xs
xsm
sm
md
lg

ความสำคัญของวัฎจักรเศรษฐกิจต่อการตัดสินใจลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ จับชีพจรการลงทุน
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล
CFA, ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสวีบี ควอนท์ จำกัด

วัฎจักรธุรกิจหรือวัฎจักรเศรษฐกิจ (Business Cycle or Economic Cycle) ได้แก่รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product) ในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงด้วยกันคือ

1.ช่วงขยายตัว (Expansion)
ในช่วงนี้เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการจ้างงานอย่างมาก ดังนั้นอุปสงค์ของอาหาร เครื่องใช้ต่างๆและการบริการเพิ่มมากขึ้นจนอุปทานมีไม่เพียงพอ ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าวเริ่มจะทำให้สินค้าต่างๆมีราคาเพิ่มสูงขึ้นหรือเงินเฟ้อนั่นเอง

2.ช่วงจุดสูงสุด (Peak)
ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ลูกจ้างจะร้องขอเงินค่าจ้างมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นไปอีก (Upward Spiral Effect)

3.ช่วงหดตัวหรือถดถอย (Recession)
เมื่อราคาสินค้าแพงเกินไป อุปสงค์จะเริ่มหยุดชะงักเมื่อบริษัทและผู้บริโภคหยุดการใช้จ่าย เมื่ออุปสงค์หดตัว ภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายโดยการเลิกจ้าง

4.ช่วงจุดต่ำสุด (Trough)
อุปสงค์ที่ลดลงทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องลดราคาสินค้าลงมา เงินเฟ้ออาจจะติดลบ GDP ติดลบ และการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเมื่อสถานการณ์ต่างๆดีขึ้นแล้ว ราคาสินค้าและบริการที่ถูกลงจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ให้กลับมา และนำกลับไปสู่ช่วงการขยายตัวอีกครั้งหนึ่ง

เราสามารถระบุว่าอยู่ในจุดใดของวัฎจักรก็จากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ อาทิเช่น
- ตัวเลขการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการขอรับเงินสวัสดิการการว่างงาน
- ปริมาณผลผลิตที่ผลิตได้ในภาคอุตสาหกรรม
- ยอดขายของภาคธุรกิจที่สำคัญๆ อาทิเช่น อสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง สินค้าคงทนและยอดค้าปลีก
- ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างเช่น น้ำมัน โลหะ ทองคำ และสินค้าเกษตร
- อัตราดอกเบี้ย และเส้นอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield Curve)

(Yield Curve หมายถึงการพลอตกราฟของอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเหมือนกันในอายุตราสารหนี้ต่างๆ โดยทั่วไปนักลงทุนควรจะได้ผลตอบแทนมากขึ้นหากลงทุนนตราสารหนี้ที่มีอายุยาวนานกว่า เพราะการถือครองตราสารหนี้อายุ 10 ปีย่อมมีความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารจะเบี้ยวหนี้มากกว่าตราสารอายุ 1 ปี)

ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตขยายตัวขึ้น ธนาคารกลางมักจะพยายามควบคุมความเสี่ยงเงินเฟ้อโดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในทางตรงกันข้าม ในภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขาลง ธนาคารกลางจะเน้นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องเงินเฟ้อโดยการใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบผ่อนคลายมากขึ้น

อัตราดอกเบี้ยและเส้นอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ (Yield Curve) มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกช่วงวัฎจักรธุรกิจและการขึ้นลงของตลาดหุ้น ดอกเบี้ยที่แพงขึ้นทำให้ภาระการกู้เงินของบริษัทและคนทั่วไปเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนเงินที่จะนำมาใช้จ่ายและลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลต่อการเคลื่อนไหวเงินลงทุนด้วยโดยจะดึงดูดให้นักลงทุนซื้อตราสารหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าตราสารทุน

วัฎจักรเศรษฐกิจจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงการลงทุนด้วย ตัวอย่างเช่น ราคาหุ้นที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมักเป็นตัวสะท้อนความเชื่อของนักลงทุนว่าเศรษฐกิจกำลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้น หรือการลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้กระแสเงินสดที่คงที่เหมาะกับภาวะเศรฐกิจที่ย่ำแย่ที่การลงทุนในสินทรพย์เสี่ยงมีแนวโน้มที่จะให้อัตราผลตอบแทนที่ลดลง

วัฎจักรธุรกิจโดยธรรมชาติแล้วจะเข้าสู่ช่วงต่างๆเป็นวงจร แต่ปัญหาที่สำคัญคือเมื่อวงจรดังกล่าวไม่ได้หมุนเวียนไปโดยปกติอาจก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนาอย่างเช่น ในภาวะฟองสบู่แตก ซึ่งเกิดภายหลังจากที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากเกินไป หรือในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานแต่เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางได้เพราะมีปัญหาสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน

ความสามารถในการวิเคราะห์ว่า ณ ปัจจุบัน เราอยู่ในช่วงใดของวัฎจักรธุรกิจและการระบุให้ได้ถึงการเปลี่ยนทิศทางวัฎจักรเศรษฐกิจจะช่วยนักลงทุนอย่างมากในการมองหาโอกาสการลงทุนที่ถูกต้องกับภาวะนั้นๆ อย่างไรก็ดี สิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยากมากที่สุดที่แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยังทำนายผิด หลังจากเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจทั่วโลกเมื่อกลางปี พ.ศ. 2551 เราได้เข้ามาสู่ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและถดถอยมาประมาณ 1 ปีแล้วและกำลังรอที่จะฟื้นตัว ความสามารถในการระบุจุดเวลาของการเริ่มต้นของการขยายตัวจะช่วยให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุน ณ จุดเริ่มต้นของภาวะตลาดหุ้นขาขึ้นหรือตลาดกระทิง (Bull Market) ได้ ซึ่งจากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาพบว่าสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้อย่างมากเลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น