ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ. บัวหลวง เป็นปลื้มดีมานด์กองทุนเปิด"บัวหลวงธนทวี" ล้น หลังดอกเบี้ยเงินฝากตกต่ำ ล่าสุดเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 20,000 ล้านบาทเป็น 100,000 ล้านบาท ชูผลตอบแทนใย้อนหลัง 1 ปีสูงถึง 2.45% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 2.19% ขณะเดียวกันเปิดขายกองทุนรวม "บัวหลวงธนสารพลัส 9/09" ลงทุนในตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจของประเทศเกาหลี เริ่มไอพีโอแล้ววันนี้ ถึง 1 มิ.ย. 52
นายวศิน วัฒนวรกิจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลตอบแทนไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้มากนัก ดังนั้น นักลงทุนจึงหันเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (มันนี่มาร์เกต) แทน ซึ่งกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี (B-TNTV) ของบลจ.บัวหลวง ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากว่ากองทุนดังกล่าวสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์
ล่าสุด จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว บริษัทจึงได้เพิ่มทุนจดทะเบียนกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวีอีก 20,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่ 80,000 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มทุนดังกล่าว ส่งผลให้ขนาดของกองทุนเพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การเพิ่มทุนครั้งนี้ ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา
“กองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี เป็นกองทุนที่นักลงทุนต่างให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก สาเหตุเนื่องมาจากเพราะอัตราดอกเบี้ยงเงินฝากขาดความน่าสนใจ ทำให้กองทุนของเราขายดี ส่งผลบริษัทต้องจดทะเบียนเพิ่มขึ้น เพื่อขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง" นายวศิน กล่าว
สำหรับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือเอ็นเอวีของกองทุน ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2552 มีอยู่ทั้งสิ้น 77,703.61 ล้านบาท และมูลค่าหน่วยลงทุนอยู่ที่ 11.36 บาทต่อหน่วย ส่วนผลตอบแทนของกองทุน ณ วันที่ 24 เมษายน 2552 กองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 1.44% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 1.16% ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 2.06% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 1.67% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 2.45% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 2.19% ย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 3.35% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 2.95% และผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 3.27%
ขณะที่สัดส่วนการลงทุน ณ วันที่ 24 เมษายน 2552 แบ่งออกเป็น เงินฝาก/ตั๋วสัญญาใช้เงิน 39.21% ตั๋วเงินคลัง 18.42% พันธบัตรรัฐบาล/ธปท. 19.16% หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน 9.01% ตั๋วแลกเงิน 13.62% อื่น ๆ 0.58% และ 5 อันดับแรกของตราสารหนี้เอกชน และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารและบริษัท ที่กองทุนเข้าไปลงทุนได้แก่ 1. ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) 6.96% 2. ธนาคารมิซูโฮ คอร์ปอเรต 3.42% 3. ธนาคารคาลิยง 2.73% 4. บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 2.43% และ 5. ธนาคารแห่งโตเกียว - มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ 2.06%
นายวศิน กล่าวต่ออีกว่า ขณะเดียวกันบริษัทได้เปิดขายกองทุนใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 9/09 เน้นลงทุนในตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจของประเทศเกาหลี ซึ่งมีอายุโครงการ 6 เดือน และมีมุลค่าของโครงการ 2,000 ล้านบาท เริ่มไอพีโอแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2552
ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าว เหมาะสมกับเงินลงทุนส่วนที่ต้องการความมั่นคง และความเสี่ยงต่ำ เพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงิน โดยไม่ต้องไปลงทุนในหุ้น ลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท ที่ราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหน่วยลงทุน
ก่อนหน้านี้ บริษัทได้เปิดขายกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 7/09 และ 8/09 มีอายุ 6 เดือน และ 1 ปี ตามลำดับ โดยกองทุนมีนโยบายการลงทุนในตราสารสถาบันการเงินเกาหลีใต้ และมีมูลค่ากองทุนทุนละ 3,000 ล้านบาท โดยได้เริ่มเปิดขายหน่วยลงทุนไปแล้วระหว่างวันที่ 18 - 27 พฤษภาคม นี้