xs
xsm
sm
md
lg

อานิสงส์เศรษฐกิจเกาหลี+FTA...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงที่ผ่านมาประเทศเกาหลีใต้เป็นชื่อที่คนไทยได้ยินและรับรู้เรื่องราวต่างๆ เกือบทุกวันผ่านสื่อ ทั้งในส่วนของความบันเทิง ศิลปินดารา และอาหารการกินที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

 สำหรับการลงทุนเองก็เช่นกัน ในช่วงระยะเวลา 2 ปีทีผ่านมา นักลงทุนดูจะคุ้นเคยกับการลงทุนในพันธบัตรประเทศเกาหลีอย่างดี เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ต่างเดินหน้าเปิดขายกองทุนประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้มูลค่าโดยรวมของการลงทุนดังกล่าวสูงถึงหลายหมื่นล้านบาท

 โดยการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเกาหลีใต้นั่น ประเด็นที่น่าติดตามขณะนี้น่าจะเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้สมัยพิเศษที่เกาะเชจูและการประชุมผู้นำภาคธุรกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ (ซีอีโอ ฟอรั่ม) ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2552
 ทั้งนี้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีของไทยและคณะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้สมัยพิเศษที่เกาะเชจู พรัอมด้วยนักธุรกิจชั้นนำของไทยร่วมเดินทางได้เยือนเกาหลีใต้ด้วยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับนักธุรกิจของอาเซียนและเกาหลีใต้คาดว่าน่าจะมีผลดีต่อการค้าการลงทุนไทยในภายหน้า

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองถึงเรื่องนี้ว่า การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้สมัยพิเศษที่เกาะเชจูและการประชุมผู้นำภาคธุรกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ (ซีอีโอ ฟอรั่ม) ของนายกรัฐมนตรีและคณะ พร้อมด้วยนักธุรกิจชั้นนำของไทยในช่วงวันที่ 1-2 มิถุนายน 2552 โดยมีการลงนามในความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ฉบับที่ 5 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับนักธุรกิจของอาเซียนและเกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเปิดโอกาสการค้า การค้าบริการและการลงทุนระหว่างไทยและ เกาหลีใต้ให้ขยายตัวได้ดีขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น

 โอกาสขยายการส่งออกและการลงทุนไทย...ภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้
 นอกจากเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่มีทิศทางการปรับตัวดีขึ้นที่คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการลงทุนของไทยแล้ว ยังมีปัจจัยบวกจากการลงนามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ด้านการลงทุนในวันที่ 1-2 มิถุนายน 2552 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้ความตกลงเปิดเสรีด้านการค้า ภาคบริการและการลงทุนระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ จะส่งผลดีต่อภาคส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้และดึงดูดการลงทุนทั้งภาคการผลิตและการบริการจากเกาหลีใต้ รวมถึงขยายโอกาสการลงทุนของธุรกิจไทยในเกาหลีใต้ด้วย 
 โดยผลดีด้านการค้าระหว่างประเทศ ผลดีสำหรับประเทศไทยจากการเปิดการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้ในส่วนของการส่งออกและนำเข้า คือสิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยไปยังเกาหลีใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสิทธิการลดหย่อนภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยไปเกาหลีใต้ อีกทั้งยังเป็นช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่การส่งออกสินค้าของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ไปก่อนแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550

 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะมีศักยภาพดีขึ้นหลังจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เส้นด้ายอะคริลิก กากน้ำตาล คอมเพรสเซอร์ อาหารแช่แข็ง อัญมณีและเครื่องประดับ และแผ่นชิ้นไม้อัด เป็นต้น ขณะเดียวกันในด้านการนำเข้าสินค้านั้น ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่ต่ำลงจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบของไทยจากเกาหลีใต้ภายใต้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในประเทศไทยลดต่ำลงตามไปด้วย โดยจะช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของไทยอีกทางหนึ่ง

ผลดีด้านการลงทุน
  ความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้ความตกลงข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ฉบับที่ 5 ที่มีกำหนดลงนามในการประชุมครั้งนี้จะช่วยผลักดันและขยายการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและเกาหลีใต้  ทั้งนี้ ความตกลงว่าด้วยการลงทุน ฯ ฉบับนี้จะครอบคลุมการเปิดเสรีการลงทุนและให้ความคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน โดยครอบคลุมการลงทุน 5 สาขาดังนี้ คือ สาขาเกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่และภาคการผลิต

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การคุ้มครองด้านการลงทุนภายใต้ความตกลง ฯ จะสร้างความเชื่อมั่นให้แกนักลงทุนระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ โดยให้การปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อนักลงทุนแบบภาคี อาทิ การชดเชยค่าเสียหายแก่นักลงทุนในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ กรณีการเวนคืนที่ดินของรัฐที่ถือครองโดยนักลงทุนหรือแม้แต่การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากความตกลงว่าด้วยการลงทุน ฯ ฉบับนี้คือ โอกาสดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนเกาหลีใต้โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อป้อนออกสินค้าสู่ตลาดโลกรวมถึงการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้

 ด้านการบริการ ในส่วนของความตกลง FTA การค้าบริการระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2552 ธุรกิจด้านบริการของไทยที่มีความเปรียบและศักยภาพในการแข่งขันที่คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตได้ในเกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน คือ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจสปาและนวดแผนโบราณ ธุรกิจบริการออกแบบ ธุรกิจการบริการทำความสะอาดอาคารและธุรกิจสันทนาการ เป็นต้น 

 สรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้ความตกลงเปิดเสรีด้านการค้าภาคบริการและการลงทุนระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ น่าจะส่งผลดีต่อไทยในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งเรื่องของภาษี และการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยในสินค้าหลายประเภท ส่วนการลงทุนนั้นเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนจากเก้าหลีใต้ เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อป้อนออกสู่ตลาดโลกมากขึ้นอีกด้วย
 
ในส่วนของการค้าบริการนั้น ธุรกิจด้านบริการของไทยที่มีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่น่าจะมีโอกาสเข้าไปขยายธุรกิจในเกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน คือ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจสปาและนวดแผนโบราณ ธุรกิจบริการออกแบบ ธุรกิจการบริการทำความสะอาดอาคารและธุรกิจสันทนาการ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น