xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจทั่วโลกส่อแววทรุดหนัก ทางรอดเดียวต้องอัดฉีดเม็ดเงินขนานใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิกฤติการณ์ทางการเงินในปัจจุบัน นับวันยิ่งเปิดเผยบาดแผลที่หนักหนาสาหัสให้เห็นมากขึ้นทุกที แม้ว่าวิกฤติการณ์ดังกล่าว จะยังไม่คืบคลานมาถึงภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มตัวก็ตาม แต่ประเทศในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศ ล้วนอยู่ในอาการของคนไข้ที่ส่อแววเข้าขั้นโคม่าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน

ทั้งนี้ รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเข้าไปเจรจาในระดับพหุภาคี ทวิภาคี ระหว่างกันมากขึ้น ด้วยความหวังที่ว่าจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง และช่วยลดความเสียหายจากวิกฤติการณ์ทางการเงินในครั้งนี้ได้ และเป็นที่ยินดีที่ภูมิภาคอาเซียนดูจะเป็นภูมิภาคที่ตื่นตัวเป็นพิเศษ และน่าจะออกตัวเร็วไม่น้อยหน้ากว่าภูมิภาคอื่น ดังจะเห็นได้จากเวทีการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน +3

แต่กระนั้น มาตรการความร่วมมืออาจไม่เพียงพอต่อการสู้กับวิกฤติการณ์นี้แล้ว ซึ่งล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกช่วยกันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงและคาดว่ายืดเยื้อไปอีก 2 ปี หรือจนถึงปี 2553

ทั้งนี้ จากรายงานชื่อ "The Case for Global Fiscal Stimulus" ของไอเอ็มเอฟ ที่จัดทำขึ้น เพื่อนำไปเป็นเอกสารส่วนหนึ่งในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา 20 ชาติ หรือ จี 20 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 2 เมษายนนี้ เพื่อเร่งรับมือวิกฤติการเงินและปัญหาทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง ได้ระบุว่าคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะอ่อนแอต่อไปอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก ควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยการอัดฉีดเงินสาธารณะเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการเติบโต

"เรามองว่าถ้ารัฐบาลแต่ละประเทศยังมีทางเลือกกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังโดยไม่ให้ส่งผลเสียต่อภาระหนี้สินของภาครัฐ รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายด้านการคลังออกมาอีก" รายงานของไอเอ็มเอฟระบุ

ขณะที่หนังสือพิมพ์ นิกเคอิ ของญี่ปุ่น รายงานว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ของธนาคารชั้นนำหลายแห่งในญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐ จะพบกันที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 โดยคาดว่าประเด็นหลักในการหารือครั้งนี้คือเรื่องการควบคุมดูแลสถาบันการเงินโดยอังกฤษได้ส่งจดหมายเชิญไปยังซีอีโอสถาบันการเงินชั้นนำของโลก เช่น เจพีมอร์แกน เชส ในสหรัฐ และ ธนาคารเอชเอสบีซีในอังกฤษ ให้มาร่วมพบปะหารือในกรุงลอนดอน ในวันดังกล่าว

นายจ้าว เจียวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน แถลงว่า ข้อมูลทางเศรษฐกิจล่าสุดแสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังจากที่ทางการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยไปเมื่อปลายปี 2551 พร้อมกล่าวว่ายังมีช่องทางที่จะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปรับสภาพเศรษฐกิจให้ดีขึ้นต่อไป โดยมีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก และรัฐบาลจีนจะปล่อยให้ค่าเงินหยวนอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะคาดว่าค่าเงินหยวนจะมีเสถียรภาพในระดับที่เหมาะสม

ด้าน นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า วิกฤติการณ์ทางการเงินจะไม่จบลงภายในกลางปี 2552 แน่นอน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสียหาย โดยหากสหรัฐได้รับกระทบแล้วจึงจะลุกลามมายังทวีปยุโรป และเอเชียตามลำดับ เนื่องจากเป็นยุคโลกาภิวัตน์ กระแสการเงินไม่มีการปิดกั้น จึงจำเป็นต้องหาโมเดลที่เหมาะสมกับตัวเองที่แท้จริงมาช่วยแก้ไขวิกฤิตการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในรอบ 70 ปีนี้ไม่มีอะไรที่ร้ายแรงไปกว่านี้อีกแล้ว แต่อย่างน้อยยังมีความหวังที่ประเทศจีน ที่มีเม็ดเงินในระบบเป็นจำนวนมหาศาล แต่จีนเองก็ประสบกับปัญหาในภาคแรงงานเช่นกัน ในปัจจุบันมีคนว่างงานประมาณ 20 ล้านคน แม้ว่าจะน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ก็คิดเป็นแรงงานจำนวนมากเช่นกัน แต่หวั่นว่าจะเกิดเทียนอันเหมิน ต้องจับตาดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งคือการที่คู่ค้าสำคัญของประเทศไทยประมาณ 25% มีการค้าขายในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยต้องเกาะกลุ่มกันไว้ให้ดี และให้มีการหมุนเวียนค้าขายระหว่างกัน ขณะเดียวกันต้องทำให้เม็ดเงินหมุนสะพัดภายในประเทศ ซึ่งสามารถกระตุ้นหมุนเงินได้โดยคนไทยช่วยกันใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้

ส่วนในปี 2552 ยังมีความเสี่ยงจากการส่งออก ซึ่งรัฐบาลจะต้องหาทางแก้ไข ซึ่งเม็ดเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบค่อนข้างจะมีอย่างจำกัด หากจะนำมาตรการมาช่วยเหลือจะต้องช่วยคนที่ต้องการที่สุด เพื่อให้เกิดผลดีกับประเทศไทยโดยรวม และสามารถหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ไปได้ โดยที่ผ่านมา มาตรการช่วยเหลือ 2,000 บาทช่วยได้ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งจะต้องมีมาตรการระยะยาวมาช่วยด้วย ส่วนการช่วยด้วยมาตรการทางด้านภาษีมาช่วยไม่ได้ช่วยให้มากเท่าที่ควร ที่สำคัญควรเติมเงินเข้าไปในระบบมากกว่า

เปิดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่
สำหรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมของประเทศพัฒนาแล้ว 5 ประเทศ มีดังต่อไปนี้ สหรัฐอเมริกา มีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค 290.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งออกเป็นการลดภาษีให้แก่ผู้มีรายได้น้อย 116 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 20 สัปดาห์ 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลแก่ผู้ว่างงาน 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คูปองอาหาร 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มสิทธิการหักภาษีเลี้ยงดูเด็ก 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การยกเว้นภาษีเงินได้ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาตรการตรึงอัตราภาษีภายใต้ระบบภาษีขั้นต่ำทางเลือก รวมถึงการให้เงินช่วยเลหือผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส 70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลดภาษีซื้อรถยนต์ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุน 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งออกเป็นการยกเว้นภาษีซื้อบ้านใหม่ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มสิทธิทางภาษีแก่เอสเอ็มอี 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การให้สิทธิทางภาษีแก่บริษัทที่ไม่ปรับลดพนักงาน 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาตรการด้านภาษีอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐ 468.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งออกเป็นการลงทุนด้านการศึกษา 92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนระบบสาธารณสุข สาธารณูปโภค 87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ระบบประกันสุขภาพ 68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การพัฒนาระบบขนส่งและสื่อสาร 52.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนพัฒนา และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินช่วยเหลืแอรัฐบาลท้องถิ่น 38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการลงทุนอื่นๆ ของรัฐบาล 65.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนเยอรมนี เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการใช้มาตรการด้านภาษี เช่น ผ่อนปรนภาษีพื้นฐาน ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กระตุ้นเศษฐกิจผ่านการลงทุน 80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ มาตรการชาวยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ 80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐ 14.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน 14.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ญี่ปุ่น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค 71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแบ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือการดำรงชีพ 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาตรการสนับสนุนการจ้างงาน 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุน 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ งบประมาณเพื่อปฏิรูปและพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการปฏิรูประบบภาษีและลดภาษีสนับสนุนการลงทุนและการใช้จ่าย 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้แก่นโยบายเพิ่มรายได้ท้องถิน และสนับสนุนการสร้างงานในพื้นที่ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนทางด้านจีน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางภาครัฐเพียงอย่างเดียว โดยมีเม็ดเงินทั้งหมด 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย 41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและรายได้ในชนบท 54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การพัฒนาระบบโครงข่ายการขนส่ง 263 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนด้านสาธารธณสุข วัฒนธรรม และการศึกษา 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การอนุรักษ์ระบบนิเวศ 51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การฟื้นฟูพื้นที่เสียหายจจากแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน 146 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาตรการพัฒนานวัตกรรม-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

และเกาหลีใต้ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งออกเป็น มาตรการสนับสนุนการจ้างงาน 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุน 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือภาคการเกษตรและเอสเอ็มอี 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งออกเป็นโครงสร้างพัฒนาสังคม 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและเป็นเงินช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่น 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ...


กำลังโหลดความคิดเห็น