xs
xsm
sm
md
lg

จัดพอร์ตลงทุนตามช่วงอายุ ทางเลือกของคนมีเป้าหมายเช่นคุณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ เวลานี้ เชื่อว่าหลายๆ คนเริ่มให้ความสำคัญกับการออมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออมในรูปเเบบฝากเงินไว้กับธนาคาร ซื้อประกันภัย ซื้อสลากออมสิน ซื้อสลากธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) หรือ การลงทุนในกองทุนรวม...ซึ่งวัตถุประสงค์ในการออมส่วนใหญ่มักจะเป็นการออมเพื่อการเกษียณ เเละการออมที่มีเป้าหมายตั้งไว้ชัดเจน อย่างเช่น การซื้อรถยนต์ หรือ บ้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น

เมื่อเป้าหมายในการออมเป็นเช่นนี้ หลายคนได้มองหาการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุกับการลงทุน ความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ เเละที่สำคัญจำนวนเงินที่จะลงทุนเพื่อให้เหมาะสมกับเป้าหมาย รวมไปถึงการจัดสรรเงินลงทุนที่เรียกว่า Asset Allocation นั้นเอง

การลงทุนที่เหมาะสมกับอายุนั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างหนึ่ง หลายๆครั้งที่พนักงานหรือตัวเเทนขายกองทุนส่วนใหญ่จะเเนะนำในทำนองเดียวกันว่า ให้ลงทุนตามช่วงอายุ ของเเต่ละบุคคล เราลองมาดูกันว่าการลงทุนที่เหมาะกับในเเต่ละช่วงอายุจะเป็นอย่างไร สำหรับผู้ที่อายุ 21-30 ปี เป็นวัยที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ยังไม่มีภาระต้องรับผิดชอบมากนัก และเป็นวัยที่ยังมีเวลาและมีกำลังในการหารายได้อีกนาน

ดังนั้น คนในช่วงวัยนี้จึงสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงได้เกือบทั้งหมด เพราะอยู่ในวัยที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้มาก และหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็มีเวลามากเพียงพอที่จะเรียนรู้แก้ไขข้อผิดพลาดนั้น โดยอาจจะลงทุนในตราสารทุน เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น ได้ถึง 90% ส่วนอีก 10% ที่เหลือเก็บไว้ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น

อายุ 31-40 ปี เป็นวัยที่การงานเริ่มมั่นคง รายได้เพิ่มสูงขึ้น และในขณะเดียวกันก็มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มตามมาเป็นทวีคูณ เพราะ อยู่ในช่วงที่กำลังสร้างครอบครัว แต่งงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ เมื่อมีภาระผูกพันที่ต้องรับผิดชอบมากและต่อเนื่อง ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็ลดน้อยลง การลงทุนของคนในวัยนี้จึงอาจจะต้องลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นลงจาก 90% ให้เหลือเพียง 50% ของเงินออม แล้วไปเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ให้มากขึ้นในจำนวนที่เท่าๆ กัน

อายุ 41-55 ปี เป็นวัยที่มีหน้าที่การงานมั่นคง มีรายได้สูง แต่ก็มีรายจ่ายที่สูงไม่แพ้กัน การลงทุนของคนในวัยนี้ควรเลือกลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เริ่มเน้นความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก เพื่อจะได้เก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในยามชรา แต่อย่างไรก็ดี ไม่ควรละเลยการลงทุนในตราสารทุนไปซะเลยทีเดียว เพียงแต่ต้องลดสัดส่วนลงเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อเพิ่มพูนผลตอบแทนให้งอกเงยนอกเหนือจากดอกเบี้ยและเงินปันผลนั่นเอง สัดส่วนที่เหมาะสมในการลงทุนของคนในวัยนี้ คือ 70% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ อีก 30% ลงทุนในตราสารทุน โดยอาจแบ่งการลงทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีด้วยก็ดี เนื่องจากคนในวัยนี้ต้องแบกรับภาระภาษีค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากมีรายได้ที่สูงนั่นเอง

อายุ 55 ปีขึ้นไป เป็นวัยเกษียณที่แทบจะไม่มีรายได้แล้วสำหรับบางคน แต่ยังคงจับจ่ายใช้สอยอยู่เช่นเดิม แม้ค่าใช้จ่ายบางอย่างในชีวิตประจำวันจะเริ่มลดน้อยลง แต่กลับต้องสำรองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นตามวัยและสุขภาพ ดังนั้น เงินออมเกือบทั้งหมดในชีวิตควรอยู่ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตร หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น จะเห็นได้ว่า หากพิจารณาการลงทุนจากข้อจำกัด หรือปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยทั่วๆ ไป ดังที่กล่าวมาในข้างต้น ว่า คนหนุ่มสาวที่อายุยังน้อย สามารถจะลงทุนในตราสารทุนที่มีความเสี่ยงได้เป็นสัดส่วนที่สูง ส่วนคนที่มีอายุมากแล้ว การลงทุนควรจะจัดสรรไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำจะดีกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ลงทุนจะปฏิบัติแตกต่างไปจากนี้ไม่ได้ เพราะวัยหนุ่มสาวบางคนก็ไม่นิยมชมชอบความเสี่ยง การที่เขาจะไปลงทุนในหุ้นเป็นส่วนมาก ก็จะไม่สอดคล้องกับลักษณะและอุปนิสัยของตน ส่วนผู้ลงทุนท่านใดที่แม้จะสูงวัย แต่มีทรัพย์สินสะสมไว้มากเพียงพอแล้วจะใจกล้าสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มาก นำเงินไปลงทุนในหุ้นก็คงไม่ผิดแปลกแต่อย่างใดนั้นเอง

สำหรับบลจ.ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนตามอายุมีด้วยกัน 3 บลจ.ด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย บลจ.เอ็มเอฟซี ที่ใช้ชื่อโครงการว่า Smart Wealth Solution Family ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักลงทุนที่มีอยู่หลากหลายประเภท ตั้งแต่วัยเริ่มทำงานจนกระทั่งวัยเตรียมเกษียณ ด้วยการออกแบบกองทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ถือหน่วยลงทุนทุกประเภทดังกล่าวมากที่สุด โดยแต่ละกองทุนจะมีสัดส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับเกณฑ์การแบ่งจาก ระดับความเสี่ยง (Risk) และ สินทรัพย์ลงทุน (Wealth) ของลูกค้าเป็นนัยสำคัญ

ทั้งนี้ Smart Wealth Solution Family จะทำการวิเคราะห์เลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนผ่านกองทุนได้ว่าควรจะลงทุนในกองทุนประเภทใด เป็นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อบรรลุเป้าหมายผลตอบแทนตามที่นักลงทุนต้องการในเวลาที่กำหนด (Target Date) ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงความเสี่ยงเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยผลตอบแทนที่ได้จะเป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ และจะมีการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด ณ วันรับผลตอบแทนตามกำหนดเช่นกัน

โดยบลจ.เอ็มเอฟซีได้ออกเเบบการลงทุนไว้ 4 กองทุนคือ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เดอะ สมาร์ท คอลเลกเตอร์ (The Smart Collector) ที่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่นิยมความเสี่ยงในระดับปานกลาง และเก็บสะสมผลกำไรจากการลงทุนทีละน้อยแต่เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ คาดหวังผลตอบแทนมากกว่าอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร โดยกองทุนนี้จะลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ

กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เดอะ สมาร์ท เอนแฮนซ์เซอร์ (The Smart Enhancer) กองทุนรวมผสม เหมาะสำหรับกลุ่มคนทำงานระดับบริหาร ที่มีความสนใจในการลงทุน แต่ไม่มีเวลาว่างในการจัดสรรดูแลเรื่องการลงทุนด้วยตนเอง ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างสูง ต้องการโอกาสรับผลตอบแทนจากมูลค่าเพิ่มของการลงทุน (Capital Gain) กองทุนนี้จะลงทุนในตราสารหนี้ และหุ้นบลูชิพ (Blue Chip) และกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ

กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เดอะ สมาร์ท แอดเวนเจอร์เรอร์ (The Smart Adventurer) กองทุนรวมผสม เหมาะสำหรับกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ชอบความท้าทาย และประสบการณ์แปลกใหม่ตลอดเวลา สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งกองทุนนี้จะลงทุนในตราสารหนี้ หุ้น หน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ

กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เดอะ สมาร์ท แมกซิไมเซอร์ (The Smart Maximizer) กองทุนรวมผสม เหมาะสำหรับกลุ่มเจ้าของธุรกิจ นักลงทุนที่กล้าได้กล้าเสีย ต้องการโอกาสรับผลตอบแทนที่สูง และรับความเสี่ยงในระดับสูงได้ กองทุนนี้จะลงทุนในตราสารหนี้ หุ้น หน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ ตลอดจนการลงทุนในกลุ่ม Commodity

ขณะที่บลจ.กสิกรไทย ก็มีกองทุนที่ใช้จุดเด่นเรื่องอายุ 4 กองทุนคือ กองทุนเปิดเค ไลฟ์สไตล์ 2500 จะลงทุนในตราสารแห่งทุนไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และอาจลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 25 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยจะจัดสัดส่วนการลงทุนให้มีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับช่วงอายุหรือความสามารถในการรับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ลงทุนเป้าหมายของกองทุน โดยกองทุนมุ่งจะปรับสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้และตราสารทางการเงินให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2500 หรือก่อนหน้า ทั้งนี้ กองทุนอาจจะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (Efficient Portfolio Management) และตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

กองทุนเปิดเค ไลฟ์สไตล์ 2510 ลงทุนในตราสารแห่งทุนไม่เกินร้อยละ 30 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และอาจลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 25 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยจะจัดสัดส่วนการลงทุนให้มีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับช่วงอายุหรือความสามารถในการรับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ลงทุนหลักของกองทุน โดยกองทุนมุ่งจะปรับสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้และตราสารทางการเงินให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2510 หรือก่อนหน้า ทั้งนี้ กองทุนอาจจะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (Efficient Portfolio Management) และตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

กองทุนเปิดเค ไลฟ์สไตล์ 2520 เป็นกองทุนผสมแบบกำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุนไม่เกินร้อยละ 45 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และอาจลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 25 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยจะจัดสัดส่วนการลงทุนให้มีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับช่วงอายุหรือความสามารถในการรับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ลงทุนหลักของกองทุน โดยกองทุนมุ่งจะปรับสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้และตราสารทางการเงินให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2520 หรือก่อนหน้า ทั้งนี้ กองทุนอาจจะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (Efficient Portfolio Management) และตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

กองทุนเปิด เค ไลฟ์สไตล์ 2530 จะเป็นกองทุนผสมแบบกำหนดสัดส่วนในตราสารทุน โดยจะลงทุนในตราสารแห่งทุนไม่เกินร้อยละ 55 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และอาจลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 25 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยจะจัดสัดส่วนการลงทุนให้มีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับช่วงอายุหรือความสามารถในการรับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ลงทุนหลักของกองทุน โดยกองทุนมุ่งจะปรับสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้และตราสารทางการเงินให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2530 หรือก่อนหน้า ทั้งนี้ กองทุนอาจจะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (Efficient Portfolio Management) และตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

ล่าสุดบลจ.ไอเอ็นจี ก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เหมาะสมกับช่วงอายุ ส่งกองทุนในรูปเเบบดังกล่าวอีก 3 กองทุนนั้นคือ กองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย ไลฟ์ไซเคิล 2025 จะมีอายุโครงการ 16 ปี 8 เดือน แต่มีสภาพคล่องด้วยการเปิดให้ซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มีอายุ 40-45 ปี และคาดว่าอยากจะเกษียณอายุในวัยประมาณ 60 ปี คือ ในปี 2023-2028 ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยังอยู่ในวัยทำงานที่แสวงหาทั้งความมั่นคงในหน้าที่การงาน และความ มั่งคั่งให้กับตนเอง การแสวงหาผลตอบแทนที่ดีพร้อมกับการยอมรับความเสี่ยงจึงยังมีได้มาก ดังนั้น สัดส่วนการลงทุนจะเน้นการลงทุนในตราสารทุนในช่วงปีแรกไม่เกินกว่า 55% แต่ในปีใกล้สิ้นอายุของกองทุน ตราสารในพอร์ตการลงทุนจะมีการเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้นจนกลายเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งหมดในวันสิ้นอายุกองทุน เพื่อลดความเสี่ยงในตลอดช่วงอายุการลงทุน

ขณะที่กองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย ไลฟ์ไซเคิล 2020 จะมีอายุโครงการ 11 ปี 8 เดือน เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มีอายุ 45-50 ปี โดยคาดว่าจะเกษียณที่อายุประมาณ 60 ปี ในปี 2018-2023 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสม่ำเสมอของรายได้และ รับความเสี่ยงได้น้อยลง ดังนั้น จึงให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น โดยจะลงทุนในตราสารทุนในช่วงปีแรกไม่เกินกว่า 45%

ส่วนกองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย ไลฟ์ไซเคิล 2015 อายุโครงการ 6 ปี 8 เดือน เป็นกองทุนที่เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีอายุ 50-55 ปี ซึ่งคาดว่าจะเกษียณที่อายุประมาณในปี 2013-2023 ดังนั้น การจัดสรรการลงทุนจะเน้นความปลอดภัยมากกว่าผลตอบแทนที่สูง เพื่อเตรียมเงินทุนไว้รองรับการใช้จ่ายในยามเกษียณแล้ว โดยในช่วงปีแรกจะลงทุนในตราสารทุนไม่เกินกว่า 30% และจะกลายเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นในที่สุด

ที่มา-สมาคมบริษัทจัดการลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น