xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรวมปี52 ฝนซาหรือพายุกระหน่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศอย่างเห็นได้ชัด...?
 เมื่อสถาการณ์โดยรวมประสบกับวิกฤตดังกล่าวข้างต้น แน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวมเช่นกัน โดยในปีที่ผ่านมาการขยายตัวของธุรกิจประเภทนี้ปรับตัวติดลบถึง 2% ซึ่งนอกจากการที่นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลเป็นเหตุให้มีการชะลอการลงทุนออกไป การปรับตัวลดลงของสินทรัพย์ในกองทุนหุ้นกว่า 40% นับเป็นเหตุผลหนึ่งที่ฉุดการขยายตัวของอุตสาหกรรมประเภทนี้ให้ลดลงจากเดิมที่มีการขยายตัวถึงปีละกว่า 10% 
 เสียวสันหลังกันต่ออีกเมื่อนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปี 2552 ที่มีแนวโน้มย่ำแย่ หรือป่วยหนักยิ่งกว่าเดิม แม้ตัวเลขต่างๆ จะยังไม่ปรากฎออกมาให้เห็น แต่ส่วนใหญ่กังวลว่าวิกฤตสถาบันการเงินของพี่เบิ้ม"สหรัฐอเมริกา" ยังคงจะแสดงฤทธิ์เดชของมันออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง
 สถาการณ์บีบบังคับ การลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะหากเศรษฐกิจยังตกสะเก็ตตามที่คาดการณ์แน่นอนว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนรวมเองก็น่าจะเดินไปในทิศทางเดียวกัน
 ปิดช่องปิดตาเดิน เกือบทุกตาราง แต่ใช้ว่าการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หรือตายก่อนค่อยเกิดใหม่จะทำไม่ได้ เพราะตามมุมมองของนักลงทุนแล้วในวิกฤตย่อมมีโอกาสแฝงตัวอยู่เสมอ เพียงแต่จะมีผู้ที่มองเห็นหรือ พบมันเท่านั้น
 รพี สุจริตกุล  ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กสิกรไทย นับเป็นบุคคลอันดับแรกๆ ที่ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ โดยในช่วงต้นปีจากการแถลงข่าวของบลจ.กสิกรไทย เขาประกาศด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจและเยือกเย็น ทำนองว่า สถาการณ์ของเศรษฐกิจในปี 2552 ถึงแม้จะดูไม่ดีนัก แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุน โดยการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย และผลตอบแทนของเงินฝาก จะเป็นส่งผลให้ นักลงทุนหันมาสนใจการลงทุนในรูปแบบอื่นมากขึ้นได้ และเป็นโอกาสดีในการนำเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ให้กับลูกค้า
 เป็นไปตามคาด เพราะครึ่งปีที่ผ่านมาบลจ.กสิกรไทยขายกองพันธบัตรเกาหลีไปแล้วกว่า  22 กองทุน มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 64,000 ล้านบาท ใช่ว่าจะดีเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ แต่ที่ฟื้นขึ้นมาควบคู่กันก็คือ ความคึกคักของตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
 นางสาวศรีเนตร ฤทธิรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) พรีมาเวสท์ จำกัด ได้เคยเปิดเผยหลังจากที่ตั้งเป้าการขยายตัวของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารในปีนี้เอาไว้ถึง 60%ว่า  สิ่งที่จะทำให้สินทรัพย์ของกองทุนรวมขยายตัวตามที่ตั้งเป้าไว้
  นอกจากจะต้องเสนอขายกองทุนที่เหมาะกับความต้องการของนักลงทุนแล้ว การปรับตัวของกองทุนหุ้นภายในประเทศจะมีส่วนผลักดันให้ความคิดของเธอให้เป็นจริงดังฝันได้
 แต่ที่น่าจะส่งให้ฝันเธอเป็นจริงมากที่สุดนอกจาก 2 ปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การควบรวมของ 2 บลจ.อย่าง อยุธยา และพรีมาเวสท์ ก็น่าจับตามองให้วงการนี้ดูคึกคักเพิ่มมากขึ้นอีกเช่นกัน
 ดีทั้งตราสารหนี้ และหุ้น แต่สินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันและทองคำ ใช่ว่าจะน้อยหน้า เพราะทุกบลจ.ต่างออกกองทุนที่ลงทุน และสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนยิ้มออกกันถ้วนหน้าไปแล้วอีกเหมือนกัน

 มองดูภาพรวมแล้วไม่ต่างกับฝัน หรือผิดกันจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากมุมและสถาการณ์ของเศรษฐกิจ หากมองตัวเลขที่รายงานโดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุนแล้ว 5 เดือนที่ผ่านมากองทุนรวมขยายตัวไปกว่า  12.8% จากเดิมปี 2551 ที่มีมูลค่า 1.526 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 1.722 ล้านล้านบาท

 ตีพุ่งยิ้มแป้นกันไปสำหรับครึ่งปีแรก แต่อย่าลืมว่าปีที่ผ่านมาสถาการณ์ดูจะคึกคักในช่วงครึ่งแรกเหมือนกัน แต่ครึ่งปีหลังกลับได้ยินเสียงโอ้ย โอ้ย แทน
 
นัยว่าสงครามยังไม่จบอย่าพึ่งนับศพทหาร เพราะครึ่งปีหลังยังมีอะไรๆ ให้ต้องปวดหัวกันอีกแน่ งานนี้  รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์  คณบดี NIDA Business Schoolออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมอย่างชัดเจน ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีตัวเลขการเพิ่มขึ้นของอัตราการผลิต และการจ้างงาน แต่การเพิ่มขึ้นดังกล่าวไม่ใช่มาจากความต้องการที่แท้จริง เป็นเพียงการผลิตเพื่อชดเชยความต้องการที่หยุดชะงักอย่างฉับพลันจากการตื่นตระหนกของภาคธุรกิจจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น
 ฟังแล้วใจหาย หรืออาจเป็นไปได้ว่าสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวที่ออกมาเป็นเพียงสัญญาณลวง ซึ่งส่งผลดีในแง่จิตวิทยาที่สะท้อนคาดการณ์ไปก่อนล่วงหน้าแค่นั้น
 
คณบดีนิด้า ยังบอกถึงเศรษฐกิจไทยด้วยว่า ถึงแม้จะมองว่าเศรษฐกิจไทยได้เดินผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาสแรกโดยมีอัตราการขยายตัวติดลบไป 7.1% แต่โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ถือว่ายังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 2552 คาดว่าติดลบในราว 4%
“เราคาดว่า จีดีพีไตรมาส 2 คงจะติดลบประมาณ 6.8%  ส่วนไตรมาส 3 จะติดลบประมาณ 4.5% และอาจจะกลับขึ้นมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายประมาณ 1.5% แต่โดยภาพรวมทั้งปี ก็คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะติดลบอยู่ที่ประมาณ 4%” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว

 ไม่รู้ว่าเมื่อตัวเลขออกมาเช่นนี้แล้ว การลงทุนและอุตสาหกรรมกองทุนรวมจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่ต้องจับตาเห็นจะเป็นการแก้ปัญหาของภาครัฐ เพราะที่ผ่านมานับว่ามีบทบาทอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และทั่วโลก

 คณบดี NIDA Business School กล่าวต่อว่า สำหรับ พ.ร.ก. และ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย วงเงินรวมกว่า 8 แสนล้านบาทนั้น เชื่อว่าคงจะเริ่มเห็นผลทางเศรษฐกิจระยะแรกได้อย่างเร็วที่สุดคงจะเป็นช่วงปลายปีนี้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องใช้เม็ดเงินดังกล่าวให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด โดยอันดับแรกต้องเร่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออก และการบริโภคที่ชะลอตัวลงไปอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
 
 “การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนนั้นรัฐบาลจะต้องรีบผลักดันให้เกิดโดยเร็ว และที่สำคัญการลงทุนจะต้องพิจารณาให้ดีว่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับต้นทุนเงินที่กู้มาหรือไม่ ซึ่งรีเทิร์นตรงนี้ไม่ควรจะต่ำกว่าต้นทุนของเงินกู้ ซึ่งจะอยู่ในระดับประมาณ 4%”  คณบดี NIDA Business School กล่าว

 เอาเป็นว่าทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นฝีมือของรัฐบาลประเทศของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของเศรษฐกิจในระดับต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น