทวนถึงจุดยืนของแผนการลงทุนในต่างประเทศ

ระหว่างที่ นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ เดินทางเยือนจีน เขาพยายามพูดให้รัฐบาลจีนมั่นใจอยู่หลายครั้งว่าการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯไม่มีความเสี่ยงใดๆ แต่ในเวลาใกล้เคียงกัน บริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ในออสเตรเลีย ริโอ ทินโต กลับบอกปัดการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของไชนาลโค รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตโลหะของจีน แม้ว่าริโอฯ จะได้เงินถึง 19,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นค่าหุ้นและสามารถนำไปปลดหนี้ได้ก็ตาม

บริษัทริโอฯ กล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้ยืนอยู่บนเหตุผลทางธุรกิจล้วนๆ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ ของออสเตรเลีย ยืนยันว่าออสเตรเลียยังคงเปิดรับการลงทุนจากจีน ซึ่งคำยืนยันนี้ถือเป็นเรื่องจริง เพราะในปีนี้รัฐบาลออสเตรเลียได้อนุมัติให้บริษัทของจีนเข้าไปลงทุนในออสเตรเลียแล้วหลายโครงการ และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ

โดยไตรมาสแรกของปีนี้ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนที่มีอยู่ในออสเตรเลียได้เพิ่มเป็น 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปีที่แล้วที่มีมูลค่าลงทุน 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจาก รัฐบาลจีนได้วางยุทธศาสตร์ให้บริษัทรัฐวิสาหกิจขยายการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ถือว่าจำเป็นต่อการสร้างชาติจีนให้กลายเป็นชาติอุตสาหกรรม
ทอม อัลบาเนส ซีอีโอของริโอ ทินโต
แต่ดูเหมือนว่าประเทศจีนที่มีกระเป๋าตุง จะเป็นที่ยินดีต้อนรับให้เป็นเพียงผู้ซื้อบริษัทที่กำลังจะเจ๊งเท่านั้น ดังเช่นบริษัทจีเอ็มที่ล้มละลายแล้ว ได้ประกาศออกมาอย่างยินดีว่ากำลังเจรจาขายส่วนการผลิตรถยนต์ฮัมเมอร์ให้แก่บริษัทเถิงจงของจีนที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก

หรือกรณีของริโอ ทินโต ที่ได้เจรจากับไชนาลโคให้เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในขณะที่ริโอฯ ไม่มีความหวังอื่น แต่หลังจากนั้นราคาหุ้นของริโอฯ ได้กระเตื้องขึ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บริษัทเหมืองแร่ริโอฯ หันไปใช้การระดมทุนด้วยวิธีอื่น นั่นคือการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ 15,200 ล้านเหรียญ และจะร่วมทุนกับคู่แข่งรายสำคัญที่เคยขอซื้อริโอฯ อย่าง BHP Billiton ซึ่งจะทำให้ได้ทุนมาอีก 5,800 ล้านเหรียญ

“พัฒนาการเช่นนี้จะทำให้บริษัทจากจีน โดยเฉพาะบริษัทด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับบทเรียนว่า พวกเขาอาจต้องใช้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่เงินเพียงอย่างเดียว เพื่อเปิดประตูเจรจากับบริษัทในต่างประเทศ” นั่นคือความเห็นจาก แอนโทนี ดาพิรัน จากสำนักงานกฎหมายเฟรชฟิลด์ บรุ๊คเฮ้าส์ เดริงเงอร์ ในเซี่ยงไฮ้

อย่างไรก็ตาม จีนเคยได้รับบทเรียนคล้ายกับกรณีของริโอ ทินโต มาแล้ว โดยในปี 2548 บริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีน เคยเสนอซื้อกิจการบริษัทน้ำมันยูโนแคลในแคลิฟอร์เนีย แต่ก็ต้องล้มเหลวเนื่องจากถูกคัดค้านในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ หรือกรณีที่มินเมทัลซึ่งเป็นรัฐวิสหากิจเหมืองแร่ของจีน เคยล้มเหลวมาแล้วในการเสนอซื้อกิจการของโนแรนด้า บริษัทเหมืองนิเกิ้ลของแคนนาดา เนื่องจากบรรดาคนงานของบริษัทไม่พอใจปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน

เคน เดวีส์ จากองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนาในปารีส ให้ความเห็นว่า การปกป้องการลงทุนถือเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ แต่จีนกลับไม่กังวลในเรื่องนี้

ขณะที่ประเทศแถบแอฟริกาต่างปูเสื่อต้อนรับการลงทุนจากจีน แต่หลายๆ ประเทศกลับสงสัยว่าทำไมบริษัทของจีนที่มาลงทุนในต่างประเทศจึงเป็นรัฐวิสาหกิจเสียส่วนใหญ่ และทำให้เกิดความกลัวว่า การที่จีนเข้าไปลงทุนในต่างประเทศจะไม่ใช่เรื่องของธุรกิจการค้าธรรมดาเท่านั้น

ซึ่งเรื่องนี้ เดวิด เคลลี่ ศาสตราจารย์ด้านจีนศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีในซิดนีย์ แสดงความเห็นด้วย และยังว่า บริษัทจากจีนคงต้องพยายามให้หนักขึ้น เพื่อให้คนเห็นว่าบริษัทเหล่านั้นไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐบาล โดยบอกว่า “ผู้คนยังไม่ไว้วางใจสถาบันจากจีนมากนัก”

ขณะที่ผู้บริหารธุรกิจและนักวิเคราะห์ เห็นว่า ทางการจีนคงต้องพยายามให้หนักขึ้นเพื่อจะได้ชนะใจชาวตะวันตก และสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการเปิดภาคส่วนธุรกิจที่ทางจีนเห็นว่ามีความอ่อนไหวทางการเมือง เพื่อให้มีการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง

นับแต่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2544 จีนสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้ถึงสัปดาห์ละ 1,250 ล้านเหรียญ แต่ผู้บริหารธุรกิจจากฝั่งตะวันตกได้ร้องเรียนว่า จีนยังปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศในบางภาคส่วนธุรกิจ และเปิดโอกาสให้บริษัทภายในประเทศพัฒนาเทคโนโลยีจากคู่แข่ง โดยธุรกิจที่จีนถูกร้องเรียนว่ามีการเลือกปฏิบัติก็คือ รถไฟความเร็วสูง และพลังงานลม
กำลังโหลดความคิดเห็น