xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์การลงทุนทั่วโลก "เงินเฟ้อ-หุ้นตกต่ำ" สองปัจจัยดึงทองคำเนื้อหอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อได้ว่าในขณะนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังจับตามองการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลก ว่ากำลังจะไปในทิศทางใด และน่าเข้าไปลงทุนในช่วงจังหวะใด เพราะในตอนนี้ราคานํ้ามันกับเงินเฟ้อเป็นตัวที่กำลังจะทำให้หลายประเทศ มีภาวะทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมถึงตลาดหุ้นในประเทศนั้นๆ ด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นทางเลือกและให้ความรู้แก่นักลงทุนลองไปฟังรายงานจากผู้เชี่ยวชาญในด้านการลงทุน ที่ได้วิเคราะห์ถึงภาวะทางเศษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประเกอบการตัดสินใจแก่นักลงทุน
สุทธินี สิมะกุลธร
สุทธินี สิมะกุลธร ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซทพลัส จำกัด ได้กล่าวถึงภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกว่า เศรษฐกิจทั่วโลกมีการชะลอตัวลงจากการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เพิ่มต้นทุนการกู้ยืมด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาอาหารและพลังงานทะยานสูงขึ้น นอกจากนี้ การขาดทุนของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง ซึ่งเกิดจากวิกฤติการณ์สินเชื่อสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมียอดขาดทุนรวมในระดับประมาณ 400,000 ล้านดอลล่าร์ ยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบขยายตัวทางเศรษฐกิจ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดในระบบการเงินทั่วโลกไว้ที่ระดับประมาณ 945,000 ล้านดอลล่าร์) โดยนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า การควบคุมอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางในทุกประเทศดังกล่าวจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ในส่วนของ สหรัฐอเมริกานั้นกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกของปี 2008 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง โดยปรับสูงขึ้นจากการคาดการณ์ประกาศครั้งแรกที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.6 ซึ่งการขยายตัวของจีดีพีดังกล่าวเกิดจากแรงหนุนในภาคการบริการ การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการส่งออกที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มิ.ย. ลดต่ำลงมากในรอบ 16 ปี โดยปรับตัวลดลงมากกว่าช่วงหลังเกิดเหตุวินาศกรรมสหรัฐ เมื่อวันที่ 11 ก.ย.และพายุเฮอริเคนแคทรินา การลดลงดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้บริโภคจะยังไม่เพิ่มการใช้จ่าย และยังกังวลเกี่ยวกับการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจเมื่อมาตรการคืนภาษีของกระทรวงการคลังสิ้นสุดลง

สาเหตุหลักที่ทำให้ความเชื่อมันของผู้บริโภคลดลงนั้น "สุทธินี" ระบุว่า เกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐที่ยังคงซบเซา จากตัวเลขราคาบ้านในเดือน เม.ย. ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ การเริ่มสร้างบ้านลดลงในเดือนพ.ค. ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.1991 ซึ่งการลดลงของราคาบ้านนับตั้งแต่กลางปี 2006 นั้น ทำให้มูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยลดลง 4 ล้านล้านดอลลาร์

โดยนายเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีรว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของราคาบ้านในสหรัฐจะสิ้นสุดในช่วงปลายปีนี้ และหลังจากนั้นจะเริ่มกลับมาขยายตัวอย่างแข็งแกร่งขึ้น โดยตัวเลขอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายนเท่ากับ 5.5 % เท่ากับเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสูงสุดในรอบกว่า 3 ปีครึ่ง รวมถึงมีการคาดการณ์เงินเฟ้อว่าน่าจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ระดับราคาโดยรวมปรับตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน แต่ดัชนีราคาเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ยังค่อนข้างทรงตัว

ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2% ถือเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก นับตั้งแต่เฟดเริ่มวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็วในเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา ซึ่งการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมากกว่าภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอในปัจจุบัน ทำให้สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าปรับตัวรับโอกาสความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25 % ในเดือน ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปีนี้ 

ข้ามมาดูที่ฝั่งยุโรปกัน "สุทธินี" ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของยุโรปอยู่ที่ระดับ 3.6% ที่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ไม่เกิน 2% ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาเงินเฟ้อเป็นหลัก จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 4.25% ตามความคาดหมายเมื่อการประชุมวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ประธานธนาคารกลางยุโรป กล่าวว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันของยูโรโซนช่วยให้ อีซีบี สามารถควบคุมระดับราคาให้อยู่ในเป้าหมายได้ และเปิดทางให้มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อไป หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ต้องการให้ตลาดผลักดันให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น ทําให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า อีซีบี จะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก แม้ว่าหลายประเทศในยูโรปไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ เนื่องจากจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ เช่น สเปน ไอร์แลนด์ อิตาลี ที่ฝืดเคืองอยู่แล้วได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นอีก แต่อย่างไรก็ตาม OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศยูโรจะยังเติบโตได้ประมาณ 1.7% ในปีนี้ ลดลงจากปีที่แล้วที่เติบโต 2.6%

มาถึงภูมิภาคเอเชีย ผู้จัดการกองทุนแอสเซทพลัส มองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ส่วนใหญ่ขยายตัวในเกณฑ์ดี ทางด้านการส่งออกมีทั้งเร่งขึ้นและชะลอตัวลง ขณะที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกประเทศ โดยปัจจัยหลักยังคงมาจากราคาอาหารและพลังงานที่เร่งตัวขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศในภูมิภาคจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยพื้นฐานของแต่หลายประเทศ โดยหลายประเทศได้ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น เนื่องจากมีความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงทางด้านอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 1.3% ชะลอลงจาก 1.7% ในไตรมาสก่อน ตามการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ ล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ปรับลดประมาณการ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2551 (เมษายน 2551 – มีนาคม 2552) ลงจาก 2.0% เหลือ 1.5%

นอกจากนี้ "สุทธินี" ยังได้กล่าวถึงภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกด้วยว่า ในส่วนของภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกนั้น ดัชนีตลาดหุ้นของประเทศต่างๆปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีเพียงประเทศบราซิลที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกประมาณ 1.7%

ทั้งนี้ เป็นผลจากความวิตกกังวลในหลายๆประเด็น ได้แก่ ความกังวลเรื่องปัญหาซับไพร์ม ว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจสหรัฐและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเด็นปัญหาซับไพร์มที่ลุกลามไปยังหลักทรัพย์แปรรูป หรือซีดีโอ ที่ทำให้สถาบันการเงินต่างๆที่ลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวต้องตัดหนี้สูญและทยอยประการผลประกอบการที่ขาดทุนออกมาในไตรมาสที่ 1 แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในการลดภาษี ตรึงราคาสินค้า รวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจากธนาคารกลางของหลายๆประเทศ แต่ยังไม่สามารถต้านทานแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้

โดยในช่วงปลายไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนีปรับลดลงแรงซึ่งเป็นผลจากความวิตกกังวลในประเด็นเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นทั่วโลก โดยอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 46% ส่งผลให้ดอกเบี้ยทั่วโลกก้าวไปสู่ทิศทางขาขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงแรง และคาดด้วยว่าจะยังปรับตัวลงอีกระดับหนึ่ง จนกว่าระดับราคาน้ำมันจะมีความผันผวนน้อยลง ผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวได้กับระดับราคาน้ำมันที่สูง และผู้คนกล้าใช้จ่ายโดยไม่วิตกกังวลถึงเรื่องเงินเฟ้อในอนาคต

ผู้จัดการกองทุน กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาวะเงินเฟ้อและตลาดหุ้นตกต่ำเป็นสองปัจจัยหลักที่ทำให้นักลงทุนสนใจเข้าลงทุนในทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น 11%ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสูง ประกอบกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ทองคำเป็นทางเลือกในการลงทุนทางหนึ่งที่ได้รับความสนใจ จากการที่ทองคำเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่ใช้ลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง นักลงทุนจึงใช้ทองคำเป็นการลงทุนทางเลือกแทนการถือครองดอลล่าร์สหรัฐ โดยราคาทองคำมักจะมีราคาไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน รวมถึงเป็นทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น