xs
xsm
sm
md
lg

ยอดส่งออกญี่ปุ่นลดครั้งแรกใน5ปี บ่งชี้เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ทั่วทั้งโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ยอดส่งออกของญี่ปุ่นตกลงอย่างที่ไม่คาดฝันในเดือนมิถุนายน โดยเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบเกือบห้าปี เพราะปริมาณสินค้าที่ส่งไปขายในตลาดเฟื่องฟูใหม่หดตัว จนไม่อาจชดเชยการตกทรุดในตลาดสหรัฐฯและยุโรปได้อีกต่อไป หลายฝ่ายมองว่าสถานการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า พวกประเทศเฟื่องฟูใหม่กำลังจะรับมือไม่ไหวแล้ว หลังต้านวิกฤตสินเชื่อมาได้นานถึง 1 ปี ขณะเดียวกันก็น่าจะเป็นสัญญาณว่า ช่วงแห่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะต้องสะดุดหยุดลงเสียแล้ว
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างมาก และหากภาคการส่งออกชะลอตัวลง ย่อมจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน ตลาดที่ญี่ปุ่นหวังพึ่งเพื่อชดเชยกับตลาดอเมริกาเหนือและยุโรปที่กำลังเผชิญกับวิกฤตสินเชื่อก็คือ ตลาดประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่และประเทศในเอเชีย แต่ตัวเลขเดือนมิถุนายนที่รัฐบาลแถลงออกมาวานนี้(24) ชี้ว่าการส่งออกไปยังเอเชียเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี
ปัจจัยหลักก็คือจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น สั่งซื้อสินค้าจากแดนอาทิตย์อุทัยลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการสินค้าในเดือนพฤษภาคม ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯก็ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สิบ และการส่งออกไปยุโรปลดลงติดกันเป็นเดือนที่สอง
แม้ว่าจีนและประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่อื่น ๆ ในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ทำท่าสามารถจะรอดพ้นจากผลกระทบของวิกฤตสินเชื่อที่เกิดจากหนี้เสียจำนวนมหาศาลในตลาดสินเชื่อซับไพรม์ของสหรัฐฯได้ก็ตาม แต่เนื่องจากสหรัฐฯและยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของโลก และตลาดทั้งสองต้องเผชิญหน้ากับภาวะธนาคารล้มละลายและสินเชื่อฝืดเคือง ในที่สุดแล้วพื้นที่ส่วนอื่น ๆของโลกก็ดูไม่อาจหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของเศรษฐกิจชะลอตัวได้เสียแล้ว
ยอดการส่งออกรวมของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายนตกลง 1.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 55 เดือน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ที่คาดกันก่อนหน้านี้ว่ายอดส่งออกจะเติบโตถึง 3.8% เกิดความกังวล แม้ว่ายอดการส่งออกสู่เอเชียยังจะเพิ่มขึ้น 1.5% แต่ก็เป็นอัตราเพิ่มที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2005 เป็นต้นมา ส่วนการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นเพียง 5.1% เท่านั้น เทียบกับอัตราเพิ่มถึง 12.2% ของเดือนพฤษภาคม
การส่งออกที่ลดลงเช่นนี้ยังเป็นสัญญาณอันน่ากังวลสำหรับแดนอาทิตย์อุทัยเอง เพราะอาจทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2002 ต้องสะดุดหยุดลง
สถานการณ์ของญี่ปุ่นโดยภาพรวมนั้นก็ไม่ดีเท่าไรนัก เมื่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนก็ชะลอตัว ทั้งที่เมื่อไตรมาสก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงขยายตัวราว 1%
"ข้อมูลบ่งว่าภาคการส่งออกอาจจะไม่สามารถช่วยพยุงอัตราการเติบโตของจีดีพีได้เหมือนก่อน เพราะอาจจะไม่เติบโตเลยหรือแม้แต่ติดลบ" จุงโกะ นิชิโอกะ นักเศรษฐศาสตร์ของโรยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์กล่าว "นอกจากนี้การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศก็ยังอ่อนตัวลงด้วย คำถามในตอนนี้ไม่ใช่ว่าจีดีพีจะหดตัวหรือไม่ แต่เป็นว่าจะหดตัวลงเท่าไร"
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า ลงเหลือเพียง 1.2% มาแล้ว ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี รวมทั้งยังการคาดด้วยว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบหนึ่งทศวรรษ หลังจากนั้นอัตสุชิ มิสุโนะ ผู้บริหารของธนาคารกลางญี่ปุ่นคนหนึ่งก็ยังออกมาพูดด้วยหากว่าความต้องการสินค้าของญี่ปุ่นจากพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ทั้งหลายตกลงไปอีก ธนาคารกลางของญี่ปุ่นอาจจะต้องปรับลดประมาณการณ์อัตราการเติบโตลงอีก
"เมฆหมอกที่ปกคลุมเหนือเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังไม่หายไปในเวลาอันใกล้นี้" มิสุโนะกล่าวต่อผู้นำธุรกิจที่มาประชุมกันที่อาโอโมริทางตอนเหนือของญี่ปุ่น เขากล่าวว่าปัจจัยที่สำคัญก็คือราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่พุ่งขึ้น นอกจากนี้เขายังได้กล่าวอีกว่าเป็นกังวลต่อความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าเงินเฟ้อเสียอีก
เขาบอกที่ประชุมว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะไม่ฟื้นคืนมาสู่ระดับปกติได้จนกว่าปี 2010 และตลาดการเงินส่วนใหญ่ก็จะคงยังมีปัญหาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น