xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรวมยุคผลัดใบ "เปลี่ยนแปลง"เพื่อ"เติมเต็ม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉัตรพี ตันติเฉลิม ระธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อยุธยา
กระข่าวในวงการกองทุนรวมตอนนี้ มีเรื่องให้ติดตามหลายๆ เรื่องที่เดียว แต่ที่เด่นๆ ในขณะนี้ คงหนีไม่พ้น การโยกย้ายเก้าอี้ผู้บริหาร และกระแสการควบรวมกิจการ ซึ่งเกิดขึ้นล่าสุด สดๆ ร้อนๆ ระหว่าง บลจ.อยุธยา และ บลจ.พรีมาเวสท์ บริษัทจัดการกองทุนที่อยู่ในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา

เริ่มต้นกันที่ กระแสข่าวการโยกย้ายเก้าอี้ผู้บริหารกันก่อน...ต้องบอกว่าประเด็นนี้ ทุกอย่างเริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ผ่านมามีแค่กระแสข่าวเท่านั้น...เริ่มต้นกันที่ เก้าอี้ผู้บริหารบลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งชัดเจนไปแล้ว ด้วยการเข้ามาของ "โชติกา สวนานนท์"...ซึ่งประเด็นนี้เอง เป็นสาเหตุให้เก้าอี้ผู้บริหาร บลจ.ทหารไทยว่างลง และเป็นที่มาของกระแสข่าวการเข้ามาของ "สมจินต์ ศรไพศาล" กรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ คนปัจจุบัน

แต่ความชัดเจนของเก้าอี้เอ็มดี บลจ.ทหารไทย น่าจะสรุปได้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า "สมจินต์ ศรไพศาล" ได้ตบปากรับคำเชิญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับกระแสข่าวการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของ บลจ.วรรณ...ซึ่งขณะนี้ บล.เคจีไอ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ กำลังดำเนินการ

พูดถึงเก้าอี้ผู้บริหารแล้วขอต่อให้จบ เพราะตอนนี้ ยังมีอีก 2 -3 บลจ.ที่อยู่ในช่วงสูญญากาศ เพราะเก้าอี้ผู้บริหารยังว่างอยู่...เริ่มต้นกันที่ บลจ.อเบอร์ดีน ซึ่งหลังจาก "โรเบิร์ต เพนนาลโซา" ขึ้นมาเป็นซีอีโอได้ไม่นาน ก็ห่างหายจากวงการไปพักใหญ่ ไม่ค่อยเจอหน้าคาดตาตามงานอย่างสมัยก่อน จนล่าสุด มีข่าวว่า โรเบิร์ต ได้ย้ายไปประจำที่สิงคโปร์ ได้ซักพักแล้ว…

สำหรับบลจ.น้องใหม่อย่าง บลจ.แมนูไลฟ์ ขณะนี้ก็อยู่ในช่วงสูญญากาศ เพราะหลังจาก "อลัน แคม" โบกมือลาไป ก็ยังหาผู้บริหารคนใหม่มาแทนไม่ได้ เช่นเดียวกับ บลจ.ซีมิโก้ หลังจากเปลี่ยนผู้บริหารมาแล้วหลายคน ล่าสุด กับ "กิตติโชต จิตต์สดศรี" ที่บ้ายบายไป เพราะปัญหาสุขภาพ จนถึงวันนี้ ก็ยังหาผู้บริหารคนใหม่ไม่ได้ แต่ก็มีกระแสข่าวออกมาว่า ขณะนี้ บริษัทแม่อย่าง บล.ซีมิโก้ กำลังถอดใจ พร้อมกับออกมายอมรับว่า ไม่เชี่ยวชาญเรื่องนี้จริง ดังนั้น อนาคตของ บลจ.ซีมีโก้ จึงเป็นอีกหนึ่ง บลจ.ที่น่าจับตามมอง

กลับมาเข้าเรื่อง กระแสการควบรวมกิจการ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้กันต่อ...

ต้องบอกว่า อุบเงียบจริงๆ สำหรับการควบรวมระหว่าง บลจ.อยุธยา และบลจ.พรีมาเวสท์...โดยวานก่อน (24 มิ.ย.) ธนาคารกรุงศรีฯ ได้อนุมัติให้ บลจ. อยุธยา เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นทั้งหมดของ บลจ.พรีมาเวสท์

โดยการซื้อขายครั้งนี้ บลจ. อยุธยา จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดใน บลจ. พรีมาเวสท์ ซึ่งถือหุ้นโดย บริษัท บีบีทีวี เอ็คควิตี้ จำกัด ในสัดส่วน 50.5% บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 39.5% และอีก 10% ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในราคา 101 ล้านบาท พร้อมปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น บลจ. อยุธยา ให้บริษัท บีบีทีวี เอ็คควิตี้ จำกัด และ บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมถือหุ้น ในสัดส่วนประมาณ 13% และ 10% ตามลำดับ โดย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บลจ. อยุธยา ในสัดส่วนประมาณ 77%

ซึ่งเรื่องนี้ "ตัน คอง คูน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า “การจัดโครงสร้างของบริษัทในกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจจัดการกองทุนรวมของธนาคาร และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้มีความประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ที่ดีขึ้น ในขณะที่ลูกค้าของทั้ง บลจ. อยุธยา และ บลจ. พรีมาเวสท์ ก็จะได้รับประโยชน์ โดยสามารถรับบริการที่เป็นเลิศได้จากทีมงานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น เมื่อทั้งสองบริษัทรวมกันเสร็จสมบูรณ์”

ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ 2 ผู้บริหารจากทั้ง 2 ค่าย พร้อมใจออกมาทำความเข้าใจกับลูกค้าพร้อมกันว่า ลูกค้ายังคงใช้บริการได้ตามปกติ โดยไม่มีผลกระทบใดๆ

โดย นภาภรณ์ ลัญฉน์ดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.พรีมาเวสท์ กล่าวว่า การเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุนของ บลจ. พรีมาเวสท์ โดยเงื่อนไขการลงทุนยังคงเหมือนเดิม และลูกค้ายังสามารถติดต่อใช้บริการเกี่ยวกับการทำธุรกรรมซื้อขายหน่วยลงทุนได้ที่ที่ทำการของ บลจ. พรีมาเวสท์ และที่สาขาของธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ตามปกติ และในอนาคตจะสามารถเข้าใช้บริการต่างๆ ของ บลจ. อยุธยาได้เพิ่มเติมอีกด้วย อาทิ การใช้ศูนย์บริการลูกค้า AYF Access Place การร่วมงานสัมมนาลูกค้าในวาระต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น ทาง บลจ. พรีมาเวสท์จะแจ้งข้อมูลให้ลูกค้าทราบความคืบหน้าต่างๆ เป็นระยะๆ

ฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อยุธยา กล่าวกับ "ASTVผู้จัดการกองทุนรวม" ว่า การดำเนินการหลังจากนี้ จะต้องเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะต้องดำเนินการ หรือเตรียมการอะไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของกฏหมายและระบบต่างๆ เพราะการควมรวมครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรม เพราะยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นกระบวนการเข้าซื้อกิจการ น่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.นี้

ในส่วนของการโอนย้ายทรัพย์สิน...หลังจากนี้ ก็จะทยอยโอนพอร์ตกองทุนรวมของบลจ.พรีมาเวสท์ มาเป็นกองทุนรวมของเรา ซึ่งในเบื้องต้น จะยังคงลักษณะกองทุน และนโยบายการลงทุนที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนเดิมเอาไว้ก่อน โดยไม่มีการนำมารวมกับกองทุนในพอร์ตของเอวายเอฟแต่อย่างใด แต่หลังจากนั้น หากเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันจริงๆ ก็คงไม่จำเป็นต้องมีหลายกองทุน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ จะต้องแจ้งให้ผู้ถือหน่วยรับทราบด้วย

สำหรับบทบาทที่จะมีต่อธุรกิจและการแข่งขันหลังจากนี้ "ฉัตรพี" กล่าวว่า หลังจากนี้ คงหมดคำถามที่ว่า ทำไมจะต้องมีบลจ.ในเครือถึง 2 แห่ง ซึ่งการควบควมครั้งนี้ ก็ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นทั้ง 2 บลจ. โดยเฉพาะโพรดักส์ที่จะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมาอะไรที่เราไม่มี หลังจากนี้ก็จะมีทางเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น

"เราก็หวังว่า หลังจากนี้ จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งการที่แบงก์แม่ มีบลจ.เดียวในเครือ แบงก์เองก็จะนำเสนอโพรดักส์แค่บลจ.เดียว โดยก็ไม่ต้องแข่งขันกันเองอีกต่อไป แต่จะเป็นการแข่งขันภายนอกมากขึ้น"

สำหรับการควบรวมในครั้งนี้ ทำให้บลจ.อยุธยา มีสินทรัพย์รวมขยับขึ้นเป็น 63,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่ 49,000 ล้านบาท และมาจากบลจ.พรีมาเวสท์ อีกประมาณ 14,000 ล้านบาท ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 11 ของอุตสาหกรรมกองทุนทั้งระบบ

"ทหารไทย & บลจ.ไอเอ็นจี"คิวต่อไป
...จบจากการควบรวมของ บลจ. อยุธยา และ บลจ. พรีมาเวสท์ แล้ว สะท้อนไปถึงอนาคตของ บลจ.ทหารไทยและบลจ.ไอเอ็นจี ซึ่งเป็นอีก 2 บลจ.ที่มีแม่คนเดียวกันนั่นคือ แบงก์ทหารไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 บลจ. มีกระแสข่าวออกมาค่อนข้างหน้าหู ว่าทางแบงก์จะจับทั้ง 2 บลจ.มาควบรวมกัน

และหลังจากมีข่าวออกมา ก็มีการวิเคราะห์ไปใน 2 มุม...มุมแรก มองว่า แบงก์ทหารไทย จำนำ บลจ.ไอเอ็นจี มาควบกับบลจ.ทหารไทย โดยให้บลจ.ทหารไทยเป็นแกน เพราะถือเป็นลูกคนโต....แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มองว่า ไอเอ็นจีเอง ก็มีพาวเวอร์เช่นกัน เพราะความที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รองจากกระทรวงการคลัง ก็สามารถดัน บลจ.ไอเอ็นจี เป็นแกนได้อย่างสบาย...

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เชื่อว่าในที่สุดแล้ว ธนาคารทหารไทยเอง คงไม่จำเป็นต้องมี บลจ.ในเครือพร้อมกันที่เดียว 2 แห่งแน่นอน เพียงแต่ตอนนี้ อยู่ในช่วงรอเวลาว่าจะเป็นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

ฟังแล้วแบบนี้ อนาคตของ สมจินต์ ศรไพศาล ที่มีข่าวแว่วว่า จะย้ายไปนั่งเก้าอี้เอ็มดี บลจ.ทหารไทยที่ว่างอยู่ จะสะเทือนหรือไม่ เพราะก่อนหน้า ข่าวนี้ สะเทือนเก้าอี้ พี่ติ้ก-โชติกา สวนานนท์ ไปแล้ว...ต้องบอกว่า ธุรกิจกองทุนรวมยุคนี้ เป็นยุคของการผลัดใบจริงๆ

ศรีเนตร ฤทธิรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บลจ.พรีมาเวสท์

กำลังโหลดความคิดเห็น