คอลัมน์ – เงินทองต้องวางแผน
โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
เมื่อคนเราไม่มีเงินก็กลุ้ม ต้องพยายามทำงานเก็บออมไว้จนมีเงินไว้ใช้ หรือเมื่อมีเงินก็ต้องกลุ้มต่อไปอีกว่า จะทำอย่างไรดีให้เงินงอกเงย และ เงินไม่ลดน้อยลงไปจากที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องการ “การวางแผน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วางแผนการเงิน ให้คนไม่มีเป็นคนมี และ คนที่มีให้มีมากขึ้น
แล้วทำไม่เราถึงต้องวางแผนการเงิน หลายคนคงมีข้อสงสัยว่า เงินทองไม่เห็นต้องทำอะไรกับมันมากเลย แค่หามาแล้วก็เก็บออมไว้เท่านั้น มองดูสมุดเงินฝากทุกวันว่าเงินยังอยู่ก็น่าจะเพียงพอ แต่หากพิจารณาดี ๆ แล้ว การคิดแค่นั้นคงไม่เพียงพอแน่ ๆ เพราะการทำอะไรสักอย่างเมื่อเรามีเป้าหมายที่ต้องการ ก็ต้องกำหนดกลยุทธ์ เมื่อได้กลยุทธ์ ก็ต้องวางแผนงานให้รอบคอบ แล้วจึงนำแผนงานนั้นไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติ นั้น ๆ เป็นระยะ ๆ ว่าแผนนั้นดีแล้วหรือยัง ถ้ายังก็ต้องปรับให้ดีอยู่เสมอ ๆ ในวันนี้เราจึงมาดูกันว่า เหตุอะไรที่จะต้องวางแผนการเงิน ดังนี้
เหตุผลข้อที่ 1 : เพื่อป้องกันตัวเองและครอบครัวจากความเสี่ยงทางการเงิน
ข้อเน้นคำว่า “ทางการเงิน” เพราะไม่มีใครสามารถป้องกันความเสี่ยงทุกๆอย่างที่เราต้องเผชิญในชีวิตได้ แต่เรามีหนทางที่เราสามารถป้องกันความเสี่ยงทางการเงินได้ ซึ่งความเสี่ยงทางเงินที่สำคัญๆ นั้นเกิดจาก การเกิดอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย และความตาย ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นจะสร้างความสูญเสียทางการเงินเป็นอย่างมาก
เหตุผลข้อที่ 2 : เพื่อที่จะปลดภาระหนี้สิน
สำหรับบางคนแล้ว การไม่มีหนี้ถือเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะมีหลายๆคนที่มีภาระหนี้สินอยู่หลายอย่าง เช่น ต้องผ่อนรถ ผ่อนบ้าน แถมยังมีหนี้บัตรเครดิตอีก ดังนั้นการไม่มีหนี้สินเลยถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง และยิ่งไปกว่านั้นการที่จะมีเงินเก็บได้ยิ่งเป็นความสำเร็จที่สูงขึ้นไปอีก เพราะเขาสามารถเปลี่ยนสถานะตนเองจากคนที่มีหนี้เป็นคนที่มีเงินเก็บได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายหากไม่มีการวางแผนที่ดี
หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า เราอาจจะใช้เงินของคุณหมดไปก่อนที่เราจะแก่ตายนั่นก็หมายถึงว่า เงินที่เรามีอยู่นั้นไม่เพียงพอที่จะยังชีพไปตลอดชีวิต ดังนั้นเราจะต้องมีการวางแผนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราจะมีเงินเพียงพอที่จะใช้ไปตลอดชีวิต และมันจะไม่มีทางเป็นไปได้หากว่าเรายังมีภาระหนี้สินอยู่ ดังนั้นจะต้องวางแผนเพื่อที่จะกำจัดหนี้สินให้หมดไปก่อน
เหตุผลข้อที่ 3 : ต้องวางแผนเพราะเราจะมีชีวิตไปอีกยาวนาน
ปัจจุบันคนไทยมีอายุที่ยืนยาวขึ้นเมื่อเทียบกับหลายสิบปีที่แล้ว ด้วยเทคโนโลยีและความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตอายุเฉลี่ยของคนไทยก็จะยืนยาวขึ้นไปอีก ที่ต้องกล่าวถึงอายุเฉลี่ยก็เพราะตัวเลขนี้มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถประมาณการได้ว่าเราจะต้องมีเงินเท่าไรจึงจะเพียงพอสำหรับใช้ไปตลอดชีวิต ยิ่งมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น เราก็จะต้องใช้เงินมากขึ้น
เหตุผลข้อที่ 4 : เพราะจะต้องมีเงินเพื่อที่จะใช้จ่ายเป็นค่าเลี้ยงดูบุตร
หากเราทำงานกินเงินเดือนไปเรื่อยๆ เช่น ปัจจุบันคุณมีอายุ 30 ปี มีเงินเดือนเดือนละ 30,000 บาท ถ้าลองคิดง่ายๆโดยสมมุติว่า เงินเดือนเราคงที่ไปตลอดชีวิตการทำงานรวมๆแล้วเราจะหาเงินได้ถึง 10 ล้านบาทเชียวล่ะ ซึ่งฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดี แต่ที่จริงแล้วอาจไม่เป็นผลดีสำหรับบางคนก็ได้ ยิ่งสำหรับคนที่ได้เงินเดือนสูงๆ เขาอาจจะคิดว่าแต่ละเดือนก็หาเงินได้มากพอที่จะใช้จ่ายอยู่แล้ว ถึงเวลาจะใช้เงินก็มีเงินพอทุกทีไม่เคยขาดแคลนเงินในแต่ละเดือน จึงไม่คิดที่จะวางแผนใดๆเลย
แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะหาเงินได้มากน้อยแค่ไหน มันอยู่ที่ว่าเราสามารถเก็บเงินได้มากแค่ไหนต่างหาก เพราะเรามีค่าใช้จ่ายสารพัด โดยเฉพาะคนทีมีครอบครัวแล้วก็คงจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับบุตรด้วย และจะรู้ไหมว่าค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดนั้นเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกๆ นั่นเอง ลองคิดดูก็ได้ว่า ตั้งแต่ลูกเกิดอยู่ในท้องจนเรียนจบปริญญาตรี เราจะต้องใช้เงินจำนวนเท่าไร
นี่เป็นเพียง 4 ข้อแรกเท่านั้นที่เป็นเหตุผลสำคัญ ๆ ที่เราต้องวางแผนการเงิน ไม่อยากให้อ่านแล้วคิดระแวงไปจนชีวิตไม่เป็นสุข แต่เหตุผลดังกล่าวแค่เป็นแนวทางสำหรับใช้ประกอบการคิด เพื่อนำไปวางแผนการเงินของเราว่า เมื่อเราตั้งต้นว่าจะบริหารเงิน ให้เหมือนเช่นเดียวกับการที่เราต้องบริหารงานในความรับผิดชอบ หรือ บริหารคน ล้วนแล้วแต่เป็นทั้งศาสตร์ และ ศิลป์ ซึ่งในแง่ของศาสตร์ ก็ต้องมีเหตุและผลสนับสนุน ส่วนแง่ของศิลป์ ก็คือการทำอย่างไรให้ชีวิตของเรามีความสุข อย่างพอเพียง ไม่มากหรือน้อยเกินไปบริหารเงินให้เก่งและดี ให้เหมือนที่เราบริหารงานและคนที่เราทำอยู่ในทุกวันนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาทำไม่ใช่หรือ