ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ.แอสเซท พลัส มองดัชนีหุ้นไทย ขยับขึ้นเท่าปัจจัยพื้นฐานแล้ว ด้วย P/E 12 เท่า ลุ้นผลประกอบการ บจ. ไตรมาสแรกดีเกินคาด ดึงเงินกลับเอเชีย ดันดัชนีพุ่งต่อ เผย "LTF - RMF" ได้อานิสงส์ นักลงทุนออมเงินเพิ่ม พร้อมแนะลงทุนแบบถัวเฉลี่ยลดความเสี่ยงของพอร์ต
นางสาวบุษเรศ หยุ่นนิยม ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานแล้ว คาดว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไม่น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากระดับนี้อีกมากนัก เนื่องจากดัชนีฯ ได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ P/E ปี 2552 ประมาณ 12 เท่าแล้ว ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลังประมาณ 10ปี รวมทั้งราคาหุ้นส่วนใหญ่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในช่วงขยายตัว แต่เป็นเพียงการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 52 ที่ออกมาดีกว่าที่นักลงทุนคาดนั้น อาจทำให้มีการปรับเพิ่มประมาณการผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 52 ประกอบกับแนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงอาจทำให้มีกระแสเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทยด้วย จึงอาจทำให้ดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเกินจากปัจจัยพื้นฐานดังกล่าว
สำหรับการบริหารพอร์ตการลงทุนทั้งในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ลงทุนในหุ้น ขณะนี้เน้นลงทุนในหุ้นที่มีผลประกอบการดีและคาดว่าจะดีต่อเนื่องในระยะต่อไป นอกจากนี้ มีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ซึ่งได้รับผลดีจากกระแสเงินสดที่ไหลเข้ามาลงทุน เพื่อหาจังหวะทำกำไร สำหรับผู้ที่จะลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ที่ลงทุนในหุ้น เพื่อการลดหย่อนภาษี หากนักลงทุนใช้วิธีลงทุนแบบถัวเฉลี่ยหรือ Dollar Cost Average ระหว่างปี ก็ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดหุ้นในช่วงนี้ และยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงของราคาต้นทุนให้กับนักลงทุนได้อีกด้วย
นางสาวบุษเรศ กล่าวว่า กองทุนหุ้นระยะยาว ภายใต้การจัดการของ บลจ.แอสเซท พลัส มีทั้งหมด 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสหุ้นระยะยาว (ASP-LTF) และกองทุนเปิดแอสเซทพลัสหุ้นระยะยาวทวีกำไร (ASP-GLTF) ทั้งสองกองทุนมีรูปแบบการลงทุนที่ต่างกัน โดยกองทุนเปิดแอสเซทพลัสหุ้นระยะยาวเป็นกองทุนตราสารทุน ปัจจุบันลงทุนในหุ้นประมาณ 90% ของพอร์ตการลงทุน ส่วนที่เหลือจะลงทุนในเงินฝากของสถาบันการเงิน
โดยกองทุนมีกลยุทธ์ในการลงทุนด้วยการคัดเลือกหุ้นรายตัว (Stock selection) โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง มีศักยภาพในการแข่งขันที่จะรักษาฐานลูกค้าของตัวเองไว้ได้ในระยะยาวและมีความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ กองทุน ASP-LTF มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่เกินปีละ 1 ครั้ง ซึ่งตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อปี 2549 กองทุนมีการจ่ายปันผลต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดปี 2551 จ่ายปันผลจำนวน 0.25 บาท/หน่วยลงทุน ณ วันที่ 30 เมษายน 2552 กองทุน ASP-LTF มีผลการดำเนินงานย้อนหลังนับตั้งแต่ต้นปี หรือ YTD อยู่ที่ 10.45% ขณะที่ SET Index อยู่ที่ 9.27% ต่อปี
ขณะที่กองทุนเปิดแอสเซทพลัสหุ้นระยะยาวทวีกำไร เป็นกองทุนตราสารทุน ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นคุณค่า หุ้นเติบโต และหุ้นที่มีศักยภาพในการเพิ่มขึ้นของราคาสูงเมื่อเทียบกับตลาด (High beta stocks) โดยเป็นกองทุนที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ปัจจุบันกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นประมาณ 90% ส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และเงินฝาก ทั้งนี้กองทุนสามารถทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงในสภาวะตลาดที่ผันผวน โดยกองทุน ASP-GLTF มีผลการดำเนินงานของกองทุน ณ วันที่ 30 เมษายน 2552 นับตั้งแต่ต้นปี หรือ YTD อยู่ที่ 10.96% ขณะที่ SET Index อยู่ที่ 9.27% ต่อปี
ส่วนกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่ลงทุนในหุ้น มี 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสหุ้นผสมตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (ASP-MRF) มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพของการเพิ่มขึ้นของราคาสูงเมื่อเทียบกับราคาตลาด (High beta Stock) เลือกลงทุนผสม ทั้งในหุ้น และตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นประมาณ 90% ส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และเงินฝาก
โดยกองทุน ASP-MRF มีผลการดำเนินงานของกองทุน ณ วันที่ 30 เมษายน 2552 นับตั้งแต่ต้นปี หรือ YTD อยู่ที่ 10.66% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐาน อยู่ที่ 4.39%
และกองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (ASP-ERF) มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริหารกองทุนโดยเลือกลงทุนผสม ทั้งในหุ้นคุณค่า (Value Stock) และหุ้นเติบโต (Growth Stock) ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลสูงเลือกลงทุนในจังหวะและราคาที่เหมาะสม ปัจจุบันกองทุนลงทุนในหุ้นประมาณ 90% ส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และเงินฝาก โดยกองทุน ASP-ERF มีผลการดำเนินงานของกองทุน ณ วันที่ 30 เมษายน 2552 นับตั้งแต่ต้นปี หรือ YTD อยู่ที่ 10.48% ขณะที่ SET Index อยู่ที่ 9.27%
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น แต่ยังต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนในกองทุน RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ โดยในส่วนของบริษัทฯ มีหนึ่งกองทุนที่มีผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ และน่าพอใจ คือ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (FRF) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน ปัจจุบันกองทุนลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารของธนาคารพาณิชย์ในประเทศประมาณ 20% ขณะที่ลงทุนในตราสารหนี้ของภาคเอกชน อีกประมาณ 80%
สำหรับการบริหารพอร์ตการลงทุนในกองทุน ASP-FRF จากภาวะตลาดตราสารหนี้ในช่วงนี้ หลังจากรัฐบาลได้ออกแผนการเพิ่มปริมาณพันธบัตรในตลาด มูลค่า 8 แสนล้านบาท ทำให้แนวโน้มผลตอบแทนจากตลาดตราสารหนี้มีความผันผวนมากขึ้น จึงได้มีการขายตราสารหนี้ระยะยาวออกไป และเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนดังกล่าว และเตรียมพร้อมสำหรับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้น โดยขณะนี้พอร์ตกองทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพดีที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ ดีกว่าอันดับ A+ ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี เพื่อเพิ่มผลตอบแทนและลดความผันผวนของกองทุน
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 เมษายน 2552 กองทุน ASP-FRF มีผลการดำเนินงานของกองทุนที่น่าพอใจ โดยมีผลการดำเนินงานของกองทุน ณ วันที่ 30 เมษายน 2552 นับตั้งแต่ต้นปี หรือ YTD อยู่ที่ 5.15% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐาน อยู่ที่ -1.41%
ลุ้นดัชนีแตะระดับ600จุด
นาย พนุกร จันทรประภพ ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ที่ผ่านมาการที่ดัชนีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 500 จุดได้นั้น ถือได้ว่าเป็นการปรับขึ้นที่เหนือความคาดหมายมาก อีกทั้งการเป็นการปรับขึ้นที่เร็วมาก แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้นนั้น โอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 600 จุด
"ถ้าระยะสั้น ดัชนีสามารถขึ้นไปอยู่ที่ 600 จุดได้ นักลงทุนจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพราะความเสี่ยงก็จะปรับตัวสูงตามไปด้วย การที่ดัชนีดีดตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในขณะนี้นั้น ได้ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัว โดยเรามองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในตอนนี้ได้สะท้อนเร็วเกินไปว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้จบลงแล้ว"นายพนุกร กล่าว
ทั้งนี้ เรามองว่าหากระยะสั้นดัชนีถึง 600 จุด จะทำให้ค่า PEของตลาดอยู่ที่ 14 เท่า โดยปกตินั้น PE ของตลาดไทยจะมีการซื้อขายอยู่ที่ 12 เท่า เท่านั้นเอง ซึ่งหากดัชนีถึง 600 จุดนั้น ยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะมีเม็ดเงินไหลเข้าจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อ ทั้งนี้ หากเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาได้ดันดัชนีถึง 600 จุด ขณะที่PE อยู่ที่ 14 เท่า จะทำให้สูงกว่าค่าPEเฉลี่ยของที่ผ่านมาซึ่งคงอยู่ที่ 10-12 เท่า