xs
xsm
sm
md
lg

"BRIC"มหาอำนาจต่างทวีป บทบาทต่อเศรษฐกิจโลกยุคใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ถูกจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก ทั้งเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการบริโภค แต่ก็มีอยู่เพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่ดูโดดเด่นและน่าสนใจกว่าประเทศในกลุ่มเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด

 กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 4 ประเทศ หรือกลุ่ม BRICที่ประกอบด้วยจีน อินเดีย รัสเซียและบราซิล มีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ และคาดว่าจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเป็นลำดับ

 ทั้งนี้ กลุ่ม BRIC มีกำหนดประชุมระดับผู้นำเป็นครั้งแรกในวันที่ 16 มิถุนายน 2552 นี้ ที่ประเทศรัสเซีย โดยประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจของการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจ การใช้เงินสำรองต่างประเทศเพื่อซื้อพันธบัตรของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อเพิ่มบทบาทในองค์การด้านการเงินระหว่างประเทศ และบทบาทในเศรษฐกิจโลก
 
 แนวโน้มเศรษฐกิจ BRICปรับตัวดีขึ้น

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม BRIC ทั้ง 4 ประเทศถือว่ามีอัตราเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา แต่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของกลุ่มนี้ต้องซบเซาลงอย่างเลี่ยงได้ยาก ส่งผลให้เศรษฐกิจกลุ่ม BRIC ในไตรมาสแรกของปีนี้ต้องประสบภาวะชะลอตัวรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ใน ปัจจุบันได้เริ่มมีสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน และอินเดียที่คาดว่ายังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ แต่อัตราเติบโตมีแนวโน้มชะลอลงเหลือร้อยละ 7.4 และร้อยละ 5.4 ตามลำดับ  ส่วนประเทศรัสเซียคาดว่าอัตราเติบโตยังติดลบในปี 2552 แต่อานิสงส์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจรัสเซียปรับตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน
 ส่วนเศรษฐกิจบราซิลซึ่งถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกาคาดว่าอาจหดตัวเล็กน้อยในปีนี้ แต่เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำอาจส่งผลให้ทางการของบราซิลสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 บทบาทสำคัญของทุนสำรอง
  เป็นที่ทราบกันดีว่าขนาดเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของกลุ่ม BRIC คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของจีดีพีโลก โดยทั้ง 4 ประเทศล้วนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็น 12 อันดับแรกของโลก โดยประเทศจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มและเป็นอันดับ 3 ของโลก ขณะที่ประชากรรวมกันของกลุ่ม BRIC มีจำนวนราว 2,760 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 ของประชากรโลก

 บทบาทที่สำคัญจากทุนสำรองมหาศาลของกลุ่มประเทศนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า จากการที่กลุ่ม BRIC มีเงินสำรองต่างประเทศรวมกันถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 37 เงินสำรองต่างประเทศของโลก  โดยประเทศกลุ่ม BRIC ที่นับว่ามีเงินสำรองต่างประเทศอยู่ในระดับสูงได้แสดง ท่าทีที่จะใช้ทุนสำรองต่างประเทศเข้าซื้อพันธบัตรกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งคาดว่าอาจสนับสนุนให้กลุ่ม BRIC มีบทบาทมากขึ้นในองค์กรด้านการเงินระหว่างประเทศและอาจเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นต่อทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินระหว่างประเทศในระยะต่อไป  นอกจากนี้ รัสเซียและบราซิลประกาศแผนการที่จะเข้าซื้อพันธบัตรของ IMF ประเทศละ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อกระจายเงินสำรองต่างประเทศ ขณะที่จีนวางแผนซื้อพันธบัตรของ IMF มูลค่า 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอินเดียอาจซื้อพันธบัตรของ IMF เช่นกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบันจีนมีสิทธิออกเสียงใน IMF ในสัดส่วนร้อยละ 3.66 ส่วนรัสเซียมีสัดส่วนร้อยละ 2.69 อินเดีย สัดส่วนร้อยละ 1.89 และบราซิล สัดส่วนร้อยละ 1.38 ขณะที่สหรัฐฯ มีสัดส่วนการออกเสียงคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 16.77
BRIC กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

    การประชุมผู้นำกลุ่ม BRIC ครั้งนี้ ยังอาจหารือประเด็นการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะเป็นเงินสกุลสำรองของโลก เนื่องจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่อยู่ระดับสูงได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ มีแนวโน้มพุ่งขึ้นถึง 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปีงบประมาณในเดือนกันยายน 2552 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 12 ของจีดีพี เทียบกับที่ขาดดุล 455 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2551 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของจีดีพี
 
นอกจากนี้ปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณปรับดีขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่จะมีบทบาทนำในการช่วยให้เศรษฐกิจโลกก้าวพ้นจากภาวะถดถอย ทำให้ความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในทิศทางอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินสกุลต่างๆ อยู่ในภาวะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ  ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อศักยภาพด้านการส่งออกของประเทศต่างๆ ทำให้ทางการของประเทศกลุ่ม BRIC จึงใช้มาตรการสกัดกั้นไม่ให้ค่าเงินแข็งค่ามากนัก ส่งผลให้เงินสำรองต่างประเทศของกลุ่ม BRIC เพิ่มขึ้นมากกว่า 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า  แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีเงินสกุลใดที่มีบทบาทแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศได้ แต่กลุ่ม BRIC พยายามหาแนวทางลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจีนและบราซิลได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการหลีกเลี่ยงการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการซื้อขายระหว่างกันโดยหันมาใช้เงินหยวนของจีนและเงินเรียลของบราซิลแทนเพื่อเป็นการลดต้นทุนของสองประเทศ ขณะที่ประธานาธิบดีของรัสเซียเสนอในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ให้ใช้เงินสกุลสำรองของภูมิภาคเพื่อลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับข้อเสนอของผู้ว่าการธนาคารกลางจีนที่ให้ใช้เงินสกุลอื่นเป็นทางเลือกในการชำระหนี้ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐมนตรีคลังของรัสเซียได้ออกมาให้ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และยืนยันว่ายังไม่มีเงินสกุลใดสามารถแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ใช้เป็นเงินสำรองต่างประเทศของโลกได้

 จากการวิเคราะห์ในครั้งนี้ หากสรุปสั้นจากรายงานของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ถึงแม้กลุ่มBRIC จะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่ด้วยศักยาภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วก่อนวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ประเทศในกลุ่มนี้ยังคงมีแนวโน้ม มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามนโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศทางต่างๆ ที่ส่งผลให้ภาคการบริโภคและการลงทุนภายในเริ่มปรับดีขึ้น ขณะที่มีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าจะมั่นคงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ประกอบกับศักยภาพทางเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งทางการเงินของกลุ่ม BRIC

 นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดว่า การที่ประเทศกลุ่มนี้มีทุนสำรองต่างประเทศในระดับสูงจะทำให้ ท่าที่ที่จะใช้เงินสำรองต่างประเทศซื้อพันบัตรของกองทุนการเงินระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนกลุ่ม BRIC ให้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในองค์กรด้านการเงินระหว่างประเทศและอาจเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นต่อทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินระหว่างประเทศในระยะต่อไป อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น