xs
xsm
sm
md
lg

ไอเอ็นจี ไทย เเคช เเมเนจเม้นท์ ทิศทาง:เสี่ยงน้อย-ผลตอบแทนสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตอนนี้กองทุนมันนี่มาร์เก็ต หรือ กองทุนรวมตลาดเงินดูจะได้รับความนิยมจากนักลงทุนค่อนข้างมาก หลังจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลง ในขณะเดียวกันความเสี่ยงของหุ้นก็ยังมีอยู่มากทำให้นักลงทุนหลายคนโยกเงินกลับเข้ามาพักไว้ที่กองทุนรวมตลาดเงินเเทน วันนี้ทีมงานจะพาท่านไปเปิดพอร์ตกองทุนมันนี่มาร์เก็ตของบลจ.ไอเอ็นจี นั้นคือ....

**กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย แคช แมเนจเม้นท์ หรือ ING Thai Cash Management Fund (ING TCMF) **ภายใต้การบริหารจัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัดเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ซึ่งมีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Specific Fund) โดยเข้าจดทะเบียนกองทุนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2543 ด้วยเงินทุนโครงการ 15,000 ล้านบาท และเงินทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวเหมาะกับเงินลงทุนส่วนที่ยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับต่ำถึงปานกลาง โดยผลตอบแทนที่กองทุนจะได้รับจากการลงทุนส่วนใหญ่ คือ ดอกเบี้ย และกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (ตราสารหนี้) โดยกองทุนจะนำเงินไปลงทุนในตราสารแห่งหนี้ และ/หรือ เงินฝาก ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชน ระยะสั้น ที่มีความมั่นคง และมีสภาพคล่องสูงเป็นหลัก

นอกจากนี้ กองทุนอาจเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) ที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยง (hedging) ทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) หรือ Credit Linked Note

โดยผู้ที่เข้ามาลงทุนมีโอกาสที่จะได้รับกำไรจากมูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากดอกเบี้ยรับหรือส่วนต่างของราคาของตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนไว้ นอกจากนี้กองทุนมีนโยบายที่จะไม่จ่ายเงินปันผล แต่ผู้ลงทุนจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนในรูปของกำไรจากมูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น

ส่วนผลกระทบของกองทุนนั้นอาจจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของราคาของตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนการได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ภาวะตลาด อัตราดอกเบี้ย ความผันผวนของค่าเงิน มีผลให้ราคาตราสารมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ เช่น ราคาของตราสารหนี้ จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ยดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น จะมีผลให้ตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนจะมีมูลค่าลดลง เป็นต้น รวมถึง ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ซึ่งความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ออกตราสารดังกล่าว จะบ่งบอกถึงถึงศักยภาพ และความเข้มแข็งขององค์กรธุรกิจนั้นๆ ซึ่งจะมีผลถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร และการขาดสภาพคล่องของตราสารที่กองทุนถืออยู่นั้นขาดสภาพคล่อง โดยการซื้อขายเปลี่ยนมือของตราสารมีจำนวนครั้งและปริมาณน้อย อาจทำให้กองทุนไม่สามารถขายตราสารในช่วงเวลาและราคาที่ต้องการได้

นอกจากนี้ กองทุนจะใช้ตัวชี้วัด(benchmark) ที่ใช้เปรียบเทียบกับผลประกอบการของกองทุน จะใช้ตามดัชนีเปรียบเทียบของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน สำหรับกองทุนตราสารหนี้ คือ 50% TBDC Government Bond Index + 50% เงินฝากประจำ 1 ปี เฉลี่ยของ 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารไทยพาณิชย์, และธนาคารกสิกรไทย

สำหรับผลตอบเเทนย้อนหลัง 3 เดือนของกองทุนอยู่ที่ 2.25% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน โดยเฉลี่ย 3 ธนาคารถึง 0.62% ซึ่งเกณฑ์มาตราฐานอยู่ที่ 1.63% ขณะที่ผลตอบเเทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 2.69% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 0.55% เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 2.14% ส่วนผลตอบเเทนย้อนหลัง 9 เดือนอยู่ที่ 2.77% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 0.46% ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 2.31% ส่วนการลงทุนเเบ่งตามประเภทของตราสารนั้นกองทุนจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและที่มีรัฐบาลค้ำประกัน 53.64% เเละเงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน ของหรือรับรอง รับอาวัลโดยสถาบันการเงิน 46.27%

**ต่อ อินทรวิวัฒน์ **ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด กองทุนรวม บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จุดเด่นของกองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย เเคช เเมเนจเม้น อยู่ที่ผลตอบเเทน เเละสภาพคล่อง ซึ่งกองทุนดังกล่าวให้ผลตอบเเทนเฉลี่ย 2% เเน่นอนว่าผลตอบเเทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ขณะที่โครงสร้างพอร์ตของกองทุนก็มีความปลอดภัยจากความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครดิตเรตติ้ง พร้อมทั้งอายุของตราสารที่เลือกลงทุนทำให้กองทุนไอเอ็นจี ไทย เเคช เเมเนจเม้น ไมได้รับผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ซึ่งก่อนหน้านี้กองทุนเคยมีตราสารหนี้เอกชนอยู่ในพอร์ตประมาณ 30-40% เเต่เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาทางผู้จัดการกองทุนได้ปรับพอร์ตมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเเทนเพื่อเป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น