การลงทุนในช่วงนี้ไม่ค่อยมีควาามหลากหลายเท่าไรนัก กองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ของเกาหลีใต้ยังถูกเข็นออกมาขายอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดผลตอบแทนของตราสารหนี้ขององค์กรรัฐวิสาหกิจเกาหลีใต้เริ่มปรับตัวลดลงมาใกล้เเคียงกับตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเกาหลีใต้แล้ว ทำให้หลายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เริ่มเปลี่ยนแปลงท่าทีหันไปลงทุนตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเกาหลีใต้โดยตรงมากขึ้น
แต่ในช่วงสัปดาห์นี้ เราจะพามาแนะนำกองทุนที่ค่อนข้างใกล้ตัวกันดีกว่า ซึ่งมีความจุดดีจุดเด่นแตกต่างกันไป กองทุนแรกเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) ที่บริหารโดย บลจ.กรุงไทย ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยเซฟวิ่งฟันด์ (Krung Thai Saving Fund : KTSV)...ส่วนกองทุนนี้มีนโยบายอย่างไร ต้องลงทุนนานเท่าไหร่ แล้วจะให้ผลตอบแทนได้ตรงใจผู้ลงทุนมากแค่ไหน "MutualFund IPO" มีรายละเอียดมาให้แล้ว...
สมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า กองทุนเปิดกรุงไทยเซฟวิ่งฟันด์ ถือว่าเป็นกองทุนรวมตลาดเงินกองที่ 2 ของบริษัท ต่อจากกองทุนรวมตลาดเงินแรกคือ กองทุนเปิดกรุงไทยสะสมทรัพย์ (KTSS ) โดยกองทุนเปิดกรุงไทยเซฟวิ่งฟันด์มีความแตกต่างจากกองทุนกรุงไทยสะสมทรัพย์ตรงที่จะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งความเสี่ยงของกองทุนสามารถเทียบได้กับการฝากเงินออมทรัพย์
ส่วนกองทุนเปิดกรุงไทยสะสมทรัพย์นั้นเป็นกองทุนที่ลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงิน ตราสารหนี้ภาครัฐหรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade ขึ้นไป ที่มีอายุไม่เกิน1 ปี และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนดังกล่าวในปัจจุบันอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท และมีอัตราผลตอบแทนนับจากต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.42%ต่อปี
สมชัย บอกว่า กองทุนเปิดกรุงไทยเซฟวิ่งฟันด์ จะเปิดขายครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่วันนี้ – 3มิถุนายน 2552 และจะเปิดขายครั้งต่อไปในวันที่ 10 มิถุนายน 2552 เป็นต้นไป ซึ่งในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2552 หากเลือกลงทุนในกองทุนเปิดกรุงไทยเซฟวิ่งฟันด์ และกองทุนเปิดกรุงไทยสะสมทรัพย์ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับหน่วยลงทุนเพิ่มอีกมูลค่า 200 บาท
สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทยเซฟวิ่ง ฟันด์ จะเน้นลงทุนในตราสารภาครัฐไทย โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยส่วนที่เหลือจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้และหรือตราสารทางการเงินอื่น รวมทั้งลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีตามสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด หรือเห็นชอบให้ลงทุนได้ ซึ่งมีกำหนดชำระคืนเมือทวงถามหรือจะครบกำหนดชำระคืนหรือมีอายุสัญญาไม่เกิน 1ปี นับตั้งแต่วันที่กองทุนได้ลงทุน
ทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) และจะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) รวมถึงตราสารแห่งหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือผู้ออดตราสารต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (non investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
กองทุนเปิดกรุงไทยเซฟวิ่ง ฟันด์ จะเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2552 โดยไม่มีการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อขายหน่วยลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถติดต่อผ่านตัวแทนการขาย และสาขาธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ หรือเว็บไซต์ www.ktam.co.th
ส่วนอีกกองทุนที่เปิดขายไอพีโอในช่วงนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.ทิสโก้ ได้แก่ กองทุนเปิดทิสโก้ สเปเชี่ยล พลัส 12 (TISCO Special Plus Fund #12) ซึ่งเน้นลงในตราสารหนี้ของธนาคารพาณิชย์และบริษัทเอกชน โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การตีราคาสินทรัพย์ (Mark to Market) สามารถยุบกองกำหนดได้หากมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ปรับตัวแตะ 10.42 บาทก่อนกำหนด
พิชา รัตนธรรม หัวหน้าธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บลจ.ทิสโก้ เล่าให้ฟังว่า กองทุนเปิดทิสโก้ สเปเชี่ยล พลัส 12 จะเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากธนาคารในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง โดยจะมีนโยบายเหมือนกองทุนเปิด ทิสโก้ สเปเชี่ยล พลัส 11 ที่มุ่งเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเอกชน
ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวมีเงื่อนไขพิเศษให้ผู้ถือหน่วยสามารถเลิกกองทุน และรับเงินต้นคืนพร้อมผลตอบแทนได้ก่อนครบอายุโครงการ หากมูลค่าหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10.42 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 4% ณ วันทำการใดภายในระยะเวลา 1 ปี
“กองทุนนี้แตกต่างจากกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งผู้ลงทุนจะมีทางเลือกเดียวนั่นคือต้องถือหน่วยลงทุนจนครบอายุโครงการจึงจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน แต่กองทุนนี้จะมีโอกาสทำกำไรจากการปรับราคาทรัพย์สินที่ลงทุนให้สะท้อนกับราคาทรัพย์สินที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาด หรือที่เรียกว่าราคาจากการ Mark to Market ด้วย จึงทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายเร็วขึ้น" พิชา บอก
สาเหตุที่นำการ Mark to Market เข้ามาเป็นเงื่อนไขในการลงทุนด้วยนั้น เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนยังคงกังวลกับภาวะเศรษฐกิจและยังไม่เชื่อมั่นในการลงทุนตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน จึงทำให้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มหรือ Credit spread ของตราสารหนี้เอกชนอายุประมาณ 2-3 ปีสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นักลงทุนจะกลับเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้เอกชนมากขึ้น จนทำให้ Credit spread หรือผลตอบแทนจากการลงทุนตราสารหนี้เอกชนลดลง การล็อกยาวผลตอบแทนที่สูงกว่าในตลาดไว้ในตอนนี้จะทำให้กองทุนได้รับประโยชน์ในส่วนของการ Mark to Market อีกด้วย
สำหรับกองทุนเปิด ทิสโก้ สเปเชี่ยล พลัส 12 จะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่ะนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น รัฐวิสาหกิจ นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น บริษัทเงินทุน บริษัทเอกชนทั่วไป หรือบุคคลอื่นใด เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัก ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา และอาจลงทุนในเงินฝาก ตั๋วเงินคลัง พันะบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันะบัตรหรือตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังหรือกองุทนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัก หรือผู้ค้ำประกัน ตราสารหนี้ทางการเงินหรือตราสารหนี้อื่นๆ ตลอดจนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลดดยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามทีคณะกรรมการ ก.ล.ต.หรือสำนักงานคุณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) และตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (non - investment grade) เฉพาะกรณีที่ตราสารหนี้นั้นได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) ขณะที่กองทุนลงทุนเท่านั้น แต่กองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Securities)
กองทุนเปิด ทิสโก้ สเปเชี่ยล พลัส 12 จะทำการเสนอขายเพียงครั้งเดียวถึงวันที่ 2 มิถุนายนนี้ และมีเงินลงทุนขั้นต่ำอยู่ที่ 20,000 บาท ผู้สนใจลงทุนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ โทร.02 633 7351-57 หรือหน่วยลูกค้าสัมพันธ์กองทุนรวม โทร. 02 633 7777 หรือที่เว็บไซต์ www.tiscoasset.com