xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยลบรุ่มตลาดหุ้น ประเดิมครึ่งปีหลังฝรั่งทิ้งต่อ 2 หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - สารพัดปัจจัยลบรอถล่มตลาดหุ้นไทย แม้สัญญาณทางเทคนิคจะดีดกลับระยะสั้น ทั้งปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจหดตัว อัตราเงินเฟ้อสูง รวมถึงการเมืองอึมครึม โบรกเกอร์ คาดแบงก์ชาติขยับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% 16 ก.ค.นี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น แย้มรอลุ้นข่าวดีผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/51 ช่วยพยุง ตลาดหุ้น ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปลอบขวัญมีโอกาสฟื้นเข้าสู่ตลาดกระทิง

เริ่มต้นช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ตลาดหุ้นไทยยังคงถูกปกคลุมด้วยปัจจัยลบ ทั้งปัจจัยภายในประเทศ คือ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเบี้ยช่วงขาขึ้น รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากมากขึ้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศยังคงต้องจับตาเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์)

ล่าสุดบรรยากาศการซื้อขายหุ้นในเดือนกรกฎาคม 2551 ยังคงซบเซา เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก หรือช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตั้งแต่ 2 - 11 ก.ค. 51 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยลดลงเหลือแค่วันละ 12,544 ล้านบาท เทียบกับครึ่งปีแรกมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 17,213 ล้านบาท และต่ำกว่ามูลค่าซื้อขายเฉลี่ยของเดือนก.ค. 50 ที่สูงถึงวันละ 31,829 ล้านบาท

จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ส่งผลให้มีแรงเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนก.ค. (8 วันทำการ) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้วกว่า 19,911 ล้านบาท หรือรวมตั้งแต่ต้นปี 51 ที่ผ่านมามียอดขายสุทธิรวมสูงกว่า 70,275 ล้านบาท

นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี กล่าวถึง ดัชนีตลาดหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 8 จุด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพราะได้รับปัจจัยบวกจากตลาดหุ้นดาวโจนส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และแรงซื้อในหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงนักลงทุนมองว่าราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน ได้ปรับตัวลดลงมาต่ำแล้ว จึงได้กลับเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นอีกครั้ง

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้านั้น คาดว่าดัชนีฯมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ โดยมีปัจจัยบวกจากสัญญาณทางเทคนิคที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว หลังปรับลงทำจุดต่ำสุดใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2551 รวมถึงผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/51 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 50

"ดัชนีตลาดหุ้นยังคงผันผวน แม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่คงไม่มากนัก เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการเมืองที่รุมเร้าและส่งผลสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นแรงกดดันที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกมาต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าจะไม่มีการยุบสภาหรือลาออก แต่จากผลคดีต่างๆ น่าจะเป็นทำให้รัฐบาลมีอายุการทำงานเหลือไม่ถึงสิ้นปีนี้ ช่วงระหว่างที่การเมืองรอการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญตลาดหุ้นจะยังคงถูกกดดันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

ขณะเดียวกัน นักลงทุนต้องจับตาปัจจัยต่างประเทศ ทั้งในเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะมีการประกาศตัวเลขดัชนีผู้ผลิตและผู้บริโภค ในวันที่ 15-16 ก.ค.นี้ รวมถึงการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น วันที่ 14-15 ก.ค.นี้ด้วยเช่นกัน

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็นร้อยละ 3.5 เพื่อลดการปรับสูงขึ้นของเงินเฟ้อในระยะต่อไป หลังพบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือนมิถุนายน ปรับขึ้นมาสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ร้อยละ 8.9 ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยถืออาจจะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นไทยบ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากตลาดได้คาดการณ์ไว้แล้ว

ในทางตรงกันข้ามหากกนง.ตัดสินใจคงดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25% ก็ไม่ได้มีผลบวกต่อตลาดหุ้นมากนัก เพราะเชื่อว่าต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแน่นอนในครั้งถัดไป หลังจากนี้เพราะเศรษฐกิจเผชิญกับแรงกดดันของปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนักกลยุทธ์การลงทุน แนะนำขายเมื่อดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้นแนวรับ 720 จุด แนวต้าน 746 จุด

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้บังคับบัญชาสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.พัฒนสิน กล่าวถึง แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า ว่า ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นในช่วงสั้น จากการคาดการณ์ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/51 ที่คาดว่าจะออกมาเชิงบวก และราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงมาลึกแล้วจะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนกลับเข้ามาเก็งกำไรมากขึ้น รวมทั้งการประชุม กนง. ที่ตลาดคาดการณ์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.25%

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในทิศทางขาลง แต่การฟื้นตัวจะเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะมีปัจจัยลบที่จะเข้ามากระทบต่อตลาดหุ้นอีกมาก โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องการเมือง ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งเรื่องการปรับครม. การยุบสภา หรือกระแสการคัดค้านของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยแนะนำให้ซื้อเก็งกำไร ภายในกรอบ 737 - 750 จุด

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นไทยยังถูกปกคลุมด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งในเรื่องของการชะตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองยังคุกรุ่น บวกกับปัจจัยด้านต่างประเทศ เรื่องผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) รวมถึงการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้

"ตลาดหุ้นไทยคงจะไปต่อได้ แต่ไม่มากนัก อาจจะมีแรงขายทำกำไรออกมาเป็นระยะ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่อีกมาก ทั้งสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบอย่างไร ยืดเยื้อมากน้อยขนาดไหน หากยิ่งยืดเยื้อนานก็จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน นอกจากนี้ยังต้องเจอแรงกดดันจากเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจชะลอตัวลงอีก ซึ่งปัญหาหลักอยู่ที่ราคาน้ำมันที่ทรงตัวสูงและมีแนวโน้มที่จะขึ้นไปอีก"

ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะหมีแล้ว หลังจากที่ดัชนีลดลงไปมากกว่า 20% ซึ่งสอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาค อันที่จริงเมื่อย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าประเทศไทยเคยประสบกับภาวะหมีมาแล้วหลายครั้ง โดยมีสาเหตุมาจากทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน ปัญหาสถาบันการเงิน และการลอยตัวค่าเงินบาท

อย่างไรก็ตาม จากสถิติที่ผ่านมาจะพบว่า ภาวะหมีมักตามมาด้วยภาวะกระทิงเสมอ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้น หากปัจจัยลบหลักอย่างปัญหาการเมืองคลี่คลายลง แต่การฟื้นตัวครั้งนี้จะใช้เวลายาวนานแค่ไหน ยังขึ้นกับปัจจัยสำคัญต่างๆ อันได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งแนวโน้มราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น