xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรวมดูดเงิน2แสนล้าน เข้า"บอนด์โสม-มันนี่มาร์เกต"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กองทุนรวมคึกรับเงินฝากโยกหนีดอกเบี้ยต่ำ ล่าสุด จบ 5 เดือน เงินลงทุนทั้งระบบเพิ่มขึ้นเฉียด 2 แสนล้านบาท "บอนด์เกาหลี-มันนี่มาร์เกต" แชมป์โกยเงินสูงสุด แถมได้อานิสงส์กองทุนหุ้นช่วยหนุน หลังเงินทุนต่างชาติ ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย "บลจ.กสิกรไทย" ยังรั้งแชมป์มาร์เกตแชร์สูงสุด ด้วยสินทรัพย์กว่า 3.53 แสนล้านบาท นายกสมาคม บลจ. ประเมิน ทั้งอุตสาหกรรมโตต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการลงทุนในกองทุนรวมช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนตราสารหนี้และกองทุนหุ้น โดยในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศนั้น ความสนใจหลักยังคงเป็นตราสารหนี้ในประเทศเกาหลีใต้ แต่หลังจากผลตอบแทนเริ่มขยับลง ทำให้ความสนใจในพันธบัตรเกาหลีและออสเตรเลียกลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น ในขณะที่กองทุนหุ้น ได้อานิงสงส์จากเงินลงทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย กระตุ้นให้บรรยากาศการซื้อขายคึกคักขึ้นเป็นอย่างมาก โดยดัชนีปรับขึ้นใก้ลเคียงระดับ 600 จุดแล้ว

โดยจากความคึกคักดังกล่าวส่งผลให้เงินลงทุนในกองทุนรวมเติบโตขึ้นค่อนข้างมาก โดยเงินลงทุนในกองทุนรวมทั้งอุตสาหกรรม สิ้นสุด เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 1,722,561.14 ล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ประมาณ 27,919.81 ล้านบาทจากเงินลงทุนประมาณ 1,694,641.33 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากเทียบกับเงินลงทุนในช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่า หลังจากผ่านไป 5 เดือน อุตสาหกรรมกองทุนรวมทั้งระบบเพิ่มขึ้นถึง 195,749.60 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 1,526,811.54 ล้านบาทในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวคิดเป็นการเติบโตประมาณ 12.8%

และหากเปรียบเทียบเงินลงทุนในกองทุนหลักๆ ทั้งกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้พบว่า เงินลงทุนในกองทุนหุ้น เพิ่มขึ้นจาก 256,980.47 ล้านบาทในปีที่แล้วเป็น 290,293.11 ล้านบาทในเดือนนี้ ส่วนกองทุนตราสารหนี้ มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1,128,591.12 ล้านบาทจากเงินลงทุน 967,512.83 ล้านบาทในช่วงปลายปีที่แล้ว ในขณะที่กองทุนประเภทพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ขยับขึ้นจาก 39,529.61 ล้านบาท เป็น 43,712.18 ล้านบาท กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) เพิ่มขึ้นเป็น 57,059.03 ล้านบาทจากเงินลงทุน 45,462.56 ล้านบาท และกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 313,647.25 ล้านบาท จากเงินลงทุนสิ้นปีก่อนที่ 295,555.48 ล้านบาท

ส่วนบรรยากาศการแข่งขันในอุตสาหกรรม พบว่าเป็นไปอย่างคึกคักเช่นเดียวกัน โดยบริษัทจัดการกองทุนในเครือธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ยังคงแข่งขันระดมเงินด้วยการออกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายๆ กองทุนก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเงินฝาก จนต้องปิดเสนอขายหน่วยลงทุนก่อนกำหนด นอกเหนือจากนั้น ยังเห็นการการออกกองทุนในประเทศที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้เอกชนออกมาด้วย ส่วนกองทุนหุ้น ยังไม่เห็นการแข่งขัน ซึ่งเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นไทยเป็นหลัก

ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนที่มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) สูงสุด ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดือนก่อน โดยบลจ.กสิกรไทย ยังครองแชมป์มาร์เกตแชร์อันดับหนึ่ง ด้วยสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 353,129.35 ล้านบาท ถึงแม้ว่าเดือนพฤษภาคมเงินลงทุนจะลดลงถึง 3,616.11 ล้านบาทก็ตาม

ในขณะที่ บลจ.ไทยพาณิชย์ อดีตแชมป์เก่า ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยเงินลงทุนรวม 335,105.54 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายหลังจากนางโชติกา สวนานนท์ เข้ามานั่งเก้าอี้กรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ เงินลงทุนใหม่ก็ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากกองทุนที่เปิดขายอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในเดือนพฤษภาคม มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกถึง 7,891.56 ล้านบาท

สำหรับอันดับ 3 ยังคงเป็น บลจ.บัวหลวง เช่นเดิม โดยในเดือนนี้เช่นเดียวกัน บลจ.บัวหลวงมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 9,256.83 ล้านบาท ทำให้สินทรัพย์ล่าสุดขยับขึ้นเป็น 160,796.23 ล้านบาท จากสินทรัพย์รวม 151,539.40 ล้านบาทในเดือนก่อนหน้านี้

ส่วนอันดับ 4 เป็นบลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ด้วยสินทรัพย์รวม 144,326.48 ล้านบาท และอันดับ 5 บลจ.ทหารไทย ด้วยสินทรัพย์รวม 142,167.56 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 บลจ. มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 4,136.29 ล้านบาทและ 3,052.70 ล้านบาท ตามลำดับ

นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า เงินลงทุนที่ไหลเข้ากองทุนรวมมาจาก 2 ปัจจัย นั่นคือ เงินลงทุนจากเงินฝากที่ไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้มากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ เพิ่มขึ้นมาจากกองทุนรวมตลาดเงิน (มันนี่มาร์เกต) และกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ หลังจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ

ส่วนเงินลงทุนจากกองทุนหุ้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้กองทุนรวมเติบโตขึ้น วึ่งการเติบโตดังกล่าวไม่ได้มากจากเงินลงทุนใหม่ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวของดัชนีหุ้นไทยมากกว่า โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นมาประมาณ 25% แล้ว ซึ่งกองทุนหุ้นเองก็ปรับเพิ่มขึ้นมาในระดับที่ใกล้เคียงกัน

"การที่ผลตอบแทนของกองทุนหุ้นดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง เป็นประเด็นที่แสดงให้นักลงทุนเห็นว่า คนที่ลงทุนในหุ้นมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์ และผิดหวัง เพราะหุ้นมีความผันผวน เวลาปรับขึ้นก็ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่เห็น"นางวรวรรณกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เชื่อว่าอุตสาหกรรมกองทุนรวม จะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่คงไม่สามารถประเมินได้ว่าจะขยายตัวมากน้อยแค่ไหน เพราะต้องรอดูว่าหลังจากนี้ จะมีตราสารประเภทไหนรออกมาให้กองทุนเข้าลงทุนอีกบ้าง หรือผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่มีความใกล้เคียงกับกองทุนรวม จะมีอะไรออกมาแข่งหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น