ASTVผู้จัดการรายวัน-บลจ.ทิสโก้ปลื้มกองหุ้นกู้เอกชนขายดีต่อเนื่อง สเปเชี่ยล พลัส 11 ปิดยอดไอพีโอส่งท้ายสิ้นเดือนอีก 100 ล้าน มั่นใจประเดิมนโยบายใหม่ตั้งเป้าขายคืนเอ็นเอวีอัตโนมัติ 10.42 บาทต่อหน่วยจะเป็นผลดีต่อนักลงทุน เหตุได้กำไรก่อนกำหนดโดยไม่ต้องถือตราสารเต็มอายุโครงการ พร้อมเมินกองพันธบัตรต่างประเทศ เชื่อยิลด์ยังไม่น่าสนใจมากนัก ส่วนทริกเกอร์ 4 ยังไม่กำหนดออก แม้กองก่อนหน้านี้ทำกำไรถึงเป้าในระยะเวลาแค่ 2 เดือนก็ตาม
นางสาวธีรินทร์ สุวรรณเตมีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด-ธุรกิจกองทุนรวม และกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่าการระดมทุนของ กองทุนเปิด ทิสโก้ สเปเชี่ยล พลัส 11 ในช่วงที่ผ่านมานั้นได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นที่น่าพอใจ โดยมียอดการลงทุนรวมประมาณ 100 ล้านบาท และนับเป็นกองทุนตราสารหนี้เอกชนกองที่ 6 แล้วที่บริษัทเปิดขายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 อย่างไรก็ตามกองทุนนี้นับเป็นกองทุนแรกที่มีนโยบายการลงทุนแตกต่างจากกองทุนในซีรี่ส์เดียวกัน
ทั้งนี้ จุดเด่นของกองทุนนี้ จะมีนโยบายการลงทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เอกชนภายในประเทศที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเอกชนในประเทศที่มีคุณภาพ ระยะเวลาลงทุนประมาณ 2 ปี แต่จะมีการเพิ่มสภาพคล่องให้นักลงทุนด้วยการจ่ายผลตอบแทนสม่ำเสมอ (Auto Redemption) ทุกๆ 6 เดือน นอกจากนี้กองทุนนี้ยังสามารถยุบกองทุนได้ในกรณีที่หน่วยลงทุนมีมูลค่าถึง 10.42 บาทต่อหน่วย ณ วันทำการใดก็ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี
"กองทุนนี้จะต่างจากคนอื่น ซึ่งเรามองว่าหลังจากนี้อัตราดอกเบี้ยน่าจะลดลงอีก ซึ่งจะส่งผลถึงราคาตราสารที่เรามีอยู่ในมือมีราคาแพงขึ้นได้ ซึ่งหากกองทุนนี้ถือไว้จนครบอายุ 2 ปีก็จะได้ยิลด์ตามที่ระบุไว้ในตราสาร แต่เรามองว่าถ้ามันมีผลตอบแทนที่ดีก่อนกำหนดก็น่าจะเปิดช่องไว้เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำเงินไปลงทุนในช่องทางอื่นได้"นางสาวธีรินทร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขพิเศษในการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติที่บริษัทตั้งขึ้นข้างต้นนั้น จะไม่ทำกับทุกกองทุนตราสารหนี้เอกชนของบริษัท เนื่องจากจะต้องมองแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยและสถการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง โดยนโยบายนี้อาจมีการแปลงหรือไม่ก็ได้ตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา
นางสาวธีรินทร์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ขนาดกองทุนตราสารหนี้เอกชนของบริษัทที่ทำการเปิดขายในช่วงที่ผ่านมาไม่ใหญ่มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการของบริษัทในการจะหาผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนให้เหมาะสมตามความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องการมากที่สุด โดยในปัจจุบันการเปิดขายหุ้นกู้เอกชนจำเป็นจะต้องคัดเลือกบริษัทและอัตราผลตอบแทนให้คุ้มค่า เพื่อให้เกิดความเสี่ยงไม่มากนัก ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีการออกหุ้นกู้ในจำนวนที่ไม่มากทำให้หาตราสารดีๆ ที่จะเข้าลงทุนจะมีค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน
"การหาตราสารลงทุนก็ค่อนข้างยากและในไตรมาส 2 ก็คงยากขึ้นอีก และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่เราไม่ต้องการให้ไซด์มันใหญ่มากนัก ซึ่งไม่เช่นนั้นมันจะกระทบไปทั้งกองถ้าความเสี่ยงเท่ากันแต่ยิลด์มันต่างกันก็จะทำให้ยิลด์โดยรวมลดลงไปอีก โดยเราไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น"นางสาวธีรินทร์กล่าว
นางสาวธีรินทร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศขณะนี้ บริษัทยังไม่มีแผนเปิดขายกองทุนประเภทนี้แต่อย่างใด เนื่องจากมองว่าผลตอบแทนที่ได้ยังไม่น่าสนใจมากนักเมื่อพิจารณาจากความเสี่ยง ซึ่งคงจะต้องมีการติดตามดูสถาการณ์อีกครั้ง ส่วนกองทุนทาร์เก็ตฟันด์อย่าง "กองทุนเปิดทิสโก้ เอเชีย แปซิฟิก เอ็กซ์ เจแปน ทริกเกอร์ 15% #3”ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายได้ภายในระยะเวลา 2 เดือนนั้น บริษัทก็ยังไม่มีแผนออกกองทุนประเภทนี้อีกเช่นกันโดยเฉพาะในช่วงเดือน พฤษภาคมที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลงทุนในตลาดหุ้นทวีปเอเชียหลังจากนี้น่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่ดีที่สุด และในระยะยาวน่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ แต่สำหรับการออกกองทุนประเภททาร์เก็ตฟันด์ผู้จัดการกองทุนจำเป็นต้องติดตามสถาการณ์อย่างใกล้ชิด และน่าจะทำการเป็นขายได้เป็นบางช่วงเท่านั้นตามแต่จะมีการพิจารณา
ทั้งนี้ ในปีนี้บลจ.ทิสโก้ได้ตั้งการเติบของขนาดสินทรัพย์รวมเอาไว้ที่ประมาณ 20% หลังจากในปีที่ผ่านมามียอดสิ้นทรัพย์รวมอยู่ที่ 106,985 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 68,525 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 64.1%, กองทุนส่วนบุคคล 23,848 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.3% และกองทุนรวม 14,612 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.7%
สำหรับการออกกองทุนในปีนี้ บลจ.ทิสโก้ วางเป้าการออกกองทุนช่วงครึ่งปีแรกสำหรับกองทุนตราสารหนี้ สเปเชี่ยล พลัสไว้ที่ 12 กอง โดยจะออกประมาณเดือนละ 2 กองทุน ส่วนการออกกองทุนตราสารทุนจะเป็นกองทุนต่างประเทศประเภททาร์เก็ตฟันด์ได้แก่ กองทุนเปิด เอเชีย แปซิฟิก เอ็กซ์ เจแปน ทริกเกอร์ 15% ซึ่งจะทำการเสนอขายให้กับนักลงทุนประมาณเดือนละ 1 กอง