xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางการเติบโตศก.ไทยปี53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 การฟื้นตัวอย่างชัดเจนของภาคการผลิต ในสินค้าทางด้านยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าตามปัจจัยบวกจากระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุน
 จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักวิเคราะห์นักลงทุนต่างเเสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปต่างๆนานา ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตารอความชัดเจนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บ้างก็บอกว่าหวั่นว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น บ้างก็บอกว่านักลงทุนต่างก็รับรู้ถึงเหตุการร์ต่างๆที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งชินชาต่อข่าวสารที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมานั้นเรามาติดตามกัน...

 ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค. 2553 นั้น แนวโน้มหลักยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบเป็นรายเดือนเริ่มชะลออัตราเร่งในการปรับฟื้นตัวลงเล็กน้อย โดยสถาบันวิจัยนครหลวง( SCRI) มีมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงเดือน ม.ค. ว่ามีทิศทางชะลออัตราเร่งในการปรับฟื้นตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในเดือนก่อนหน้า แต่หากเทียบในปีก่อนหน้าแล้วดัชนีทางเศรษฐกิจในเกือบทุกตัว กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อย่างแข็งแกร่ง บ่งชี้ถึงการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจในทุกสาขาได้อย่างชัดเจน

 โดยในส่วนของภาคอุปสงค์ในประเทศ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII index) ในเดือน ม.ค. 2553 กลับมาปรับฟื้นตัวเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนหลังสุดที่ระดับ 5.2% yoy และนอกจากนั้นเมื่อเทียบกับในเดือนก่อนหน้ายังเป็นการขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน โดยเฉพาะการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของภาคการผลิต ในสินค้าทางด้านยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า   ตามปัจจัยบวกจากระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนและปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างชาติที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

  ขณะที่ในด้านของภาคการบริโภคทิศทางโดยรวมยังคงมีสัญญาณเป็นบวก แม้ว่าในเดือนที่ผ่านมาดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI index) จะมีการชะลอลงเล็กน้อยจากในเดือนก่อน แต่อย่างไรก็ดีมองว่าจะเป็นภาพในระยะสั้นๆเท่านั้น เนื่องจาก SCRI มองว่าปัจจัยในประเทศ อย่างในด้านของการขยายตัวของระดับรายได้เกษตรกร และอัตราการว่างงานที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลบวกให้ทิศทางของภาคการบริโภคของไทยในช่วงถัดไป มีแนวโน้มปรับตัวเป็นบวกได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นในด้านของแรงกระตุ้นจากภาครัฐฯยังคงขยายตัว ตามโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยในเดือน ม.ค. 2553 มียอดเบิกจ่ายไป 8.9 พันล้านบาท ขณะที่ยอดเบิกจ่ายสะสมโดยรวมที่ 82.2 พันล้านบาท

 สำหรับในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ การปรับตัวยังคงขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในด้านของภาคการส่งออกโดยสุทธิและการท่องเที่ยว โดยในเดือน ม.ค. 2553 ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 31.4% yoy ปรับตัวบวกทั้งในด้านของระดับราคา และปริมาณการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าของภาคการเกษตร รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ จึงส่งผลให้ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ไทยมีการกลับมาเกินดุลการค้าอยู่ที่ระดับ 591 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว มีรายรับโดยเฉลี่ยของภาคการท่องเที่ยว ยังคงฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามปริมาณนักท่องเที่ยวที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยขยายตัวไปกว่า 28.6% yoy หรือที่ระดับ 1.61 ล้านคน

 ในด้านของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศพบว่าภาพโดยรวมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และพื้นฐาน มีการขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อย ที่ 4.1% และ 0.6 yoy แต่ยังคงถือได้ว่าแนวโน้มโดยรวมยังเป็นการขยายตัวอยู่ในกรอบเป้าหมายของทาง ธปท. สำหรับในด้านเสถียรภาพทางด้านต่างประเทศยังคงปรับตัวเป็นบวกต่อเนื่อง โดยเงินสำรองระหว่างประเทศยังคงทรงตัวในระดับสูง
 ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ม.ค. เกินดุลไปกว่า 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 3 เดือน ตามทิศทางของระดับการเกินดุลบริการที่ขยายตัวในอัตราเร่ง ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

 สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2553 คาดว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากในปีก่อนหน้า โดยในภาพรวมยังคงมองว่าจะได้รับปัจจัยบวกสำคัญจากระดับการฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ในประเทศ ที่มีสัญญาณการขยายตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในด้านของการบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าในช่วง Q1-Q2/53 จะยังคงมีทิศทางการขยายตัวดีขึ้นในอัตราเร่งต่อเนื่องจากในช่วงปลายปี 2552 ตามระดับความเชื่อมั่นของประชาชนที่ยังคงมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจทั้งจากในและนอกประเทศที่มีการปรับฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น

 ทั้งนี้ในมุมมองของ SCRI แล้วมองว่าการบริโภคภาคเอกชน ถือได้ว่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ต่อระดับการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 2553

 ในด้านภาคการลงทุน ภาพโดยรวมมีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวจากในปี 2552 ตามปัจจัยทางด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงระดับฐานที่ต่ำอย่างมากในปีก่อนหน้า (Base effect) ประกอบกับมองว่าสถานการณ์โดยรวมของการลงทุนของภาคเอกชน จะได้รับปัจจัยบวกทางอ้อมจากจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตามโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ อย่างในด้านของโครงการรถไฟฟ้า การก่อสร้างถนนปลอดฝุ่น ฯลฯ ที่คาดว่าจะส่งผลให้เกิดระดับการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวเนื่องของภาคเอกชนตามมาอีกจำนวนมาก อย่างเช่น โครงการอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

 ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาคการค้าระหว่างประเทศ ในปี 2553 สถานการณ์ของภาคการส่งออกของไทย จะมีการขยายตัวขึ้นในอัตราเร่งอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ภาคอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าหลักของไทยต่างกลับมามีการปรับขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในด้านของประเทศจีนที่มีการเร่งการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีโดยตลอดทั้งปีแล้วคาดว่าตัวเลขการส่งออกโดยสุทธิของไทย (net export) มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนจากในปีก่อนหน้า ตามสัญญาณการฟื้นของภาคการนำเข้า ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งต่อเนื่องในปี 2553 โดย ตัวเลขดุลการค้าของไทยในปี 2553 จะชะลอตัวลงเหลือในระดับประมาณเพียง 5.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับระดับ 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2552

 โดยสรุป SCRI ยังคงมีมุมมองเชิงบวก ต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2553 หลังจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจทั้งจากในและนอกประเทศ ยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่องจากในช่วงปลายปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในด้านของภาคอุปสงค์ในประเทศ ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวขึ้นอย่างโดดเด่น และยังมองว่าจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ให้กลับมาขยายตัวได้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการคลังและการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

 อย่างไรก็ดีในประมาณการณ์ปัจจุบันภาคอุปสงค์ในประเทศ ทั้งในด้านของการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนในปี 2553 ของไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 2.5% และ 5.0% ซึ่งถือได้ว่ายังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับทิศทางของระดับการขยายตัวในปัจจุบัน เนื่องจากยังคงให้น้ำหนักค่อนข้างมากกับปัจจัยลบทางด้านเสถียรภาพทางการเมือง ที่ยังคงถือได้ว่ามีความเปราะบาง ทั้งในด้านปัญหาของการชุมนุมประท้วง รวมถึงความไม่แน่นอนของอายุของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีโอกาสในการยุบสภาเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ซึ่งถ้าในกรณีที่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น และเสถียรภาพทางการเมืองโดยรวมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง SCRI ประเมินว่ามีความโน้มเอียงที่อาจจะต้องมีการปรับประมาณการณ์ GDP เพิ่มขึ้นจากระดับในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้โดยรวมแล้วในช่วงจากนี้ไปจึงยังคงต้องติดตามปัจจัยทางด้านการเมืองอย่างใกล้ชิด ว่าจะส่งผลกระทบกับทิศทางเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางใดบ้าง 
กำลังโหลดความคิดเห็น