รมว.พลังงาน เล็งเข็นกองทุนน้ำมัน พยุงราคาขายปลีก 4 เดือน โดยขยายเวลาลดส่งเงินสบทบเข้ากองทุน หลังนายกฯ แสดงความเป็นห่วงผลกระทบราคาน้ำมันภายในประเทศ เพราะ พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิตร มีผลบังคับใช้แล้ว ขณะที่ราคาน้ำมันโลกปรับขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศแพงเกินจริง ด้านบิ๊ก ปตท.โล่งใจ น้ำมันโลกพุ่ง ต้อนคนไทยหันกลับมาพึ่งก๊าซ NGV เตรียมอ้อนรัฐขอขยับขึ้นราคาปีหน้า
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยระบุว่า กระทรวงพร้อมดำเนินการ หากนายกรัฐมนตรีต้องการให้ขยายระยะเวลาการลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อพยุงราคาน้ำมันออกไปเป็น 4 เดือน จากเดิม 1 เดือน
ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีสภาพคล่องและรับภาระต่อไปได้ โดยมีเงินสดหลังหักภาระหนี้ต่างๆ เหลืออยู่ประมาณ 15,000 ล้านบาท และคาดว่าราคาน้ำมันจะไม่ปรับสูงขึ้นมากนัก แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะแตะระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปแล้ว ซึ่งในอนาคต หากราคาน้ำมันลดลงมาบ้าง และค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็จะมีการเก็บเงินสะสมเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพราะขณะนี้ยังเหลือภาระหนี้จากภาษีสรรพสามิตน้ำมันอีกประมาณ 1.60 บาทต่อลิตร
ส่วนแนวทางการดูแลราคาแก๊สโซฮอล์ที่คาดกันว่าอาจปรับขึ้นไปถึงลิตรละ 30 บาท ตามราคาเอทานอลที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น กระทรวงพลังงานจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะหากเข้าไปควบคุมจะเกิดปัญหาและทำให้ต้นทุนไม่สะท้อนความเป็นจริง
ส่วนกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถซื้อเอทานอลตามสูตรราคาประกาศของกระทรวงพลังงานได้นั้น รมว.พลังงาน ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูแลการปรับสูตรราคาเอทานอลให้เหมาะสม ทั้งต้นทุนการผลิตจากมันสำปะหลัง และกากน้ำตาล (โมลาส) พร้อมทั้งเร่งรัดให้โรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนเอทานอล เนื่องจากขณะนี้ผู้ผลิตโมลาสมีการส่งออกในปริมาณสูง โดยราคาแนะนำเอทานอลจากโมลาสปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 18.59 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ลิตรละ 22-23 บาท และคาดว่าไตรมาสที่ 3 ราคาจะพุ่งเป็นลิตรละ 24 บาท
นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.ต้องปรับแผนลงทุนการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง (NGV) ใหม่ หลังจากรัฐบาลไม่พิจารณาปรับขึ้นราคา NGV จากขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัม 8.50 บาท แต่ยังหวังว่าในปีหน้าราคา NGV น่าจะปรับขึ้นได้ เนื่องจากราคาที่ตรึงอยู่ในปัจุบันส่งผลให้ ปตท.ประสบปัญหาขาดทุน
โดยไตรมาสแรกของปีนี้ ปตท.ขาดทุนจากการจำหน่าย NGV แล้วประมาณ 2,000 ล้านบาท ทำให้เฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะขาดทุนประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาขาดทุนสะสมรวม 11,000 ล้านบาท
สำหรับยอดการใช้ NGV ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,400-3,600 ตันต่อวัน มีรถยนต์ที่ติดตั้ง NGV จำนวน 140,000 คัน โดยเป็นรถบ้านมากที่สุด 53% รองลงมาเป็นรถแท็กซี่ 32% รถโดยสารและรถบรรทุก 15% ขณะที่ปริมาณการใช้ก๊าซ NGV สูงสุด คือ กลุ่มรถโดยสารและรถบรรทุก 58% รองลงมาเป็นรถแท็กซี่ 33% และบ้าน 9%
ทั้งนี้จากแนวโน้มราคาน้ำมันขาขึ้น ส่งผลเริ่มมีสัญญาณการใช้ NGV มากขึ้น เห็นได้จากยอดการติดตั้งระบบ NGV ในรถยนต์เดือนพฤษภาคม 2552 นี้ สูงขึ้นเป็น 60 คันต่อวัน จากเดือนเมษายน 2552 ที่มีการติดตั้ง 30 คันต่อวัน ขณะที่ปีที่ผ่านมามียอดติดตั้งสูงถึง 400 -500 คันต่อวัน