xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณเศรษฐกิจฟื้น! จับจังหวะลงทุนอย่างไรดี?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


...เริ่มมีสัญญาณที่บ่งบอกให้เห็นชัดเจนขึ้นมาแล้วว่า เศรษฐกิจกำลังจะดำเนินไปในทิศทางใด หลังจากที่ตลาดหุ้นได้เริ่มปรับตัวขึ้นมาอย่างคึกคักพอสมควร โดยสาเหตุหลักๆ น่าจะได้รับปัจจัยบวกจากต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ ตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 นั้นสะท้อนผลออกมาอย่างดี ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวจากวิกฤตขึ้นมาแล้ว ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นในช่วงปลายปีนี้เกี่ยวเนื่องไปถึงต้นปี 2553

โดยสิ่งที่เริ่มเป็นปัจจัยบวกและเป็นความมั่นใจต่อนักลงทุนก็คือ ตัวเลขของบรรรดาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่สะท้อนผลประกอบออกมาในทางที่ดี รวมถึงในเรื่องของผลทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ 19 แห่ง ที่มีสินทรัพย์รวมมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไป ซึ่งพบว่ามีสถาบันการเงิน 10 แห่ง จะต้องเพิ่มเงินทุน เป็นจำนวน 74,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ Bank of America, Wells Fargo ,Citigroup, Morgan Stanley, PNC Financial Services ,GMAC, SunTrust, Regions Financial, Fifth Third Bancorp และ KeyCorp โดยที่ Bank of America เป็นธนาคารที่ต้องใช้เงินเพิ่มทุนมากที่สุดถึง 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงที่สุดในกลุ่มสถาบันการเงินทั้งหมด ในขณะที่ PNC Financial Services จะเป็นธนาคารที่ต้องใช้เงินเพิ่มทุนน้อยที่สุด เพียง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากผลทดสอบดังกล่าวที่ออกมา ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นกว่าในช่วงก่อนหน้านี้ ที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่แทบล้มทั้งยืนเลยทีเดียว ซึ่งรายงานของของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด ได้ระบุว่า จากผลการทดสอบ (Stress Test) ดังกล่าวที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์นั้น จะเป็นการช่วยให้คลายความวิตกกกังวลเกี่ยวกับแผนการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯและยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเตรียมเพิ่มนํ้าหนักกการลงทุนในสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตราสารทุนของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว หลังจากที่ได้ลดการลงทุนลงไปตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 4ของปีที่ผ่านมา

ซึ่งแน่นอนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นจะฟื้นตัวในช่วงใด สิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นออกมาก่อนนั่นก็คือ ตลาดหุ้น โดยที่ดัชนีของตลาดจะสะท้อนล่วงหน้าก่อนประมาณ 6 เดือนก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาจริงๆ และในขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ได้เป็นไปในทิศทางดังกล่าวแล้ว โดยดัชนี้หุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวขึ้นไปอย่างมาก รวมทั้งตลาดหุ้นในเอเชียและในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น กลุ่มประเทศที่น่าสนใจที่สุดนั่นคือ กลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยในช่วงที่เกิดวิกฤตนั้น ตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ปรับตัวลงไปอย่างแรงมากทีเดียว เนื่องจากแรงเทขายของนักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐฯและยุโรป แต่ผลจากมาตราการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เห็นว่ากลุ่มประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีความแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นทาง IMF จึงออกมาตรการให้ประเทศเหล่านี้กู้เงินจาก IMF ไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตนเองได้ โดยไม่กำหนดเงื่อนไขในการกู้เหมือนเมื่อครั้งที่ผ่านมาที่ค่อนข้างวุ่นวายและเรื่องมากเลยทีเดียว

มาตราการดังกล่าวนี้ เป็นผลให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศเกิดใหม่ขึ้นมาในทันทีเป็นผลให้กองทุนรวมในบ้านเราที่ลงทุนอยู่ในประเทศเกิดใหม่นั้นมีผลการดำเนินงานปรับตัวขึ้นมาอย่างมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น กองทุนเปิด Aberdeen Global Emerging Growth Fund ภายใต้การบริหารของบลจ. อเบอร์ดีน จำกัด ซึ่งมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน(13 พ.ค.) อยู่ที่ 22.81% ขณะที่ กองทุนเปิดทหารไทย Emerging Markets Equity Index ภายใต้การบริหารของบลจ. ทหารไทย จำกัด มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน (14 พ.ค.) อยู่ที่ 22.69% รวมถึง กองทุนเปิด ING Thai Global Emerging Market - Dividend Fund ภายใต้การบริหารของ บลจ. ไอเอ็นจี จำกัด มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน (24 เม.ย.) อยู่ที่ 16.47%

อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าตลาดหุ้นของประเทศเกิดใหม่นั้นมีความผันผวนมากกว่าตลาดหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว ประกอบกับในช่วงเวลานี้ แม้ว่าวิกฤตสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นจะเริ่มส่งสัญญาณดี แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่สัญญาณที่ดีเท่านั้น ยังไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ดังนั้นตลาดหุ้นของประเทศเกิดใหม่รวมของทั้งทั่วโลกมีความผันผวนอยู่ไม่น้อย

พงค์ธาริน ทรัพยานนท์ ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) อเบอร์ดีน จำกัด บอกว่า ตลาดของประเทศเกิดใหม่นั้นมีการปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงนี้ ซึ่งเมื่อดูไปที่ปัจจัยพื้นฐานแล้ว มองว่ายังมีความน่าลงทุน อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีผลการดำเนินงานปรับตัวขึ้นมามากก็ตาม เชื่อว่าในปีนี้การลงทุนในประเทศเกิดใหม่คงยังไม่น่าจะเห็นผลการดำเนินงานที่ปรับตัวขึ้นไปสูงมากมายนัก แต่มองว่าในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้น่าจะเป็นขาขึ้นของตลาดเกิดใหม่เพราะดัชนีได้ตกลงไปอยู่ในระดับที่ตํ่ามากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

ไม่เพียงแต่ตลาดหุ้นในต่างประเทศเท่านั้นตลาดหุ้นในบ้านเราเองก็ปรับตัวไปตามทิศทางของตลาดโลกเช่นเดียวกัน โดยซึ่งถือเป็นช่วงที่ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นกันมากทีเดียว แต่ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าตลาดหุ้นของไทยไม่น่าจะพุ่งแรงมากมายนัก โดยมองว่าดัชนีจะปรับขึ้นไปในระดับหนึ่งก่อนที่ลดลงมาปรับฐานอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งอาจมีความผันผวนอยู่เช่นเดียวกัน แล้วนักลงทุนควรมีรูปแบบการลงทุนอย่างไร...

วิโรจน์ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บลจ. กรุงไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นเเละตลาดตลาดตราสารหนี้ในช่วงนี้เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์ของไทย ที่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเองนั้น มีปัญหาปัจจัยเรื่องปัญหาทางการเมืองทำให้ตลาดหุ้นนั้นอาจจะปรับตัวขึ้นช้ากว่าตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่บ้าง

"อยากเเนะนำให้นักลงทุนได้มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนให้มากที่สุด ซึ่งการลงทุนเเบบผสมผสานหลายกองทุนทั้งกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ เเละกองทุนหุ้นนั้นเป็นการบริหารจัดการลงทุนที่ดี และหากนักลงทุนใช้วิธีลงทุนเเบบถัวเฉลี่ยหรือ Dollar Cost Average ลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่ากันทุกเดือน จะช่วยลดความเสี่ยงของราคาต้นทุนให้กับนักลงทุนได้อีกด้วย"*

ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการลงทุนช่วงหนึ่งที่มีความคึกคักและน่าสนใจขึ้นมาทีเดียว สำหรับบรรดานักลงทุนทั้งหลาย หลังจากที่การลงทุนในหนุ้นซบเซากันไปนานพอสมควร แต่แม้ว่าสัญญาณต่างๆจะดีขึ้นมา แต่ก็เป็นเพียงแค่ความหวังที่ดีที่มีผลต่อตลาดหุ้นที่อ่อนไหวเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว นั่นหมายความว่ายังต้องมีปัจัจัยที่ส่งผลลบต่อตลาดได้อีกเช่นกัน ยิ่งเป็นช่วงที่วิกฤตยังไม่ฟื้นตัว 100% อย่างนี้ด้วยแล้ว ความเสี่ยงย่อมมีเสมอ ดังนั้นนักลงทุนควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดเพื่อหลีกหนีผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับท่านได้นะครับ...


กำลังโหลดความคิดเห็น