สำหรับแนวโน้มของภาคการค้าต่างประเทศของไทยมีโอกาสเกินดุลเป็นประวัติการณ์ในปี 2552 โดยที่ภาคการส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. 2552 มีมูลค่า 11,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง -23.1 % yoy ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 9,455 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลง -35.1 % yoy ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลให้ภาคการส่งออกโดยเฉลี่ยในช่วง Q1/52 ลดลง -20.6 % คิดเป็นมูลค่า 33,787 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้าลดลง -37.6 % คิดเป็นมูลค่า 26,733 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ไทยเกินดุลการค้าในระดับประมาณ7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ภาคการค้าต่างประเทศของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน และมีโอกาสสูงที่ภาคการส่งออกจะหดตัวลงติดลบต่อเนื่องไปจนถึงในช่วง Q3/52 โดยตัวเลขภาคการส่งออกในช่วง Q1/52 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าออกมาไม่ผิดไปจากการคาดการณ์ของตลาดมากนัก โดยภาพโดยรวมการส่งออกของไทย ยังคงเป็นการหดตัวลงในเกือบทุกภูมิภาค ทั้งในตลาดหลัก และยังรวมไปถึงตลาดใหม่ ที่ถือได้ว่าเป็นตลาดที่ไทยมีการส่งออกขยายตัวในอัตราเร่งในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการบ่งชี้ได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ ได้ส่งผลลุกลามไปสู่ทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้นแล้วคาดว่าภาคการส่งออกในช่วงปี 2552 โดยเฉลี่ยทั้งปีแล้วมีโอกาสหดตัวลงติดลบอยู่ในระดับประมาณ -12.5% ถึง -17.5% จากระดับการขยายตัวในปี 2551 ที่ 16% โดยคาดว่ามีโอกาสสูงที่ภาคการส่งออกของไทย จะยังคงมีทิศทางการหดตัวลงติดลบอย่างน้อยไปจนถึงในช่วง Q3/52 และอาจจะมีการปรับฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงปลายปี
นอกจากนั้นแล้วในด้านของภาคการนำเข้า จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมามีการหดตัวลงในอัตราที่รุนแรงมากกว่าภาคการส่งออก โดยมีปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ การที่ภาคการนำเข้าของไทย โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกอีกทอด ดังนั้นในเมื่อภาคการส่งออกของไทยมีการหดตัวลงต่อเนื่อง ย่อมส่งผลให้ภาคการนำเข้าของไทยจะมีการหดตัวลงในทิศทางเดียวกัน และนอกจากนั้นรวมไปถึงในด้านของระดับราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวลดลงโดยเฉลี่ยจากในปีก่อนหน้า ส่งผลให้โดยรวมแล้วทิศทางของภาคการนำเข้าในปี 2552 คาดว่าจะมีการหดตัวลงอยู่ในระดับ -20% ถึง -25%
จุดที่น่าสนใจอีกประการของภาคการค้าต่างประเทศของไทยในปี 2552 มาจากการที่ดุลการค้าของไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงทำลายสถิติในระดับเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 12.5-17.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจากการที่ภาคการนำเข้าของไทยมีการหดตัวลงในอัตราเร่ง จึงมีแนวโน้มสูงที่ดุลการค้าของไทยจะมีการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งส่งผลให้ภาพโดยรวมของการค้าต่างประเทศของไทย โดยรวมแล้วจะมีการเกินดุลในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 12.5-17.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเด็นที่น่าติดตามคือเรื่องของดุลการค้าเกินดุลในระดับสูง ซึ่งก็หมายความว่าจะมีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้าไทยจำนวนมาก ซึ่งจะส่งไปถึงทิศทางของค่าเงินบาท ที่อาจจะทำให้ไม่มีการอ่อนค่าลง อย่างที่หลายฝ่ายมีการประเมินว่าจะมีการอ่อนค่าลงต่อเนื่องไปที่ระดับประมาณ 37.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็เป็นได้ และนอกจากนั้นแล้วยังรวมไปถึงในด้านสภาพคล่องในประเทศที่อาจะมีการไหลเวียนที่ดีขึ้น จากการเกินดุลการค้าในระดับสูง ซึ่งถ้าคิดเป็นมูลค่าของค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5.25 แสนล้านบาท ซึ่งก็ถือได้ว่าน่าจะช่วยให้สภาพคล่องของตลาดการเงินในประเทศมีการไหลเวียนที่ดีขึ้น
IMF ประมาณการศก.โลกฟื้นตัวเล็กน้อยปี 53
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงานประจำปีในเดือนเมษายนในส่วนของรายงานประเมินภาวะเศรษฐกิจโลก (World EconomicOutlook) โดยสาระสำคัญของรายงานฉบับดังกล่าวคือการประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวที่ -1.3% yoy ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะฟื้นตัวเล็กน้อยในปี 2553 ที่ 1.9% yoy ทั้งนี้ การประเมินของ IMF ได้นำปัจจัยบวกของความร่วมมือของผู้นำโลกกลุ่มG-20 เข้ามาพิจารณาประกอบด้วย ทั้งนี้การประเมินของ IMF อยู่บนสมมติฐานที่ว่าเสถียรภาพทางการเงินนั้นมีการฟื้นตัวที่ล่าช้า
เศรษฐกิจประเทศสำคัญ IMF ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังนี้ โดยในปี 2552 สหรัฐอเมริกา GDP จะหดตัวที่ -2.8% yoy ประเทศภาคพื้นยุโรป (Euro Area) หดตัวที่ -4.2% yoy ญี่ปุ่นหดตัวที่ -6.2% yoy อังกฤษ หดตัวที่ -4.1% yoy เยอรมนี หดตัวที่ -5.6% yoy ในขณะที่ประเทศกลุ่ม BRICs มีเพียงจีนและอินเดียที่ยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นบวกที่ 6.5% yoy และ 4.5% yoy ตามลำดับ ในขณะที่ รัสเซียหดตัวที่ -6% yoy และบราซิล หดตัวที่ -1.3% yoy
จากการคาดการณ์ของ IMF ล่าสุดเป็นการสะท้อนมุมมองที่เป็นลบค่อนข้างมากเมื่อคำนึงว่าก่อนหน้านี้ไม่ถึง 1 เดือน IMFได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในเอกสารประกอบการประชุมผู้นำ G-20 ซึ่ง IMF ได้ประเมินในกรอบ -1.0 % ถึง – 0.5 % แต่ทว่าการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกล่าสุดของ IMF ในครั้งนี้ ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกหดตัวที่ -1.3% yoy โดย IMF ได้คำนึงถึงปัจจัยบวกจากการประชุมผู้นำโลก G-20 ในต้นเดือน เม.ย. 2552 เพื่อร่วมมือกันกอบกู้เศรษฐกิจโลกด้วยวงเงิน 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯเข้าไปแล้วด้วย ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในปีนี้นั้นจะเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2