xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียเริ่มโดนวิกฤตมากขึ้น หลายชาติเร่งหาแผนรับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ประเทศเกิดใหม่อย่างประเทศอินเดียก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน จนทำให้อินเดียต้องมีมาตรการเพื่อรับมือกับกัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น นั่นก็คือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้น"

นอกเหนือจากประเทศทางฝั่งตะวันตกที่กำลังรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงอยู่นี้ ประเทสในเอเชียหลายประเทศก็งัดมาตรการต่างๆออกมาเพื่อรับมือเช่นเดียวกันแม้ว่าจะได้รับผลกระทบที่ไม่รุนแรงเท่า แต่เมื่อประเทศที่ถือเป็นเศรษฐกิจหลักของโลกประสบปัญหา ประเทศอื่นๆ ก็ได้รับเช่นเดียวกัน แต่ในส่วนของภูมิภาคเอเชียแล้วส่วนใหญ่ได้รับกระทบในทางอ้อมกัน โดยบางประเทศที่พึ่งพิงกับสหรัฐเป็นหลักอาจได้รับผลกระทบนั้นรุนแรงเช่นญี่ปุ่น เป็นต้น

รายงานจากสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) เปิดเผยถึงภวะเศรษฐกิจในเอเชียไว้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติภายในประเทศญี่ปุ่น ในช่วง ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 อยู่ที่ระดับ -0.5% qoq และ -1.8% yoy ปรับลดลงจากประมาณการณ์เบื้องต้นในเดือนที่แล้วที่อยู่ที่ระดับ -0.1% qoq และ -0.4% yoy โดยปัจจัยหลักๆของการชะลอตัวลงจากประมาณการณ์ในครั้งที่แล้วมาจากตัวเลขทางด้านอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะตัวเลขในด้านการบริโภคที่มีการชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ โดยเป็นการหดตัวลง -0.3% qoq จากประมาณการณ์ในเบื้องต้นที่มีการขยายตัวได้เพียง 0.1% qoq ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายในภาครัฐบาลยังคงเป็นการชะลอตัวจากในไตรมาสที่แล้ว โดยหดตัวลงอีก -0.3% qoq นอกจากนั้นแล้วตัวเลขในด้านภาคการค้าต่างประเทศก็ยังคงส่งสัญญาณเป็นลบต่อเนื่อง ทำให้ภาคส่งออกของญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยขยายตัวได้เพียง 0.8% qoq ในขณะที่ยอดการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ตามระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีการปรับสูงขึ้นในช่วง ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ส่งผลให้ยอดการนำเข้าขยายตัวสูงขึ้นอีก 2.3% qoq
SCRI ประเมินว่าการกลับมาปรับตัวลดลงของภาคการบริโภคในประเทศของญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นสัญญาณถึงภาวะเงินฝืด (Deflation) ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงปี 2552 และจะส่งผลทำให้การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะใช้ระยะเวลายาวนานมากกว่าเดิมในการฟื้นตัว ซึ่งหลังจากที่ปัจจัยเศรษฐกิจจากภาคการบริโภคในประเทศในญี่ปุ่น ที่มีการประกาศออกมาปรับชะลอตัวลงจนถึงขั้นติดลบในช่วงไตรมาสนี้ได้ส่งผลให้ SCRI มีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นว่าอาจจะมีการถดถอยยาวนานกว่าที่มีการคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยจากการที่SCRI มองว่าประเทศญี่ปุ่นเคยเป็นประเทศที่เคยตกอยู่ในภาวะเงินฝืดในช่วงปี 1990 และยังกินระยะเวลามาอย่างยาวนาน และได้ส่งผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกอยู่ในช่วงซบเซามาอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ 90 แม้ว่าทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเคยลดอัตราดอกเบี้ยลงไปที่ระดับ 0.0%ก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้กลับมาได้อย่างเดิม จนกระทั่งภาคการบริโภคในประเทศถึงพึ่งจะมีการฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วง 5 ปีหลังที่ผ่านมาได้เอง

ทั้งนี้จากปัจจัยภายนอกประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในด้านของภาคการส่งออก ทำให้บ่งบอกได้ว่าโดยธรรมชาติของประชาชนญี่ปุ่นแล้วนั้น พร้อมที่จะลดการใช้จ่ายลงอย่างรุนแรง ยามเมื่อภาวะเศรษฐกิจตกอยู่ในช่วงถดถอย ซึ่งทั้งหมดแล้วทำให้ SCRIเชื่อว่าถ้าสถานการณ์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงส่งสัญญาณเป็นลบมากขึ้นอย่างเช่นในขณะนี้ จะกดดันให้ประชาชนที่ขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่แล้ว จะค่อยๆลดการใช้จ่ายลงอย่างต่อเนื่อง และอาจจะมีโอกาสส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืดในระบบขึ้นในช่วงปี 2552 และจะทำให้การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นทำได้ยากมากยิ่งขึ้น ในยามที่ปัจจัยจากภายนอกยังคงมีความอ่อนแออยู่มากอย่างในขณะนี้ ส่งผลให้โดยรวมแล้ว SCRIประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังคงเป็นลบมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยการชะลอตัวลงในภาคการบริโภคในประเทศ และจะทำให้มีโอกาสสูงที่ในช่วง 3-4 ไตรมาสข้างหน้า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 0.5% ปรับลดลงจาก 0.7% จากการคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้า ขณะที่เฉพาะในช่วง Q4/51 คาดการณ์ว่าจะหดตัวอยู่ที่ระดับ -0.3% yoy โดยนอกจากนั้นในปี 2552 คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลงอยู่ที่ระดับ -0.2%

ในอีกด้านหนึ่งประเทศเกิดใหม่อย่างประเทศอินเดียก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน จนทำให้อินเดียต้องมีมาตรการเพื่อรับมือกับกัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น นั่นก็คือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยรัฐบาลอินเดียได้แถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประมาณ 2 แสนล้านรูปี หรือประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2552 สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2552 เพื่อฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลก และเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นหลังจากเกิดเหตุโจมตีนครมุมไบ ในส่วนของมาตรการอื่นๆนั้น อินเดียจะยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าสำหรับนาฟธาที่ใช้ในภาคผลิตไฟฟ้า และยกเลิกภาษีศุลกากรส่งออกสำหรับแร่เหล็กและอนุญาตให้บริษัทสาธารณูปโภคของรัฐบาลสามารถออกหุ้นกู้ปลอดภาษีซึ่งมีมูลค่า 1 แสนล้านรูปี หรือประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาลกลางลง 4 % และจัดสรรเงินเพิ่มเติม 1.4 หมื่นล้านรูปี หรือประมาณ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการปรับปรุงอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ทันสมัย

ทั้งนี้ SCRI มีความเห็นที่เป็นบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอินเดียซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจอินเดียขยายตัวโดยอาศัยปัจจัยการบริโภคเอกชนและการลงทุนเป็นหลัก ในขณะที่การส่งออกสุทธิตั้งแต่ปี 2548 แม้ว่าจะไม่ได้มีบทบาทในการขยายตัวทางเศรษฐกิจเนื่องจากการเร่งตัวของการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ภาคบริการ (Service Sector) เป็นภาคที่ขับเคลื่อนการบริโภคภาคเอกชนนั้นเป็นภาคที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปในระดับสูง อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของบริการด้าน IT และบริการด้านการเงิน (Centre of Global Service Outsourcing) ความสำคัญของภาคบริการจะเห็นได้จากการที่มีสัดส่วนต่อ GDP ระดับสูงโดยในปี 2550 อยู่ที่ 53 % ดังนั้นการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอินเดียให้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลง

นอกจากนี้ SCRI มีความเห็นว่าตลาดทุนเริ่มคลายความกังวลมากขึ้นอันเป็นผลจากการแถลงของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโอบามาที่เน้นการใช้จ่ายภาครัฐผ่านการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคเพื่อสร้างงาน 2.5 ล้านตำแหน่ง รวมทั้งแผนช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ราย ได้แก่ จีเอ็ม ฟอร์ด และ ไครส์เลอร์ ได้ผ่านการกลั่นกรองจากรัฐสภาและนำส่งไปให้ประธานาธิบดีบุชพิจารณา ก่อนที่จะมีการลงคะแนนเพื่อเป็นกฎหมายในสัปดาห์นี้

กำลังโหลดความคิดเห็น