xs
xsm
sm
md
lg

แสงสว่างปลาย (ปี) อุโมงค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เส้นทางขรุขระของเศรษฐกิจไทยขณะนี้มาถึงช่วงกลางปีแล้ว หลังจากประคับประคองตัวผ่านไตรมาสแรกมาอย่างยากลำบาก โดยมีอัตราการขยายตัวติดลบไป 7.1% ซึ่งก็เป็นไปตามที่หลายๆ คนได้คาดการณ์ไว้ว่าผลจากการถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐ จะสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงได้

 สำหรับไตรมาส 2 ที่กำลังจะหมดไปนั้นอาการก็ยังถือว่าไม่สู้ดีนัก ถึงแม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจะอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันขนานใหญ่ แต่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจริงๆ นั้นก็ไม่น่าจะสมานแผลได้ในเร็ววัน ประกอบกับไตรมาสที่สองโชคไม่ดีที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองวุ่นวายจนรัฐบาลต้องประกาศวันหยุดถึง 10 วันรวด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซ้ำยังถูกไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่  2009 เล่นงานอีก ทำให้การส่งออกที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะกระเตื้องขึ้นแล้ว การท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นตัวช่วยสำคัญก็ได้รับผลกระทบซ้ำอีก

 ตัวเลขการส่งออกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 11,656.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงไปถึง 26.6% ซึ่งเป็นอัตราการลดลงมากเป็นประวัติการณ์ โดยสินค้าส่วนใหญ่ทั้งสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม ส่งออกได้ลดลง

 ขณะที่ยอดส่งออกในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.52) มีมูลค่า 55,872.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงไป 22.9% โดยสาเหตุที่ทำให้การส่งออกของไทยติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ของปีนั้น มาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดีนัก ขณะที่ราคาสินค้าในตลาดโลกตกต่ำ ถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการออกมากระตุ้นการส่งออกก็ตาม จึงประเมินว่าอัตราการเติบโตในไตรมาส 2 คาดว่าจะติดลบในระดับ 5-6%

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยก็ไม่ใช่จะเลวร้ายไปตลอด อย่างที่เคยบอกก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจก็เปรียบเสมือนชีวิตของมนุษย์ที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง มีความรุ่งเรือง ชะลอ ถดถอย ตกต่ำ และฟื้นตัว 
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยก็ยังมีความหวัง ยังพอที่จะเห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์ ที่บอกอย่างนั้นเพราะในช่วงปลายไตรมาส 2 นี้เริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ไปในทิศทางที่ดี เช่น ตัวเลขการตกงานในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มชะลอลง ก็แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีการผลิตและจ้างงาน การฟื้นตัวของตลาดหุ้น ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ดีขึ้น
  “เราเริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ไปในทิศทางบวก ทำให้คาดว่าตัวเลขปลายปีน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งมาจากยอดคำสั่งซื้อที่ขณะนี้ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการจ้างงานที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่ตัวเลขคงไม่ขยับขึ้นมากมาย เชื่อว่า 2-3 เดือนจากนี้ จะเห็นสัญญาณที่ดีเป็นบวกขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขการตกงานเริ่มชะลอตัวลง"
 นอกจากนี้คาดว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 3 ถึงแม้จะยังคงติดลบอยู่แต่มูลค่าการส่งออกก็จะมีทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ที่ส่วนใหญ่ผ่านช่วงจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสแรก และคงจะเห็นการส่งออกไทยเริ่มหดตัวเป็นตัวเลขหลักเดียวก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

 ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศจีนก็ยังมีอัตราการเติบโตในทิศทางที่ดี โดยคาดว่าปีนี้จะมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับ 7% ซึ่งด้วยขนาดเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีประชากรมากถึง 1.3 พันล้านคน จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจโลกไม่ให้เลวร้ายไปมากกว่านี้
 ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศหลังจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจวงเงินรวมกันกว่า 8 แสนล้านบาทนั้นจะเป็นการเปิดทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 กระเตื้องขึ้น ถึงแม้จะติดลบอยู่แต่ก็เป็นสัดส่วนที่ลดลง โดยคาดว่าจะลบประมาณ 4-5%

 ทั้งนี้ มองว่าจุดหักเหของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในช่วงไตรมาส 4 หลังจากเริ่มเห็นผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน ประกอบกับการอัดฉีดเม็ดเงินกู้ส่วนหนึ่งลงไปในระบบ โดยผ่านการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคทั้งแหล่งน้ำและถนน

 นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่เหลือของปี 2552 พร้อมกับงบประมาณรายจ่ายปี 2553 ที่จะเริ่มปีงบประมาณในเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะได้เห็นจุดต่ำสุดในช่วงปลายปี 2552 ถึงต้นปี 2553 และคงจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว ทั้งหมดนี้จึงมีส่วนสำคัญในการดึงเศรษฐกิจไทยให้กลับมาสู่แดนบวกได้ในไตรมาส 4 ส่วนจะบวกมากหรือน้อยเท่าไรนั้นก็คงขึ้นอยู่กับฝีมือของรัฐบาลชุดนี้
โดยหากประเมินผลงานรัฐบาลซึ่งใกล้จะครบรอบ 6 เดือนนั้น ภาพรวมการบริหารงานด้านเศรษฐกิจถือว่าอยู่ในระดับเกรด B มีการดำเนินนโยบายได้ต่อเนื่องและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แต่สิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อและเร่งด่วนนั่นก็คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ให้มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และมีการประสานงานกันระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจมากขึ้น  และที่สำคัญนโยบายทุกอย่างต้องสามารถตอบโจทย์ปัญหาได้ตรงจุด
คอลัมน์ “คมความคิด เศรษฐกิจมหภาค”
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์
รองคณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า (GSPA NIDA)

กำลังโหลดความคิดเห็น