xs
xsm
sm
md
lg

กองบอนด์ค่ายอเบอร์ดีนรอดตัว ปรับพอร์ตทันเอ็นเอวีไม่ขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.อเบอร์ดีนเผย กองทุนตราสารหนี้ไม่ขาดทุน จากผลพวงแผนออกพันธบัตรมูลค่า 8 แสนล้านบาทของรัฐบาล เหตุเก็บพันธบัตรระยะยาวตุนไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ไตรมาส 2 และ 3 ของปีก่อน ล่าสุด เทคโพรฟิตลดดูเรชั่นลงต่ำกว่าเบนซ์มาร์กแล้ว ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ย มองกนง.ขยับลงอีก 0.25% ระบุตราสารหนี้-หุ้นกู้ ยังลงทุนได้
นายพงค์ธาริน ทรัพยานนท์
นายพงค์ธาริน ทรัพยานนท์ ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) อเบอร์ดีน จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ที่ค่อนข้างผันผวนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่กระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ของบริษัทมากนัก เนื่องจากกองทุนได้เข้าไปเก็บพันธบัตรระยะยาวเอาไว้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ของปีก่อนแล้ว ดังนั้น การประกาศแผนระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรมูลค่า 8 แสนล้านบาทของรัฐบาล จึงไม่ได้ทำให้กองทุนของอเบอร์ดีนขาดทุน หลังจากผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นไป จนฉุดให้ราคาของพันธบัตรดังกล่าวปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้น เราเองได้ปรับพอร์ตด้วยการทยอยขายพันธบัตรระยะยาวออกไปบ้างแล้ว แต่ไม่ได้ขายออกไปทั้งหมดโดยยังคงสัดส่วนการลงทุนเอาไว้ในพอร์ตบ้าง ซึ่งในขณะนี้ การลงทุนในน้ำพันธบัตรอายุ 5 ปี ยังให้น้ำหนักเท่ากับน้ำหนักในตลาด เช่นเดียวกับพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งพันธบัตร 2 ปีดังกล่าวเรามองว่าราคาเต็มมูลค่าแล้ว นอกจากว่าดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำกว่า 1% ส่วนพันธบัตรอายุ 10 ปี เราให้น้ำหนักต่ำกว่าน้ำหนักตลาด

"กองทุนตราสารหนี้ของเราได้เทคโพรฟิตไปเยอะพอสมควร โดย ณ วันนี้ พอร์ตของเราสั้นกว่าเบนซ์มาร์กแล้วประมาณ 0.25-0.30 ปี ซึ่งหลังจากนี้ เรายังมองว่าโอกาสที่ดอกเบี้ยระยะยาวจะขยับขึ้นไปได้อีก 0.20-0.30% โดยความเสี่ยงหลักคือยังไม่มีความชัดเจนว่า รายละเอียดของการออกพันธบัตรมูลค่า 8 แสนล้านบาทจะเป็นยังไง"นายพงค์ธารินกล่าว

นายพงค์ธารินกล่าวว่า สำหรับภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทย มองว่าจะยังผันผวนในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้น เห็นได้จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเราชอบตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างมาก เพราะภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี อัตราเงินเฟ้อยังติดลบ ดังนั้น โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลงได้มีอีกเยอะ แต่หลังจากเริ่มต้นปีปี 2552 ได้ไม่นาน บรรยากาศการลงทุนก็เปลี่ยนไป หลังจากรัฐบาลมีแนวโน้มว่าจะต้องกู้เงินค่อนข้างเยอะ ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้ตลาดมีความกังวลว่า ซับพลายจะเข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ราคาของพันธบัตรดังกล่าวลดลงในช่วง 2 เดือนแรก

หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ก็ผันผวนอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน หลังจากธนาคารกลางสหรัฐมีมาตรการที่จะซื้อพันธบัตรของตัวเองและซื้อหนี้เสีย ประเภท CDO จากสถาบันการเงินออกมา ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงมาถึง 0.50-0.75% จากเดิมที่เคยปรับขึ้นไปเกือบ 1% และล่าสุด ในเดือนนี้เอง รัฐฐาลออกมาประกาศว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงมีแผนจะระดมเงินด้วยการออกพันธบัตรมูลค่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นไปอีกครั้ง 0.30-0.40%

ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยหลังจากนี้ มองว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าตอนนี้ ความน่าสนใจในการลงทุนในตราสารหนี้ยังมีอยู่ ซึ่งหากเศรษฐกิจยังฟื้นจริง ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่กังวลว่าสภาพคล่องจะกลับไปหรือไม่ และเงินเฟ้อกลับมา จังหวะนั้น ตราสารหนี้จะเริ่มไม่ค่อยน่าลงทุนแล้ว

"นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ แนะนำว่าขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของนักลงทุนเองว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้เองขณะนี้ก็น่าสนใจ เพราะส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลยังมีอยู่ค่อนข้างสูง"นายพงค์ธารินกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น