บลจ.กรุงไทย คลอดกองทุน "กรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ9เดือน3" ลุยตราสารหนี้เกาหลีใต้ ล็อกอายุ 9 เดือนให้ผลตอบแทน 2.60 -3.00 % ต่อปี ขณะที่ บลจ.แอสเซทพลัส ส่งกองทุน 6 เดือน แชร์ส่วนแบ่ง ชูผลตอบแทน 2.8% ต่อปี โดยป้องกันความเสี่ยงค่าเงินแล้วทั้ง 2 กอง ไอพีโอพร้อมกันถึง 26 พ.ค. นี้
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ว่าอัตราผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงินเกาหลีใต้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการที่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (LIBOR) และส่วนต่างด้านเครดิต (Credit Spread) ปรับลดลง ตามเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงลดลง แต่อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนยังสูงกว่าการลงทุนในประเทศ ที่มีระดับความเสี่ยงเดียวกัน จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มองหาในการลงทุนในช่วงนี้ เพื่อล็อคอัตราผลตอบแทน เนื่องจากอัตราผลตอบแทนสำหรับกองทุนประเภทดังกล่าวในกองทุนต่อไปมีแนวโน้มปรับลดลง
ดังนั้น บลจ.จึงได้เปิดขายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ9เดือน3 (KTFIF9M3) กองทุนตราสารหนี้อายุโครงการ 9 เดือน มูลค่า 5,000 ล้านบาท โดยมีนโยบายลงทุนตราสารหนี้สถาบันการเงินภาครัฐต่างประเทศ โดยกองทุนจะเน้นลงทุนใน ECP หรือ EMTN ซึ่งเป็นตราสารหนี้สกุลดอลล่าร์สหรัฐฯที่ออกโดยสถาบันการเงินเกาหลีใต้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูงสุด A1 โดย S&P ตราสารที่กองทุนลงทุนประกอบด้วย KDB, K-EXIM ,IBK และ Kookmin Bank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝากสูงสุดในเกาหลีใต้ ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 2.60 -3.00 % ต่อปีทั้งนี้ เงินลงทุนในกองทุนดังกล่าวจะทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ซึ่งจะเปิดขายตั้งเเต่วันนี้ถึง26 พฤษภาคม 2552
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่าย กองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ท อินเวส 6 เดือน 2 (KTSIV6M2) ( Roll Over ) รอบใหม่ ตั้งแต่วันนี้ถึง 22 พฤาภาคม 2552 ซึ่งเน้นลงทุนในเงินฝาก ตั๋วแลกเงิน และตราสารหนี้ระยะสั้นของสถาบันการเงินและบริษัทเอกชนในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A - ขึ้นไป โดยคาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 1.70% ต่อปีเหมาะสำหรับผู้ที่เน้นลงทุนในประเทศ
สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 9 เดือน 3 จะลงทุนในตราสารเเห่งหนี้ เงินฝาก เเละหรือตราสารทางการเงินต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) โดยกองทุนจะลงทุนในตราสารเเห่งหนี้ต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน ส่วนที่เหลืออาจพิจราณาลงทุนในเงินฝาก ตราสารเเห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก ตราสารเเห่งหนี้ทั่วไป เเละหรือลงทุนในหลักทรัพย์หรือหลักทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เเละตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ประกาศกำหนด
ทั้งนี้กองทุนจะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(Derivatives) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยง(Hedging) เช่น การทำสัญญาสวอปเเละหรือสัญญาฟอร์เวิร์ด (Forward) ที่อ้างอิงกับอัตราเเลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเเลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rate Risk)เเต่กองทุนจะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเเฝง (Structured Note)
ส่วน กองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ท อินเวส 6 เดือน 2 จะลงทุนในหรือไว้ซึ่งตราสารเเห่งหนี้เอกชน เเละหรือตราสารเเห่งหนี้ภาครัฐที่มีคุณภาพ เเละมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นสูง เเละหรือเงินฝาก หรือหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์อื่น หรือการหาดอดผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักคณะกรรมการก.ล.ต.กำหนดหรือเห็นชอบให้กองทุนลงทุนได้ ทั้งนี้กองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(Derivatives)เเละจะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเเฝง(Structured Note)
แอสเซทพลัสล็อกเงินบอนด์เกาหลี1ปี
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ผู้จัดกากองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสซท พลัส จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลได้มีแผนการการเพิ่มวงเงินกู้ยืมมูลค่า 8 แสนล้านบาท เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจากความกังวลด้านปริมาณพันธบัตรที่จะออกมาใหม่ โดยจะทำให้แนวโน้มผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงหลังจากนี้น่าจะมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับนักลงทุนทั่วไปควรเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นๆ อายุไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความผันผวนจากการลงทุนดังกล่าวในช่วงนี้ และเห็นว่าอีกทางเลือกที่น่าสนใจนั้น ยังคงเป็นตราสารหนี้ภาครัฐเกาหลีใต้ ซึ่งยังคงให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือเงินฝากประจำในประเทศ ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ1%
“สาเหตุเลือกลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐเกาหลีใต้นั้น เพราะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินในระดับความเสี่ยงที่ต่ำ โดยตราสารที่ได้รับความนิยมลงทุนจะเป็นตราสารที่ออกโดยExport-Import Bank of Korea (KEXIM) หรือธนาคารเพื่อการส่งออกของเกาหลีใต้ กับ Korea Development Bank (KDB) ซึ่งทั้ง 2 ตราสารนี้ มีความเสี่ยงต่ำเทียบเท่าพันธบัตรรัฐบาล เพราะมีรัฐบาลถือหุ้น 100% จึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงมีภาระผูกพันที่จะต้องให้ความช่วยเหลือหากสถาบันการเงินทั้งสองแห่งนี้มีปัญหา”นายวินกล่าว
ผู้จัดการกองทุนอาวุโส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2552 บลจ.แอสเซทพลัส จะเสนอขาย กองทุนเปิดแอ็คทีเอฟไอเอฟ 3 (ACFIF3) ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐเกาหลีใต้ ได้แก่ Export-Import Bank of Korea (KEXIM) หรือ Korea Development Bank (KDB) ตราสารใดตราสารหนึ่งในสัดส่วน 100% โดยมีรอบการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้ผลตอบแทนหลังจากทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน 100% แล้วอยู่ที่ 2.8%ต่อปี โดยACFIF3 มีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท มีมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำอยู่ที่ 5,000 บาท และมีราคาหน่วยลงทุนละ 10 บาท
ทั้งนี้ กองทุนจะลงทุนในต่างประเทศในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยบริษัทจัดการอาจพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ที่เสนอขายในต่างประเทศ และหรือเงินฝากระยะสั้น หรือตราสารที่เทียบเท่าเงินสด (near cash) ระยะสั้น ซึ่งสถาบันการเงินในประเทศที่กองทุนได้ลงทุนเป็นผู้ออก โดยกองทุนอาจเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (efficient portfolio management) ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนดกองทุนอาจพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่อง ตราสารแห่งหนี้ เงินฝากในประเทศ ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี