xs
xsm
sm
md
lg

ศก.โลกปั่นป่วนหนัก แบงก์ยักษ์มะกันล้ม "คองเกรส" ยื้อแผนกู้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หุ้นลอนดอนร่วงกว่า 100 จุด วิตกแผนฟื้นฟูภาคการเงินสหรัฐ หลังสภาคองเกรส ยื้อแผน ส่วนเงินดอลลาร์ทรุดหนัก หลังข่าว "วอชิงตัน มิวชวล" ล้มกระทบต่อสภาพคล่อง แม้จะมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบได้ทัน ขณะที่ "ตลาดสินค้า" ปั่นป่วน ทองคำพุ่ง-น้ำมันร่วง ส่วนดัชนี "ดาวโจนส์" ผันผวนหนัก คาดขาใหญ่ปั่นหุ้นแบงก์ ดันดัชนีพุ่งปิดกว่า 100 จุด

วันนี้ ( 27 ก.ย.) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าดัชนีฟุตซี่ (FTSE) ตลาดหุ้นลอนดอน ปิดร่วงลงกว่า 108.5 จุด ปิดที่ระดับ 5,088.5 จุด เมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐเสนอต่อสภาคองเกรส เนื่องจากยังมีสมาชิกสภาคองเกรสบางกลุ่มคัคค้าน นอกจากนี้ ข่าวที่ว่าวอชิงตัน มิวชวล ล้มละลายได้ฉุดหุ้นกลุ่มการเงินร่วงลงอย่างหนัก

นายโฮเวิร์ด วีลดัน นักวิเคราะห์จาก BGC Partners ในกรุงลอนดอนกล่าวว่า ความกังวลที่ว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินของสหรัฐจะไม่ผ่านมติสภาคองเกรส และข่าวการล้มละลายของวอชิงตัน มิวชวล ส่งผลให้นักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นกลุ่มการเงินอย่างหนัก และฉุดดัชนี FTSE 100 ปิดในแดนลบ

การเจรจาเพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอาจไม่ราบรื่นเท่าที่มีการประเมินไว้ เมื่อนายคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC โดยระบุว่า ในเบื้องต้นนั้นวุฒิสภาเห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่แผนการดังกล่าวอาจไม่ราบรื่นเมื่อสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกของรีพับลิกันเหล่านี้มีนายอิริก แคนเตอร์ เป็นผู้นำทีม

นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนซบเซาลงหลังจากมีข่าวว่า เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ตัดสินใจเข้าซื้อทรัพย์สินของวอชิงตัน มิวชวล สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐ หลังจากวอชิงตัน มิวชวล เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินจนบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ต้องเข้ายึดกิจการบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการล้มละลายครั้งใหญ่เท่าที่เกิดขึ้นในแวดวงธนาคารของสหรัฐ

หุ้นรอยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ ดิ่งลง 5.7% หุ้นธนาคารลอยด์ ทีเอสบี ร่วงลง 8.1% หุ้นแบรดฟอร์ด แอนด์ บิงลีย์ ซึ่งเป็นสถาบันปล่อยกู้เพื่อการซื้อบ้านรายใหญ่ของอังกฤษ ร่วงลง 5.9%

ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกร่วงลง โดยหุ้นบีพีดิ่งลง 1.9% และหุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ร่วงลง 1.9%

**ดอลลาร์ทรุดหนัก หลังข่าว "วอชิงตัน มิวชวล" ล้ม

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนตัวผันผวนอย่างหนักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก (New York Mercantile Exchange) หรือ NYMEX เมื่อคืนนี้ (26 ก.ย.) โดยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ปอนด์ และฟรังค์สวิส แต่ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเรื่องแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ของสหรัฐ นอกจากนี้ ข่าวการล้มละลายของบริษัทวอชิงตัน มิวชวล ยังส่งผลให้นักลงทุนลังเลที่จะเข้าซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตรา

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงิเยนที่ระดับ 106.12 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 106.41 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.8423 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.8381 ดอลลาร์/ปอนด์

ส่วนค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.4617 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.4621 ดอลลาร์/ยูโร ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.8304 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8350 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.6851 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6816 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

นายไบรอัน โดแลน นักวิเคราะห์จาก Forex.com. กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันอย่างหนักหลังจากมีรายงานว่า เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เข้าซื้อทรัพย์สินของวอชิงตัน มิวชวล สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐ หลังจากวอชิงตัน มิวชวล เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินจนบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ต้องเข้ายึดกิจการบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการล้มละลายครั้งใหญ่เท่าที่เกิดขึ้นในแวดวงธนาคารของสหรัฐ

ภายใต้ข้อตกลงการเทคโอเวอร์กิจการ เจพีมอร์แกนจะรับผิดชอบบัญชีเงินฝากสินทรัพย์ และหนี้บางส่วนของวอชิงตัน มิวชวล ซึ่งมีฐานการดำเนินงานในกรุงวอชิงตัน โดยก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ในวงกว้างว่า FDIC จะเข้ายึดกิจการวอชิงตัน มิวชวล หลังจากบริษัทขาดทุนอย่างหนักในตลาดปล่อยกู้จำนอง และหลังจากราคาหุ้นวอชิงตัน มิวชวล ทรุดฮวบลง 95% อีกทั้งยังถูกสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ปรับลดอันดับเครดิต

นายโดแลน กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับปัจจัยลบจากความวิตกกังวลเรื่องแผนฟื้นฟูภาคการเงิน หลังจากนายคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ระบุว่า แผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ อาจชะงักงันเนื่องจากสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กระแสความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเมื่อริชาร์ด ฟิสเชอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส แสดงความเห็นว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินมีเป้าหมายที่จะนำเงินภาษีราษฎรไปซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน ซึ่งการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง

**คอมโมดิตี้ปั่นป่วน ทองคำพุ่ง-น้ำมันร่วง

ราคาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (26 ก.ย.) โดยราคาทะยานขึ้นเหนือระดับ 920 ดอลลาร์/ออนซ์ในระหว่างวัน หลังจากมีรายงานว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ยังเป็นที่ถกเถียงกันในสภาคองเกรสสหรัฐ ซึ่งข่าวดังกล่าวกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญญาทองคำเดือน ธ.ค.อย่างคับคั่ง เพราะมองว่าตลาดทองคำเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนในขณะนี้

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาทองคำตลาด NYMEX งวดส่งมอบเดือน ธ.ค.พุ่งขึ้น 6.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 888.50 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 920.10 ดอลลาร์/ออนซ์

ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือน ธ.ค.ดีดขึ้น 22.8 เซนต์ ปิดที่ 13.503 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนธ.ค.ปิดลบ 6 เซนต์ แตะที่ 3.0745 ดอลลาร์/ปอนด์

นายคาร์ลอส ซานเชส นักวิเคราะห์จาก CPM Group ในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า "ภาวะตึงเครียดในภาคการเงินเป็นเหตุผลสำคัญที่กระตุ้นนักลงทุนให้เข้าซื้อสัญญาทองคำ ขณะเดียวกันนักลงทุนยังคงจับตาดูว่าแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านจะผ่านมติเห็นชอบจากสภาคองเกรสหรือไม่ หลังจากมีรายงานว่าสมาชิกสภาคองเกรสบางคนยังไม่เห็นด้วยกันแผนการนี้ และหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บางคนโต้แย้งว่าแผนการดังกล่าวจะยิ่งทำให้รัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณ"

นายคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า แผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์อาจติดขัดอยู่ในสภาคองเกรส เนื่องจากสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจ

ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 1 ดอลลาร์ เมื่อคืนนี้ เนื่องจากแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในสภาคองเกรส ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญวิกฤตรุนแรงและส่งผลบั่นทอนความต้องการพลังงาน

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX งวดส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 1.13 ดอลลาร์ ปิดที่ 106.89 ดอลลาร์ หลังจากดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันที่ 104.25 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 1.06 ดอลลาร์ ปิดที่ 103.54 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 3.22 เซนต์ ปิดที่ 2.6651 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ย.ปิดลบ 3.09 เซนต์ แตะที่ 3.0174 ดอลลาร์/แกลลอน

นายจิม ริทเทอร์บุช ประธานบริษัท Ritterbusch and Associates ในรัฐอิลลินอยส์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันเคลื่อนตัวผันผวนมาก ขณะที่นักลงทุนจับตารอคอยแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่คณะทำงานของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เสนอต่อสภาคองเกรส แต่แผนการดังกล่าวยังไม่ผ่านความเห็นชอบของสมาชิกคองเกรสบางคน จึงทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้"

นายคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภา กล่าวว่าหากเฮนรี พอลสัน รมว.คลัง สนับสนุนข้อเสนอของแคนเตอร์ การเจรจาก็จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด โดยการเจรจาเรื่องดังกล่าวจะเริ่มขึ้นอีกครั้งในคืนนี้ ทางเลือกที่แคนเตอร์นำเสนอในสภาก็คือการใช้เงินจากกองทุนประกันหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) มาใช้กู้วิกฤตการณ์ในภาคการเงิน แทนที่จะใช้เงินภาษีราษฎรมาซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน" ด็อดด์กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ขณะที่วุฒิสมาชิกแคนเตอร์ กล่าวโต้แย้งว่า ข้อเสนอของเรามุ่งเน้นหลักการที่ว่า เราจะไม่ละทิ้งชาวอเมริกันผู้เสียภาษี และให้สถาบันการเงินในวอลล์สตรีทมีส่วนรับผิดชอบในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีส่วนในการ "เฉือนเนื้อตัวเองบ้าง" เพื่อให้สภาวะโดยรวมฟื้นตัวขึ้น ส่วนนายเจ๊บ เฮนซาร์ลิง วุฒิสมาชิกรัฐเท็กซัส กล่าวค้านว่า เราไม่ควรใช้แผนของ รมว.พอลสัน

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบุชเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะยาว หากสภาคองเกรสไม่เร่งผ่านนโยบายกู้วิกฤตการเงินมูลค่ากว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ธุรกิจหลายภาคส่วนอาจต้องล่มสลายและจะทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก

**ดาวโจนส์ผันผวนหนัก ขาใหญ่ปั่นดัชนีพุ่งปิดกว่า 100 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 100 จุดเมื่อคืนนี้ โดยคาดว่านักลงทุนรายใหญ่ปล่อยข่าวว่า สภาคองเกรสจะอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นกลุ่มการเงินดีดตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีนักลงทุนบางกลุ่มวิตกกังวลที่แผนการดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่สมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกัน

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์พุ่งขึ้น 121.07 จุด หรือ 1.10% ปิดที่ 11,143.1 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ดีดขึ้น 4.09 จุด หรือ 0.34% ปิดที่ 1,213.27 จุด แต่ดัชนี Nasdaq ลดลง 3.23 จุด หรือ 0.15% ปิดที่ 2,183.34 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.19 พันล้านหุ้น เทียบกับวันพฤหัสบดีที่ 5.73 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 2 ต่อ 1

หุ้นกลุ่มการเงินดีดตัวขึ้นขานรับรายงานข่าวที่ว่า เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ตัดสินใจเข้าซื้อทรัพย์สินของวอชิงตัน มูชวล สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐ หลังจากวอชิงตัน มูชวล เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินจนบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ต้องเข้ายึดกิจการบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการล้มละลายครั้งใหญ่เท่าที่เกิดขึ้นในแวดวงธนาคารของสหรัฐ

นายจูลี แวน คลีฟ นักวิเคราะห์จากบริษัท Deutsche Bank AG กล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดแล้วสภาคองเกรสจะอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การเจรจาเพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอาจไม่ราบรื่นเท่าที่มีการประเมินไว้ เมื่อคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC โดยระบุว่า ในเบื้องต้นนั้นวุฒิสภาเห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่แผนการดังกล่าวอาจไม่ราบรื่นเมื่อสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกของรีพับลิกันเหล่านี้มีนายอิริก แคนเตอร์ เป็นผู้นำทีม

นอกจากนี้ นักลงทุนบางกลุ่มยังวิตกกังวลเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูภาคการเงิน เมื่อริชาร์ด ฟิสเชอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส ไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ต้องใช้งบประมาณมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยกล่าวว่า แผนฟื้นฟูภาคการเงินซึ่งนายเฮนนี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐเสนอนั้น มีเป้าหมายที่จะนำเงินภาษีราษฎรไปซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน ซึ่งการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้แย่ลงไปอีก

หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ดีดตัวขึ้น 6.8% ส่วนหุ้นเจพีมอร์แกน พุ่งขึ้น 11% ขานรับข่าวที่ว่าเจพีมอร์แกนตัดสินใจเข้าซื้อทรัพย์สินของวอชิงตัน มูชวล สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่หนุนดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนบวก

อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวฉุดหุ้นวอชิงตัน มิวชวล ทรุดหนักถึง 91% ส่วนหุ้นเมอร์ริล ลินช์ ดีดขึ้น 6.8%
กำลังโหลดความคิดเห็น