กระแสชาตินิยมถูกปลุกเร้าขึ้นมาอีกครั้งบนถิ่นมังกร เมื่อนักวิชาการกลุ่มหนึ่งออกหนังสือ ชื่อว่า “อันแฮปปี้ ไชน่า” (Unhappy China) หรือ “จีนทุกข์” วางหราบนแผงหนังสือ และขายหมดเกลี้ยงในเวลาอันไม่นาน
หนังสือก่อให้เกิดการถกเถียงในหมู่ชาวจีนเกี่ยวกับความรักชาติ และบทบาทของจีนบนเวทีโลก แต่ดูท่าแล้ว คงยั่วเลือดรักชาติไม่ขึ้น เพราะเสียงตอบรับจากผู้อ่านจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นในหนังสือ
“อันแฮปปี้ ไชน่า” รวบรวมข้อเขียนของนักวิชาการ 5 คน ซึ่งเห็นว่าจีนนั้นยอมโลกตะวันตกมากเกินไปแล้ว แต่โลกตะวันตกกลับเป็นปรปักษ์
หนังสือแสดงเหตุผลให้เห็นว่า จีนจำเป็นต้องใช้อำนาจ ที่เติบโต และแหล่งทรัพยากรเศรษฐกิจของตน สร้างฐานะของประเทศให้เด่นเหนือกว่าตะวันตก
“เมื่อดูจากประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรมมนุษย์ เรามีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด ที่จะเป็นผู้นำโลก ส่วนชาวตะวันตกควรเป็นรอง” หนังสือระบุ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เขียนเจาะจงประณามอเมริกาเป็นพิเศษ โดยกล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ช่วยสนับสนุนเนื้อหาของหนังสือ ซึ่งมุ่งสื่อสารไปยังกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวจีนส่วนใหญ่
“ปัญหาเศรษฐกิจนี้แสดงให้ชาวจีนเห็นว่าอเมริกามีปัญหาอย่างแท้จริง และสิ่งที่เรากำลังพูดถึงเป็นเรื่องถูกต้อง” หวัง เสี่ยวตง ให้สัมภาษณ์ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันศุกร์ (27 มี.ค.) ร่วมกับผู้เขียนอีก 3 คน คือหลิว หยาง, ซ่ง เฉียง และหวง จี้ซู ส่วนนักเขียนคนที่ 5 ได้แก่ซ่ง
เสี่ยวจวิน
“อันแฮปปี้ ไชน่า” ทำยอดขายทะลุเป้า โดยออกวางแผงครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ทั้งหมด 270,000 เล่ม และหลายร้านขายหมดเกลี้ยง ขณะที่ Dangdang.com. ผู้ค้าปลีกออนไลน์ชั้นนำ จัดให้อยู่ในกลุ่มหนังสือติดอันดับยอดขายร้อนแรง
ทว่าเสียงตอบกลับมามากมายไม่โดนใจหนังสือเล่มนี้ ซึ่งสะท้อนว่าความเห็นเกี่ยวกับความรักชาติของชาวจีนในปัจจุบันมีความซับซ้อนเสียแล้ว
บทวิจารณ์หลายชิ้นตามสื่อมวลชนของจีนเย้ยว่า ก็แค่ต้องการหาเงินเข้ากระเป๋า โดยหากินกับความรู้สึกรักชาติของผู้คน
เป็นวิธี “ตกเงินจากกระเป๋าคนหนุ่มสาว และผู้ใหญ่ ที่โกรธแค้น” นักวิจารณ์คนหนึ่งเขียนลงในไชน่า ยูท เดลี่ หนังสือพิมพ์ชั้นนำของรัฐ
ส่วนบทความภาษาอังกฤษอีกชิ้นของสำนักข่าวซินหัวระบุว่า หนังสือไม่สามารถทำให้ชาวจีนทั่วไปเห็นชอบด้วย พร้อมกับอ้างคำวิจารณ์ของบล็อกเกอร์และนักวิชาการหลายราย ซึ่งพูดถึงความรักชาติของหนังสือเล่มนี้ว่า น่าอับอาย และไม่สร้างสรรค์
ผู้เขียน“อันแฮปปี้ ไชน่า” ยังปฏิเสธวิธีการ ที่บรรดาผู้นำจีนนำมาใช้กับสหรัฐฯ เช่น กรณีนายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า แสดงความไม่พอใจอเมริกา โดยใช้วิธีตำหนิในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอสเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมาว่า อเมริกา เป็นผู้ก่อวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น หรือกรณีเจ้าหน้าที่จีน และชาติตะวันตกเรียกร้องนานาชาติให้ร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อช่วยฉุดเศรษฐกิจโลกออกจากภาวะซบเซา
นอกจากพร่ำพูดถึงความขุ่นแค้นต่ออเมริกา นับตั้งแต่เรื่องนโยบายการเงิน ซึ่งอาจทำให้มูลค่าพันธบัตรสหรัฐฯ ที่จีนถือครอง ลดลง ไปจนถึงเรื่องที่สหรัฐฯ สนับสนุนไต้หวันแล้ว หนังสือยังให้ข้อเสนอแนะมากมายแก่รัฐบาล เช่น ควรให้จีนพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ และสร้างเสริมแสนยานุภาพกองทัพ
ผู้เขียนออกอาการไม่พอใจบรรดาผู้นำการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมากอีกด้วย
“ผมหมดสิ้นความหวังทั้งมวลในพวกผู้นำชั้นสูงของจีนไปแล้วเรียบร้อย” หวังกล่าว
นักวิชาการเหล่านี้มองเหตุการณ์ที่คนหนุ่มสาวชาวจีนเดินขบวนประท้วงกรณีชาติตะวันตกวิจารณ์การดำเนินนโยบายต่อทิเบตของจีน และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งเมื่อปีที่แล้วว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก
“อเมริกาจะเผชิญหน้ากับจีน ที่มีความเป็นมิตรน้อยลงในอนาคต” หวังกล่าว
แปลและเรียบเรียงจาก “Book Stokes Nationalism in China” ของ
ซู่ เฟิงในหนังสือพิมพ์ ดิ เอเชียน วอลล์ สตรีต เจอร์นัล