xs
xsm
sm
md
lg

ยูโอบีตั้งเป้าออกกองหุ้นดันยอด AUMครึ่งปีแรกหายหมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ยูโอบี (ไทย) เผยเอยูเอ็มลดลงกว่า 1 หมื่นล้านบาท หลังจากไม่ได้ออกกองตราสารหนี้ต่างประเทศมารองรับ แต่เชื่อครึ่งปีหลังหากออกกองหุ้นมา จะช่วยให้เอยูเอ็มกลับมาที่ระดับเดิมได้ เน้นดำเนินธุรกิจแบบตั้งรับ และควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน พร้อมผุดโปรโมชั่นใหม่ และ “พอล ภัทรพล” ช่วยดันยอดกองทุนยูโอบี ชัวร์ เดลี อีกแรง

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของบริษัทในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท จากในช่วงต้นปีที่มีอยู่ประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับลดลงมาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนการลงทุนในปัจจุบันเป็นกองทุนหุ้นประมาณ 3 พันล้านบาท กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ประมาณ 6 – 7 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นกองทุนตราสารหนี้

ส่วนการที่เม็ดเงินลงทุนไหลไปยังที่อื่น เนื่องจากไม่ได้ออกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศออกมารองรับนักลงทุน แต่คาดว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิในปีนี้จะกลับไปอยู่ที่ระดับเดิมได้ เมื่อมีการออกกองทุนหุ้นออกมาเสนอขายให้แก่นักลงทุนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับที่เม็ดเงินลงทุนใหม่ และดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นไป ซึ่งทำให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิโดยรวมปรับขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม นโยบายของบริษัทในปีนี้ยังการดำเนินธุรกิจแบบตั้งรับเป็นส่วนใหญ่ โดยจะจัดการเรื่องต่างๆ ภายในบริษัทก่อน และควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีเวลาจัดการเรื่องนี้ และนับจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสามารถลดค่าใช้จ่ายลงไปประมาณ 30%

ขณะที่การออกกองทุนตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ตั้งแต่ระดับ AAA ขึ้นไป อาทิ ตราสารหนี้ภาครัฐของประเทศเดนมาร์ก แต่ในปัจจุบัน พบว่าตราสารหนี้ภาครัฐของหลายประเทศเริ่มมีอันดับความน่าเชื่อถือไม่น่าสนใจ ทำให้บริษัทตัดสินใจชะลอการออกกองทุนตราสารหนี้ดังกล่าวออกไปก่อน

ทั้งนี้ กรอบการลงทุนจากกลุ่มยูโอบีสิงคโปร์ และลูกค้าของธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ที่ไม่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงมาก แต่กรอบการลงทุนดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งในช่วงต้นปีหน้าอาจจะมีคลายกฎเกณฑ์ และสามารถเข้าไปลงทุนได้กว้างมากขึ้น อาทิ ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ AA และ AA+ ขึ้นไป ส่วนการออกกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้จัดโครงสร้าง (Structure Note) ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะโอกาส และผู้ออกตราสารด้วย

“การนำ“พอล ภัทรพล ศิลปาจารย์" มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ของกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี (UOBSD) พบว่าสามารถช่วยให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 14,000 ราย จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 10,000 ราย โดยกองทุนนี้ยังเคงเน้นลงทุนในตราสารหหนี้ภาครัฐที่มีความมั่นคง และปลอดภัย หากนักลงทุนต้องการมาฝากเงินเพื่อใช้เป็นแหล่งพักเงินไว้รอลงทุนต่อไปได้ โดยผลตอบแทนยังดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินฝากแบบออมทรัพย์” นายวนา กล่าว

นอกจากนี้ ยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย และนับว่าเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ฝากเงิน ซึ่งมีสภาพคล่องสูง และสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ และยังสามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนอื่นได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมีการซื้อกองทุนหรือขายกองทุนก่อน และจะมีโปรโมชั่นพิเศษซื้อ 1 ล้านรับ 300 หากนักลงทุนเข้ามาลงทุนในกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลีทุกๆ 1 ล้านบาทจะได้รับ Central Gift Voucher มูลค่า 300 บาท นักลงทุนสามารถทยอยซื้อสะสมได้ และสามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา แต่ยอดซื้อสุทธิ สิ้นสุด วันที่ 16 กรกฎาคม 2552 จะต้องเหลือเกิน 1 ล้านบาท เมื่อถือครบ 3 เดือนจึงจะมีสิทธิ์ได้รับของสมนาคุณดังกล่าว ทั้งนี้ จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น

ทั้งนี้ การออกโปรโมชั่นดังกล่าว เนื่องจากต้องการให้ลูกค้ารู้จักกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลีมากขึ้น และเป็นการขยายฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิมให้มากขึ้นด้วย แต่การฝากเงินแบบประจำจะดีกว่า โดยธนาคารพาณิชย์ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากอัตราดอกเบี้ยสูงมาเสนออยู่เป็นระยะ ขณะที่อัตราผลตอบแทนของกองทุนในช่วงก่อนหน้านี้เคยอยู่ที่ 3% และหากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้จะปรับขึ้นมาด้วย

นายวนา กล่าวว่า ในปัจจุบัน นักลงทุนยังไม่เห็นความแตกต่างจากการฝากเงิน เนื่องจากยังมีการคุ้มครองเงินฝาก 100% แต่พอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันประกันเงินฝากมีผลบังคับใช้ประมาณปี 2555 นักลงทุนจะต้องดูว่าระหว่างเงินฝากกับพันธบัตรรัฐบาลมีความปลอดภัยสูงกว่ากัน ขณะที่ในปัจจุบัน นักลงทุนมองเพียงอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

จุดเด่นที่นำ พอล ภัทรพล ศิลปาจารย์ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์มาจากการที่จบทางด้านเศรษฐศาสตร์ และมีความรู้ทางการเงิน มีผลงานเป็นที่รู้จัก ตลอดจนมีภาพลักษณ์ที่ดี แสดงให้เห็นว่ามีความเหมาะสมกับการนำมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ของกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี ขณะที่ผลการดำเนินงานของกองทุน สิ้นสุด วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 พบว่าสามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 0.7%

กองทุนนี้จะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุประมาณ 7 – 14 วันเป็นหลัก ทำให้ความผันผวนจากการตีราคา (Mark to Market) แทบจะไม่มี อัตราผลตอบแทนดีเมื่อเปรียบเทียบกับความมั่นคง และนับว่าเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) ทีเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม และมีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท

ส่วนการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินที่จะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์จำนวน 8 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่นักลงทุนในปัจจุบันไม่สนใจลงทุนในระยะยาว โดยหากภาวะเศรษฐกิจทรงตัว และปรับตัวในทางที่ดีขึ้น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเริ่มจะชะลอตัว และเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แนะนำถือตราสารหนี้ระยะสั้น แต่หากพันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกมาสามารถตอบโจทย์อัตราดอกเบี้ยได้ก็มีความน่าสนใจ แต่ยังขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยนักลงทุนส่วนหนึ่งอาจจะต้องการล็อกอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว และได้อัตราดอกเบี้ยในเวลา 5 ปี

อย่างไรก็ตาม หากพันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกมาสามารถให้อัตราผลตอบแทนประมาณ 6% ต่อปี บริษัทมีความสนใจออกกองทุนปิดที่เน้นลงทุนในพันธบัตรดังกล่าวเช่นกัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าด้วย แต่ส่วนใหญ่บริษัทประกันภัยจะให้ความสนใจมากกว่า เนื่องจากสามารถถือครองในระยะยาวได้ ขณะที่ลูกค้าของธนาคารยูโอบีในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลง พบว่าไม่ได้ให้ความสนใจซื้อตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อล็อกผลตอบแทนไว้ แต่ให้ความสนใจซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นมากกว่า

ทั้งนี้ มองว่าพันธบัตรออมทรัพย์น่าจะเหมาะกับนักลงทุนกำลังเกษียณอายุ ซึ่งน่าจะให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และจะถือครองตราสารหนี้ยาวจนครบอายุด้วย เนื่องจากหากนักลงทุนขายในระหว่างทางอาจจะขาดทุนได้ โดยในอดีตที่ผ่านมา พันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกมาส่วนใหญ่จะขายหมดอยู่แล้ว และบริษัทอาจจะออกกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรดังกล่าว แต่น่าจะมีอายุไม่เกิน 5 ปี โดยซื้อแล้วล็อกไว้เลย แต่จะเสนอขายให้แก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

สำหรับกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี จะเน้นลงทุนในลงทุนในตราสารแห่งหนี้ภาครัฐ ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน และเงินฝากธนาคาร ทั้งนี้ จะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือตราสารที่เสนอขายในต่างประเทศ ตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Notes) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivative)
กำลังโหลดความคิดเห็น