xs
xsm
sm
md
lg

มองผลการดำเนินงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Smart Money, Smart Life
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน
Association of Investment Management Companies
www.aimc.or.th
www.thaimutualfund.com


วิกฤตการณ์ทางการเงินที่เริ่มต้นจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้ส่งผลลุกลามไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก และ ส่งผลกระทบต่อตลาดทุน - ตลาดเงินทั่วโลกเป็นอย่างมาก ณ สิ้นปี 2551 ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงในทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็นดัชนี Dow Jones Industrial Average ในสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 33.84 ดัชนี FTSE 100 ประเทศอังกฤษ ก็ลดลงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 31.33 ส่วนในภูมิภาคเอเชีย การปรับตัวลดลงนั้นอยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นดัชนีตลาดหุ้น Hang Seng ของฮ่องกง ที่ปรับตัวลงลงสูงถึงร้อยละ 48.27 ดัชนีตลาดหุ้น Korean SE KOSPI Composite ของเกาหลีใต้ ลดลงประมาณร้อยละ 40.73 หรือดัชนีหุ้น Singapore Straits Time ของสิงคโปร์ ที่ปรับตัวลดลงสูงที่สุดที่ร้อยละ 49.17 ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นหลักของโลก MSCI World Index ได้ปรับลงไปมากถึงร้อยละ 46.9 ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET Index เองกับปรับตัวลดลงร้อยละ 47.56 เช่นกันนับตั้งแต่ต้นปี 2551 ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อผลตอบแทนการลงทุนของนักลงทุน ทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยที่มีการลงทุนในตราสารทุน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ กองทุนที่ได้มีการจัดสรรการลงทุนบางส่วนไปลงทุนในตราสารทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงได้รับผลกระทบจากภาวะผันผวนของตลาดหุ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ผลกระทบที่แต่ละกองทุนจะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการลงทุนในตราสารทุนและการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นในแต่ละตลาดเป็นหลัก

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ได้รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศต่างๆ ตามภูมิภาคของโลก พบว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน ล้วนแต่มีผลการดำเนินที่ลดลง เป็นไปตามตลาดและอัตราผลตอบแทนอ้างอิง (Benchmark) ที่กองทุนนั้นๆ ได้ลงทุนไว้ เรียงตามลำดับสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนจากมากไปหาน้อย ดังนี้

• SSgA Singapore Index Equity Fund ประเทศสิงคโปร์ มีพอร์ตการลงทุนที่เป็นการลงทุนในตราสารทุนทั้งหมด โดยลงทุนในหุ้นที่มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ณ สิ้นปี 2551 กองทุนดังกล่าวมีผลตอบแทนปรับตัวลดลงสูงถึงร้อยละ 47.26 และยังลดลงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.16 ในไตรมาส 1/2252 สอดคล้องกับดัชนีตลาดหุ้น Singapore Straits Time ที่ได้ปรับตัวลดลงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

• Fidelity Funds-Korea A USD ประเทศเกาหลี มีการลงทุนในตราสารทุน สูงถึงร้อยละ 91.50 จากภาวะผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก ผลประกอบการในปี 2551 จึงลดลงร้อยละ 41.16 และลดลงร้อยละ 0.29 ในไตรมาสแรกของปี 2552 ใกล้เคียงกับดัชนีตลาดหุ้น Korean SE KOSPI Composite ของเกาหลีใต้ที่ปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 40.73 เช่นกัน

• JF Provident High Growth ประเทศฮ่องกง มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนอยู่ที่ร้อยละ 83.40 ถึงแม้การลงทุนในตราสารทุนจะยังอยู่ในอัตราส่วนที่สูง อัตราผลตอบแทนก็ไม่ได้ปรับตัวลดลงเท่าดัชนีตลาดหุ้น Hang Seng เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนบางส่วน ร้อยละ 7.70 เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ และ ร้อยละ 8.80 อยู่ในรูปของเงินสด ซึ่งสามารถช่วยลดการขาดทุนของกองทุนได้บ้าง

• Clerical Medical Balanced Pension ประเทศอังกฤษ มีการลงทุนในตราสารทุนประมาณร้อยละ 72.20 ขณะเดียวกันก็มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่ร้อยละ 21.20 ส่งผลให้ผลการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2551อยู่ที่ร้อยละ 19.42 ในทางกลับกัน Friends Provident Balanced Funds of Funds ประเทศอังกฤษ มีการลงทุนในในตราสารทุนที่น้อยกว่าที่ร้อยละ 68.80 ซึ่งหมายถึงกองทุนควรได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าจากภาวะผันผวนของตลาด แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตราสารหนี้ของ Friend Provident Balanced Funds of Funds นั้นอยู่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า ที่ร้อยละ14.10 ทำให้อัตราผลประกอบการมีการลดลงมากกว่าเปรียบเทียบกับ Clerical Medical Balanced Pension อยู่ที่ร้อยละ 21.60

• Finsolet Funds ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลประกอบในปี 2551 ปรับตัวลดลงเพียงร้อยละ 15.37 เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินสด และเพียงร้อยละ 23 เป็นการลงทุนในตราสารทุน ทำให้ผลกระทบที่กองทุนได้รับนั้นน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones Industrial Average ในสหรัฐอเมริกาที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละถึงร้อยละ 33.84 ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

• Batirente Provident ประเทศแคนาดา การลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ที่ร้อยละ 38.50 และมีเพียงร้อยละ 20.40 เป็นการลงทุนในตราสารทุน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงไม่มาก ที่ร้อยละ 14.10

ในทำนองเดียวกัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทยที่มีการจัดสรรเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนในตราสารทุน โดยลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับกองทุนในหลายๆ ประเทศดังที่กล่าวมา เนื่องจากในปี 2551ดัชนีตลาดหุ้นของไทย หรือ SET Index เองก็มีการปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย ที่ร้อยละ 47.56 ตัวอย่างผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ในประเทศต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น จึงคงพอเป็นแนวทางให้ท่านที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ท่านเป็นสมาชิกได้ ซึ่งอัตราผลตอบแทนที่ท่านได้รับในปีที่ผ่านมาจะมากหรือน้อยเพียงไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนและสัดส่วนของการลงทุนในตราสารทุนเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น