xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนทางเลือกใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ออมอุ่นใจกับกองทุนประกันสังคม
วิน พรหมแพทย์, CFA, win@sso.go.th


ท่านที่ติดตามการลงทุนของกองทุนประกันสังคมมาโดยตลอดคงสังเกตได้ว่า เงินกองทุนประกันสังคมเติบโตรวดเร็วมาก เมื่อ 5 ปีก่อน กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนเพียง 200,000 ล้านบาทเท่านั้น มาถึงวันนี้ กองทุนมีเงินลงทุนเกือบ 600,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านล้านบาทในอีก 4 ปีนับจากนี้

ตลอดเวลากว่า 18 ปีที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมนำเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินออมของท่านผู้ประกันตน ไปลงทุนเพื่อหาดอกผล โดยเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคงสูงมากกว่าร้อยละ 84 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้เอกชนเพื่อรับดอกเบี้ย มีเงินลงทุนในหุ้นเพียงร้อยละ 5 และมีการลงทุนอื่นๆ เช่น เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จำนวนไม่มากนัก

อย่างไรก็ดี การที่กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่แหล่งลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ และด้วยธรรมชาติของอุปสงค์และอุปทานในระบบเศรษฐกิจ สินค้าใดที่มีคนต้องการมากย่อมขายในราคาแพง หากสำนักงานประกันสังยังคงทุ่มเงินลงทุนในพันธบัตรต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ต้องการของนักลงทุนจำนวนมาก จะทำให้สำนักงานต้องซื้อของราคาแพง นั่นคือ ต้องลงทุนในพันธบัตรที่ได้ดอกเบี้ยต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับการหาดอกผลของกองทุนในระยะยาว

ท่านผู้ประกันตนคงจะสังเกตได้ว่า ในขณะนี้ หากท่านนำเงินไปฝากออมทรัพย์ ท่านจะได้ดอกเบี้ยในอัตรา 0.50% ต่อปี (ฝาก 100 บาท สิ้นปีได้เงินคืน 100.50 บาท) หากท่านนำเงินไปฝากประจำ 1 ปี ท่านจะได้ดอกเบี้ยประมาณ 0.75 – 1.00% ต่อปี และหากท่านนำเงินไปซื้อพันธบัตรระยะสั้นอายุ 1 – 2 ปี ท่านจะได้รับดอกเบี้ยประมาณ 1.00% เช่นกัน จะเห็นได้ว่าการนำเงินออมของท่านไปลงทุนในช่วงนี้ให้ดอกเบี้ยต่ำมาก สำนักงานประกันสังคมก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นกัน หากสำนักงานยังทุ่มเงินลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ กองทุนประกันสังคมก็จะได้รับผลตอบแทนน้อยลง

ด้วยเหตุนี้เอง คณะกรรมการประกันสังคมจึงได้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการศึกษาการลงทุนทางเลือก” ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการลงทุน โดยมอบหมายภาระหน้าที่ให้ศึกษาแหล่งลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ เพื่อให้สำนักงานประกันสังคมได้มีทางเลือกการลงทุนใหม่ๆ ให้กับกองทุนประกันสังคมในอนาคต

การลงทุนทางเลือก คืออะไร
คำว่า “การลงทุนทางเลือก” หรือ Alternative Investments ไม่มีคำนิยามชัดเจน แต่โดยทั่วไปหมายถึง การลงทุนที่มีลักษณะแตกต่างจากการลงทุนในพันธบัตรและหุ้นที่เราคุ้นเคยกันดี โดยเป็นความต่างกันในเรื่อง “ผลตอบแทน” และ “ความเสี่ยง” จากการลงทุน การลงทุนทางเลือกมีลักษณะพิเศษดังนี้

1.มีสภาพคล่องต่ำ นั่นคือ เมื่อซื้อมาลงทุนแล้ว หากต้องการจะนำไปขายค่อนข้างลำบาก แต่การที่ซื้อขายไม่คล่องก็มีข้อดีมาชดเชย เพราะการลงทุนทางเลือกมักจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนทั่วๆ ไป โดยผู้ลงทุนจะได้รับส่วนต่างที่เรียกว่า “ค่าชดเชยสภาพคล่อง” หรือ Illiquidity Premium ซึ่งกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพเป็นกองทุนระยะยาว มีความสามารถในการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำได้

2.ช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน เนื่องจากการลงทุนทางเลือกมี “ผลตอบแทน” และ “ความเสี่ยง” ที่แตกต่างจากพันธบัตรและหุ้น เมื่อนำของที่ต่างกันมารวมไว้ด้วยกัน จะทำให้กองทุนมีความหลากหลาย หากปีใดตลาดพันธบัตรหรือหุ้นไม่ดี ผู้ลงทุนมักจะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนทางเลือกมาชดเชย

3.การลงทุนมีความซับซ้อนมาก ทำให้ผู้ลงทุนจำเป็นต้องใช้เวลาและมีต้นทุนสูงในการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งก่อนและหลังการตัดสินใจลงทุน การลงทุนพวกนี้จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น กองทุนบำนาญ และไม่เหมาะกับนักลงทุนรายย่อย

4.ในการวัดผลตอบแทนไม่มีราคาตลาดให้เทียบเคียงได้มากนัก การประเมินราคาหลักทรัพย์จึงทำได้ค่อนข้างยาก

การลงทุนทางเลือก มีรูปแบบอะไรบ้าง
การลงทุนทางเลือกมีหลากหลายรูปแบบมาก แต่เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
1.การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ คือการเป็นเจ้าของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีผู้เช่า เช่น อาคารสำนักงาน อพาร์ทเม้นต์ โรงแรม โรงงาน เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนสามารถจัดเก็บรายได้จากค่าเช่าได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาจมีกำไรจากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต

2.การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น การลงทุนโดยตรงในทองคำแท่ง หรือการลงทุนที่อ้างอิงราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น

3.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางด่วน, ท่าเรือ, ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟใต้ดิน), สนามบิน, โรงไฟฟ้า เป็นต้น

4.การลงทุนในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ คือ กองทุนที่นำเงินของลูกค้าไปลงทุนโดยที่ผู้จัดการกองทุนมีความคล่องตัวในการนำกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้ในการลงทุน มักไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์หรือการกำกับการลงทุนจากหน่วยงานของรัฐ

5.การลงทุนอื่นๆ เช่น การร่วมลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ (Joint Venture) การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) หรือการรับซื้อหนี้ของบริษัทที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง (Distressed Debt)

ทิศทางการลงทุนทางเลือก สำหรับกองทุนประกันสังคม
จากการประชุมของคณะอนุกรรมการศึกษาการลงทุนทางเลือกนับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2552 ถึงปัจจุบัน ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า จากทางเลือกการลงทุน 5 รูปแบบข้างต้น สำนักงานประกันสังคมน่าจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มที่ 4 และ กลุ่มที่ 5 เนื่องจากเมื่อเทียบกับ 3 กลุ่มแรก การลงทุนในกองทุนเฮดจ์ฟันด์และการลงทุนอื่นๆ มีความซับซ้อนมากที่สุด มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสของข้อมูลมากที่สุด และมีสภาพคล่องต่ำที่สุด ในช่วงนี้จึงควรชะลอไว้ก่อนและอาจนำกลับมาพิจารณาในอนาคต

ส่วนการลงทุนใน 3 กลุ่มแรก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ และโครงสร้างพื้นฐาน คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า มีความน่าสนใจลงทุนและมีลักษณะที่เหมาะสมกับกองทุน เนื่องจากการลงทุนใน 3 กลุ่มนี้คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว เป็นการช่วยรักษาค่าของเงินลงทุนให้กับกองทุนกรณีชราภาพซึ่งมีภาระจ่ายบำนาญให้กับผู้ประกันตนที่จะทยอยเกษียณอายุในอนาคต คณะอนุกรรมการฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการลงทุนเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม รวมทั้งการเตรียมทีมบุคลากรและระบบงานลงทุนให้พร้อมเพื่อรองกับการลงทุนเหล่านี้ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น